Grid Brief

  • การรีไฟแนนซ์เป็นประโยชน์สำหรับผู้เป็นหนี้บ้าน รถยนต์ และบัตรเครดิต เพราะช่วยให้เสียดอกเบี้ยลดลง
  • ควรศึกษาข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบเงื่อนไขต่างๆ ให้ชัดเจนก่อนตัดสินใจ ไม่เช่นนั้นอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายดำเนินการมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่จะลดลงก็เป็นได้

หากคุณเป็นหนี้ หน้าที่ก็คือการชำระหนี้ ซึ่งเรามีวิธีการบริหารหนี้ที่ช่วยให้ยอดดอกเบี้ยลดลงได้  ด้วยการ ‘รีไฟแนนซ์’ ที่ยังเป็นการช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วย หนี้สินที่คุณรีไฟแนนซ์ได้มีอะไรบ้าง แล้วต้องเตรียมตัวอย่างไร ลองมาทำความเข้าใจกัน

1.เข้าใจ คำว่า ‘รีไฟแนนซ์’ 

อธิบายสั้น ๆ แบบกระชับให้เข้าใจง่าย ๆ รีไฟแนนซ์ คือการหาสินเชื่อใหม่มาโปะหนี้สินเดิม เพื่อให้จ่ายดอกเบี้ยลดลง ด้วยการเปลี่ยนไปทำสัญญาใหม่กับเจ้าหนี้ ซึ่งจะเป็นเจ้าหนี้รายเดิมหรือรายใหม่ก็ได้ โดยมีเงื่อนไขทั้งระยะเวลา และข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ระบุและกำหนดไว้ชัดเจน


2.สิ่งที่รีไฟแนนซ์ได้

หนี้สินที่สามารถนำมารีไฟแนนซ์ได้มี 3 ประเภท  คือ บ้าน รถยนต์/รถจักรยานยนต์ และบัตรเครดิต 

  • บ้าน  สัญญาส่วนใหญ่ระบุชัดเจนว่า จะสามารถเปลี่ยนสัญญาเพื่อปรับอัตราดอกเบี้ยใหม่ได้ ต่อเมื่อมีการผ่อนบ้านต่อเนื่องมาแล้วครบ 3 ปี โดยมักให้ดอกเบี้ยอัตราคงที่ไว้ก่อนในการผ่อนระยะแรก จากนั้นจะเริ่มปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งปกติการรีไฟแนนซ์สามารถประหยัดดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านได้ถึง 1-2% ต่อปี ฉะนั้น สิ่งที่ลูกหนี้ควรทำคือติดต่อเจ้าหนี้เดิมหรือสถาบันการเงินอื่นไว้ล่วงหน้าก่อนที่อัตราดอกเบี้ยคงที่จะครบ 3 ปี ทั้งนี้ ส่วนมากเจ้าหนี้เดิมมักเตรียมโปรโมชั่นเพื่อมาเสนอให้ยังคงเป็นลูกหนี้ต่อไป ขณะที่สถาบันการเงินอื่นก็พยายามนำเสนอทางเลือกให้ สำหรับการรีไฟแนนซ์จะใช้เวลาการพิจารณารอการอนุมัติประมาณ 2-4 สัปดาห์ เช่นเดียวกับตอนยื่นเรื่องขอกู้เงินในตอนแรก
  • รถยนต์/จักรยานยนต์  ไม่มีเงื่อนไขเวลากำหนดเหมือนอย่างบ้าน หากมีเงินก้อนก็สามารถมาโปะเพื่อปิดหนี้ให้เร็วขึ้นได้ หรือในช่วงเศรษฐกิจไม่ดี ก็อาจต้องยอมรีไฟแนนซ์เพื่อขยายเวลาการผ่อนให้นานขึ้น  สำหรับขั้นตอนการขออนุมัติการรีไฟแนนซ์รถยนต์/จักรยานยนต์นั้นใช้เวลาพิจารณาไม่นาน เพราะมีเงื่อนไขกำหนดชัดเจนถึงอายุการใช้งานและราคาในตลาดรถของรถยนต์/จักรยานยนต์ในรุ่นนั้น ๆ เจ้าของรถต้องทำใจไว้ก่อนว่า ราคารถยนต์/จักรยานยนต์นั้นมีแต่จะลดลง นับตั้งแต่วันแรกที่ซื้อ ซึ่งบริษัทรับรีไฟแนนซ์มักอนุมัติวงเงินพียงประมาณ 80–90% ของราคาประเมินเท่านั้น และไม่ได้รับรีไฟแนนซ์ให้รถทุกคัน ส่วนใหญ่ต้องเป็นรถที่เป็นรถบ้าน (รถที่ไม่ได้นำไปให้บริการเป็นรถรับจ้าง) และมีอายุการใช้งานที่ไม่มากเกินไป (ไม่ควรเกิน 15-20 ปี) 
  • บัตรเครดิต/สินเชื่อส่วนบุคคล ถือเป็นวิธีการบริหารจัดการหนี้ให้เป็นระเบียบไปด้วยในตัว เพราะเป็นการรวมยอดบัตรเครดิตทุกใบของคุณให้เป็นหนี้ก้อนเดียวกัน แล้วไปขอสินเชื่อใหม่เพื่อชำระหนี้ที่ค้างอยู่ทั้งหมด โดยสามารถเจรจากับเจ้าหนี้เดิมหรือเจ้าหนี้ใหม่ได้ทั้งนั้น แต่เดิมเจ้าหนี้จะกำหนดเงื่อนไขชัดเจนว่าจะต้องปิดบัตรเครดิต แต่ปัจจุบันเงื่อนไขการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตได้เริ่มเปลี่ยนมาเป็นการออกสินเชื่อส่วนบุคคลแทน โดยไม่บังคับว่าต้องปิดบัตรเครดิต ซึ่งจะออกสินเชื่อใหม่ให้โดยจำกัดวงเงินสินเชื่อให้ตามฐานรายได้ของลูกหนี้เป็นหลัก ดังนั้น จึงควรตรวจสอบกับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง หาที่ที่ให้ส่วนต่างดอกเบี้ยคุ้มค่าที่สุด ทั้งนี้ การขอสินเชื่อควรเผื่อจำนวนเงินให้มากกว่าหนี้สินที่มีอยู่ เนื่องจากบางครั้งสถาบันการเงินอาจพิจารณาให้สินเชื่อไม่เต็มจำนวนตามที่ยื่นขอไป และหากได้สินเชื่อมาแล้วควรรีบนำไปปิดบัตรเครดิตใบที่มีดอกเบี้ยแพงที่สุดก่อน 

3.เปรียบเทียบให้ชัดก่อนตัดสินใจ

ไม่ว่าจะรีไฟแนนซ์หนี้สินประเภทใด สิ่งแรกที่ควรทำคือการศึกษารายละเอียดเงื่อนไขของสัญญาให้ชัดเจนว่าสามารถรีไฟแนนซ์ได้เมื่อไร และจำไว้ว่าการจะรีไฟแนนซ์ อัตราดอกเบี้ยใหม่ต้องต่ำกว่าที่ชำระอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงจำนวนเงินที่ต้องชำระต่องวดต้องลดลงด้วย หรือมีระยะเวลาผ่อนชำระที่นานขึ้น เพื่อช่วยลดการจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละเดือนลง นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาอีกด้วยว่า การรีไฟแนนซ์ที่ช่วยให้คุณประหยัดดอกเบี้ยลง แต่หากเทียบกับค่าใช้จ่าย ค่าเสียเวลา หรือค่าธรรมเนียม เช่น ค่าจดจำนองหลักประกัน ค่าใช้จ่ายในการประเมินมูลค่าหลักประกัน ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำประกัน ค่าปรับให้แก่เจ้าหนี้เดิมในกรณีที่ยุติการกู้ก่อนระยะเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา ก็จะเป็นการรีไฟแนนซ์ที่ได้ไม่คุ้มเสีย ดังนั้น ก่อนการตัดสินใจรีไฟแนนซ์ควรยื่นเอกสารต่อสถาบันการเงินหลายแห่งเพื่อเปรียบเทียบ แล้วค่อยตัดสินใจจาก 3 สถาบันการเงินที่ให้วงเงินที่สูงสุด


4.เตรียมเอกสารและดำเนินการ

เอกสารสำคัญหลัก ๆ ที่ใช้ประกอบการยื่นรีไฟแนนซ์ มี 3 ประเภท คือ 1.เอกสารแสดงข้อมูลส่วนบุคคล เช่น บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน 2.เอกสารแสดงรายได้ เช่น สลิปเงินเดือน สำเนาเดินบัญชีธนาคารย้อนหลัง และ 3.เอกสารด้านหลักประกัน เช่น โฉนดที่ดิน สัญญาเงินกู้ธนาคารเดิม ทั้งนี้ การรีไฟแนนซ์บ้านจะมีขั้นตอนการดำเนินการที่มากกว่าการรีไฟแนนซ์อื่น โดยประกอบด้วย การเตรียมเอกสาร การยื่นขอรีไฟแนนซ์กับสถาบันการเงินแห่งใหม่ แจ้งปิดบัญชีกับสถาบันการเงินเดิม นัดวันไถ่ถอนกับสถาบันการเงินทั้งสอง และไปจดจำนอง ณ กรมที่ดิน

Cover Illustration โดย Pattanaphoom P.