Grid Brief

  • เริ่มจากปรับแนวคิดและลงมือทำทันที ทั้งสร้างวินัยการออม ลดก่อหนี้ และเพิ่มรายได้
  • สิ่งสำคัญคือการกล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเอง และอย่าพลาดโอกาสในการศึกษาการลงทุน เพื่อต่อยอดให้เงินทำงาน

เงินเก็บ 1 ล้านบาทแรกเป็นความฝันของใครหลายๆ คน เพราะเงินก้อนนี้อาจช่วยสร้างความมั่นใจ ความอุ่นใจ ให้ชีวิตตัวเองและคนในครอบครัวได้ ซึ่งวิธีการที่จะนำพาไปสู่จุดหมายก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะการเริ่มต้นวางแผนทางการเงินอย่างถูกต้อง คือก้าวแรกของอนาคตทางการเงินที่สดใส เปรียบได้กับการติดกระดุม หากติดถูกตั้งแต่เม็ดแรกเสื้อผ้าก็จะไม่ยุ่งเหยิง และไม่ต้องตามกลับมาแก้ให้วุ่นวาย ส่วนจะมีวิธีไหนบ้าง ไปดูกันเลย

ปรับมายด์เซ็ตเพื่อตั้งเป้าหมาย

เริ่มด้วยการปรับชุดความคิด (Mindset) ให้แน่วแน่ว่าจะต้องเก็บเงิน 1 ล้านบาทแรกให้ได้ จากนั้นจึงกำหนดระยะเวลาให้ชัดเจนว่าจะต้องทำสำเร็จให้ได้ภายในกี่ปี เพื่อให้การเดินไปสู่เป้าหมายมีทิศทางที่ชัดเจน โดยยึดตามบริบทของตัวเองเป็นหลัก หากยิ่งกำหนดกรอบเวลาให้สั้น ก็จะยิ่งสร้างแรงจูงใจและขับเคลื่อนให้ตัวเองกล้าคิดกล้าทำมากขึ้น แต่ควรหาจุดสมดุลให้ดี ไม่เช่นนั้นอาจกลายเป็นการกดดันตัวเองมากเกินไป ทั้งนี้ แนะนำว่าระยะเวลาควรอยู่ที่ประมาณ 5-10 ปี 

งลิขิตชีวิตให้ตัวเอง

การก่นบ่นโทษโชคชะตาไม่ช่วยทำให้อะไรดีขึ้นได้ เพราะเป็นสิ่งที่เหนือการควบคุมและไม่มีผู้ใดกำหนดได้ ฉะนั้น ลองเริ่มต้นใหม่ด้วยใจที่มุ่งมั่นและการกระทำที่จริงจัง สิ่งสำคัญแรกคือต้องกล้าออกจากพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองก่อน แล้วสำรวจว่ามีเส้นทางใหม่ๆ ให้ชีวิตแล้วหรือยัง โดยค้นให้เจอว่าตัวเองเชี่ยวชาญหรือชำนาญด้านใด แล้วหาวิธีเพิ่มรายได้จากความสามารถนั้นในช่วงที่มีเวลาว่างอยู่ เช่น หลังเลิกงาน หรือช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ แม้รายได้ส่วนนี้ที่เพิ่มเติมเข้ามาอาจเป็นเงินจำนวนน้อย แต่คุณอาจได้คอนเน็กชันที่ทำให้ก้าวไปสู่งานใหญ่ต่อไปในอนาคตก็เป็นได้


รู้จักออมและลดก่อหนี้

การเก็บออมและการลดการสร้างหนี้เป็นสิ่งที่ควรทำควบคู่กัน เริ่มด้วยการรู้จักเก็บออม จากเดิมที่เคยกันเงิน 10% ของเงินเดือนไว้เป็นเงินออม ก็ลองปรับสูตรเป็นการหักตามที่มาของรายได้ต่อครั้ง หรือรายได้เฉลี่ยต่อวันตามแต่ที่คุณจะสะดวก เพื่อฝึกฝนและสร้างนิสัยการออมก่อนใช้เสมอ จะช่วยให้คุณไม่ใช้จ่ายเกินตัว ยิ่งในกรณีที่ได้เงินพิเศษมา เช่น เงินล่วงเวลา โบนัส ค่าคอมมิชชั่น หรือเบี้ยขยัน ลองสลับสัดส่วนเงินออมจาก 10% เป็น 80-90% แทน เพราะนี่คือเงินพิเศษที่เข้ามา หมายความว่า ตามปกติเงินส่วนนี้จะไม่ได้อยู่ในการใช้จ่ายของคุณอยู่แล้ว ฉะนั้น หากคุณเก็บออมเงินส่วนนี้ได้เยอะ ก็จะยิ่งทำให้เงินที่เก็บไว้เข้าใกล้เงินล้านยิ่งขึ้นไปอีก และผลพลอยได้ของการรู้จักเก็บออม ก็คือการใช้น้อยลง เท่ากับเป็นการลดการก่อหนี้สินไปในตัวด้วย

ให้เงินทำงาน

การลงทุนอาจไม่ใช่คำตอบในการก้าวไปสู่เงินล้านสำหรับทุกคนเสมอไป เพราะแต่ละคนมีทักษะในการหาเงินแตกต่างกัน เช่น บางคนอาจนำเงินออมไปซื้ออุปกรณ์ หรือสร้างงานอดิเรกมาเสริมรายได้ ซึ่งอาจมีรายได้มากกว่าการลงทุน เพราะใช้ระยะเวลาที่สั้นกว่าก็ได้ ทว่า คุณไม่ควรปฏิเสธเรียนรู้การลงทุนที่ให้เงินทำงานแทนเรา เพื่อเป็นทางสำรองในการหารายได้ ยิ่งในสถานการณ์ที่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา การมีทางเลือกให้ตัวเองมากเท่าไหร่ยิ่งดี และอย่างที่มักได้ยินกันเสมอว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน” แต่หากไม่รู้จะเริ่มศึกษาจากตรงไหน ลองย้อนดูผลตอบแทนจากการลงทุน 10 ปีย้อนหลัง (พ.ศ.2553-2562) ของการลงทุนแต่ละแบบเพื่อหาจุดเริ่มต้นในการศึกษาเรื่องการลงทุนของคุณก็ได้ เช่น หุ้นไทย ให้ผลตอบแทน 9.4% พันธบัตร 5.48% หุ้นกู้ 4.55% ทองคำ 4.55% เงินฝากประจำ 1 ปี 1.9% 


สปริงบอร์ดสู่ล้านที่ 2 

แม้การก้าวสู่ล้านบาทแรกในชีวิตอาจต้องใช้เวลานานหลายปี แต่เชื่อเถอะว่าการไปสู่ล้านที่ 2 นั้นจะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณอีกต่อไป นั่นเพราะช่วงเวลานั้นคุณได้ปรับแนวคิด หล่อหลอมพฤติกรรม สร้างวินัยการใช้ชีวิตและการเงินมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี ที่สำคัญเมื่อคุณเห็นดอกผลชัดเจน ย่อมเกิดความมั่นใจ ภูมิใจ เป็นแรงบันดาลใจให้มุ่งมั่นลงมือทำต่อไป ดังนั้น ล้านบาทแรกในชีวิตจะเป็นสปริงบอร์ดให้คุณไปสู่เงินล้านที่ 2 ด้วยเวลาที่สั้นลงและวิธีการที่ง่ายขึ้น ขอเพียงไม่ท้อถอดใจไปก่อนเป็นพอ