Grid Brief

  • สินค้าต่าง ๆ ในยุคนี้ไม่ได้มีข้อมูลแค่วัสดุหรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต วิธีการใช้ หรือข้อควรระวังเท่านั้น
  • ผู้บริโภคควรมองหาตราสัญลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่แสดงถึงมาตรฐานการผลิตที่มีการลดหรือชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
  • เป็นความสมัครใจที่บริษัทต่าง ๆ จะส่งผลิตภัณฑ์หรือข้อมูลการผลิตให้องค์กรผู้ออกตรารับรองได้ตรวจสอบ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ตระหนักถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

แบรนด์ต่าง ๆในปัจจุบันพยายามปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิตและการทำงานเพื่อให้ได้มาซึ่งฉลาก ตราประทับ หรือสัญลักษณ์รับรองต่าง ๆ เพื่อระบุว่าผลิตภัณฑ์และบริการนั้นมีความยั่งยืน ซึ่งหมายความว่าแบรนด์นั้นยังดีต่อโลกและดีต่อ ‘เรา’ 

ผู้บริโภคยุคนี้จึงควรอ่านฉลากสินค้าต่าง ๆ ให้เหมือนกับการอ่านฉลากอาหาร เพราะการตัดสินใจซื้อขายในวันนี้ไม่ใช่แค่จับจ่ายเพื่อได้สินค้าและบริการที่ต้องการเท่านั้น แต่ยังมาพร้อมภาระผูกพันด้านสิ่งแวดล้อม 

เพื่อให้มั่นใจว่าคุณไม่ได้โดน ‘ฟอกเขียว’ หรือ Green Washing ซึ่งก็คือการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสินค้าหรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคมด้วยการรักษาสิ่งแวดล้อม แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ได้ทำแบบนั้น เพียงแต่เป็นกลยุทธ์การทำการตลาดด้วยการอ้างว่ายั่งยืน (Sustainability) 

ฉะนั้น ลองมองหาตราสัญลักษณ์ด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้บนป้ายยี่ห้อ ฉลากสินค้า หรือในเว็บไซต์ของแบรนด์ต่าง ๆ ประกอบการพิจารณาก่อนซื้อ อาทิ 

Credit: Koawach
  • Fair Trade™ สินค้าและบริการของแบรนด์นั้น ๆ สนับสนุนคุณภาพชีวิตและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีขึ้นของคนทำงานและจ่ายค่าแรงอย่างเป็นธรรม เช่น โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าที่ได้มาตรฐาน Fair Trade™ จ่ายค่าแรงช่างเย็บผ้ามากกว่าโรงงานทั่วไป 20 เปอร์เซ็นต์ เป็นต้น 
  • FSC™ มาตรฐานสูงสุดของการจัดการป่าไม้ ซึ่งจะออกให้โดยองค์การจัดการด้านป่าไม้ (Forest Stewardship Council) องค์กรอิสระระดับโลกจากการรวมตัวของหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ตราสัญลักษณ์แสดงถึงมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างมีความรับผิดชอบ มีการปลูกทดแทน และการจัดการป่าไม้ทั้งระบบ ตั้งแต่กระบวนการจัดหาวัตถุดิบจนถึงมือผู้บริโภค สามารถมองหาตราสัญลักษณ์นี้ได้จากบรรจุภัณฑ์ที่ใช้กระดาษ  
  • GRS ย่อมาจาก Global Recycled Standard คือมาตรฐานสากลที่ได้รับการรับรองจากองค์กรด้านสิ่งทอในต่างประเทศที่บ่งบอกว่า สินค้าจากบริษัทนั้น ๆ ผลิตจากการรีไซเคิลที่ยั่งยืน มีการใช้วัตถุดิบรีไซเคิล ได้มาตรฐานด้านรีไซเคิล และไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
  • B Corp หรือคำเต็มว่า B Corporation เป็นการรับรองมาตรฐานการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงมิติทางสังคมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน 
  • Climate Neutral Certifiedตราประทับรับรองว่า แบรนด์นั้น ๆ มีการลดและชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ เช่น Mara Hoffman แบรนด์แฟชั่นสายกรีนที่เพิ่งได้ตรานี้มาจากการซื้อคาร์บอนเครดิต 2 แห่ง ได้แก่ โครงการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม Guyuan Wuhuaping ในประเทศจีน และโครงการ Agrocortex Redd ซึ่งใช้ที่ดินเอกชนเป็นแนวต้านการตัดไม้ทำลายป่าในป่าแอมะซอน เป็นต้น 
  • Energy Star สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency) และกระทรวงพลังงานแห่งสหรัฐอเมริกา จัดทำโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพด้านพลังงานของสินค้า เพื่อช่วยระบุว่าผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ช่วยประหยัดพลังงานได้ในระดับใด ยิ่งได้ดาวมากแสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้น  ยิ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแก่ผู้บริโภคและช่วยประหยัดทรัพยากรในการผลิตพลังงาน  
  • Cradle to Cradle Certified™ ตรารับรองด้านการใช้วัสดุในการออกแบบสินค้าและการประหยัดพลังงาน ทรัพยากร เช่น น้ำ หรือการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งเป็นผลให้เกิดความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อม
  • bluesign® มาตรฐานอุตสาหกรรมที่กำหนดเพื่อสร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย และความปลอดภัย เพื่อช่วยในการพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอให้มีความแข็งแกร่งและมีความรับผิดชอบ ซึ่งปัจจุบัน Wolford แบรนด์ถุงน่องอายุกว่า 70 ปีจากออสเตรียเป็นบริษัทเดียวในโลกที่ได้ทั้ง Cradle to Cradle Certified™ ระดับทอง และตรา bluesign® 

Cover Photography: Packhelp