Grid Brief

  • การลงทุนมีความเสี่ยงตั้งแต่คิดจะเริ่ม วันนี้เราจึงมาแชร์ 8 ข้อที่นักลงทุนควรรู้ เพื่อการตัดสินใจอย่างชาญฉลาดและรอบคอบที่สุด
  • การลงทุนก็เหมือนกับการทำธุรกิจ ใครทันเทรนด์ มองเกมออก ย่อมได้เปรียบ

ต้องยอมรับว่า “เงิน” เปรียบเหมือนสะพานที่นำไปสู่ความสะดวกสบาย และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของตัวเราเองและครอบครัว แต่ยุคนี้การมีรายได้จากการทำงานเพียงทางเดียว ดูจะเป็นความเสี่ยงมากกว่า ฉะนั้น  การลงทุนจึงเป็นทางออกที่ทำให้เงินที่มีงอกเงยขึ้น แต่อย่างที่ทราบว่า “การลงทุนมีความเสี่ยง” ฉะนั้น หากต้องเสี่ยงก็ต้องรู้จักเลือกการลงทุนอย่างชาญฉลาดและรอบคอบเป็นดีที่สุด

1. ไตร่ตรองและตรวจตราก่อนสตาร์ต 

เริ่มศึกษาค้นคว้าข้อมูลทั่วสารทิศ ทั้งจากเว็บไซต์ เพจกูรูที่น่าเชื่อถือ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนนั้น ๆ เพื่อติดอาวุธทางความรู้ให้ตัวเองก่อนว่า การลงทุนประเภทใดน่าจะเหมาะสมกับเรา ขณะเดียวกันตรวจสุขภาพทางการเงินไปด้วยว่า มีเงินเพียงพอหรือไม่ โดยห้ามนำเงินเก็บฉุกเฉินหรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นมาลงทุนเด็ดขาด ฉะนั้น ถ้าใครยังไม่พร้อมก็ต้องยอมแตะเบรกไว้ก่อน

2. ความเสี่ยงเกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มลงทุน

ถ้าใจไม่กล้าหรือไม่มีความรู้ก็อย่าเพิ่งด่วนรีบมาลงทุน เพราะเมื่อเข้าสนามการลงทุนจริงแล้ว ต้องยอมรับผลที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย จึงต้องคิดวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของตัวเองให้ดีว่า จังหวะคือโอกาสที่ต้องรีบคว้าไว้ หรือช่วงเวลาไหนที่ควรรอให้พร้อมเสียก่อน ถ้าเลือกได้ถูกจังหวะเวลาแล้วล่ะก็ คุณก็จะได้ชื่นชมผลตอบแทนจากการลงทุนที่ทำให้หัวใจชุ่มชื่นขึ้น


3. จัดระบบความคิด

ผู้ที่ไปได้ดีกับการลงทุนส่วนใหญ่ มีการเรียนรู้จากบทเรียนที่เคยผิดพลาดมาในอดีต แล้วนำมาปรับใช้กับการลงทุนในปัจจุบันของตัวเอง ทว่า การคิดเยอะกับการคิดเป็นนั้นแตกต่างกัน ดังนั้น ต้องจัดระบบความคิดให้ดี โดยยึดหลักง่าย ๆ ที่สำคัญคือ ในการลงทุนนั้นอย่าพยายามทำให้เงินต้นเสียไปเด็ดขาด เพราะถ้ารู้สึกว่าจะเสียเงินต้น ก็ต้องกล้าตัดสินใจที่จะหยุดการขาดทุนนั้นให้ได้เร็วที่สุด


4. รู้จักจังหวะเวลาที่เหมาะสม

ในการลงทุนบางสถานการณ์​ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤตที่คนกำลังตกใจหรือตื่นกลัว  หากเรามีการเตรียมพร้อมอยู่เสมอ การตัดสินใจที่สวนกระแส อาจถือเป็นความได้เปรียบของผู้ที่มีข้อมูล ทำการบ้าน และมีวิสัยทัศน์ ที่จะรู้จังหวะการลงทุนที่เหมาะสมกับสถานการณ์หรือความเคลื่อนไหวในตลาดช่วงนั้น คิดเสมอว่าจงสร้างวิธีการลงทุนในแบบของตัวเองให้ได้ ดีกว่ามัวตามแบบการลงทุนของผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างเดียว


5. อย่าเก็บการลงทุนไว้ในตะกร้าใบเดียว

ในเมื่อเราเองยังพยายามหาเงินจากหลายทาง การลงทุนก็เช่นกันที่ควรมีหลายสินทรัพย์ในพอร์ต ตั้งแต่เงินฝาก หุ้น กองทุนรวม สลากออมสิน หุ้นกู้ ทองคำ ซึ่งสัดส่วนการลงทุนนั้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล รวมถึงความชอบ ความถนัด และบริบทของแต่ละคน หรือแม้แต่คริปโตเคอเรนซี ที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เห็นว่าโลกการเงินเริ่มเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น ก็ควรเริ่มศึกษา แต่ถ้าคิดจะเริ่มลงทุน ก็ควรเริ่มด้วยจำนวนเงินที่ไม่มากก่อน เพราะความเสี่ยงสูง

6. ศาสตร์แห่งการลงทุน ต้องผสมผสาน IQ และ EQ 

การลงทุนที่รอบคอบต้องอาศัยทั้งความฉลาดทางด้านสติปัญญา (IQ) และความฉลาดทางด้านอารมณ์ (EQ) ผสมผสานกัน IQ คือ การคิดแบบมีเหตุผล หลังศึกษาข้อมูล รู้จักคิดวิเคราะห์ คำนวณ และการเชื่อมโยงโมเดลธุรกิจ สถานการณ์ที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ที่จะลงทุน หรือประเมินราคามูลค่าสินทรัพย์ที่จะลงทุนในแบบของตัวเองได้ แต่ EQ จะเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จ เพราะผู้ลงทุนต้องรู้จักควบคุมอารมณ์ ความกลัวและความโลภของตัวเองให้ดีว่า จังหวะไหนควรอดทนรอ อย่าใจร้อน หรือจังหวะไหนควรต้องรีบตัดสินใจ


7. มองเทรนด์อนาคตให้ออก

การลงทุนไม่ต่างกับการทำธุรกิจสักเท่าไรนัก เพราะถ้าใครมองเกมออกตั้งแต่แรกว่า อะไรคือเทรนด์ในอนาคตที่กำลังจะมา หรือหาจุดขายที่แตกต่างจากคนอื่นได้ นั่นคือความได้เปรียบ ทั้งนี้แม้คุณจะมีความสามารถดังกล่าว แต่หากยังไม่กล้าที่จะเริ่ม ความสำเร็จก็ไม่มีวันมาถึงคุณ 


8. รู้จักบริหารสิทธิ์จากการลงทุนด้วย

เป็นสิ่งสำคัญที่มีรายละเอียดเล็กน้อย ๆ ก่อนจะเริ่มและหลังการลงทุน เช่น สิทธิ์การรับข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทั้งก่อน-หลัง การตัดสินใจลงทุน สิทธิ์การรับเงินปันผลของบริษัทที่ลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้น หรือสิทธิ์ขอคืนเครดิตภาษีเงินปันผลจากกรมสรรพากร กรณีได้รับเงินปันผลจากการลงทุนหุ้นหรือกองทุนรวม เพราะเมื่อบริษัทมีกำไรสุทธิและปกติได้เสียภาษีนี้ไปแล้วในรูปของเงินได้นิติบุคคล แต่ผู้ลงทุนรายย่อยจะถูกหักไปอีก 10% จึงสามารถขอคืนได้ เป็นต้น

Cover Illustration โดย Pattanaphoom P.