ช่วงหน้าหนาวของทุกปี ราว ๆ ปลายเดือนธันวาคมไปจนถึงต้นเดือนมกราคม หนึ่งในดอกไม้สีหวานแห่ง “เหมันตฤดู” จะเบ่งบานอวดโฉมให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมกัน นั่นคือ “ดอกพญาเสือโคร่ง” (Wild Himalayan Cherry Tree) หลังจากที่ได้ทิ้งใบไปจนหมดต้นตั้งแต่ช่วงต้นเดือนธันวาคม ดอกไม้กลีบบางสีชมพูอ่อนก็จะบานสะพรั่ง ดูแล้วแทบไม่ต่างจากต้นซากุระของประเทศญี่ปุ่นเลยทีเดียว หลายคนจึงได้เรียกขานกันว่า “ซากุระเมืองไทย”

ท้องฟ้าในช่วงฤดูหนาวจะใสเป็นพิเศษ  ยิ่งถ้าถ่ายตามแสงแล้ว เราก็จะได้ฟ้าที่เป็นสีฟ้าเข้ม ส่งให้ดอกพญาเสือโคร่งโดดเด่นขึ้นไปอีก ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ 50 มิลลิเมตร รูรับแสง f/2.8 ให้ภาพในส่วนที่อยู่นอกโฟกัสเบลอกำลังดี

หากมาเชียงใหม่ เราจะสามารถชมดอกพญาเสือโคร่งได้หลายที่ เริ่มตั้งแต่ทางทิศใต้ของเมือง ที่ดอยอินทนนท์ จะมีจุดชมพญาเสือโคร่งที่ขึ้นชื่อ ประกอบด้วย พระตำหนักดอยผาตั้ง ศูนย์อนุรักษ์พันธุ์กล้วยไม้รองเท้านารีดอยอินทนนท์ และศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ (ขุนวาง) เข้ามาเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่ก็สามารถไปชมได้ที่ขุนช่างเคี่ยน แต่ที่ผู้เขียนโปรดปรานที่สุดคือ “สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง” ที่อยู่ทางทิศเหนือของเมืองเชียงใหม่ ใช้เวลาเดินทางประมาณสามชั่วโมง

กิ่งพญาเสือโคร่งภาพนี้ ถ่ายไว้หลายปีแล้ว ก่อนที่รีสอร์ทที่เป็นฉากหลังของภาพ จะถูกสั่งรื้อถอนออกไป ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ซูม 70-200 ที่ระยะประมาณ 110 มิลลิเมตร ตั้งรูรับแสงที่ f/16 แล้ว แต่ฉากหลังก็ยังเบลอมากเนื่องจากใช้เลนส์เทเล ยืนอยู่ใกล้กิ่งมาก และรีสอร์ทด้านหลังอยู่ห่างออกไปหลายร้อยเมตร

สถานีเกษตรหลวงอ่างขางเป็นสถานีวิจัยแห่งแรกของโครงการหลวง เริ่มดำเนินงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1,500 บาท ซื้อที่ดินในบริเวณดอยอ่างขางเป็นสถานีวิจัย ศึกษาทดลองพืชเขตหนาวชนิดต่าง ๆ เพื่อเป็นตัวอย่างแก่เกษตรกรชาวเขาในการนำพืชเหล่านี้มาเพาะปลูกเป็นอาชีพแทนการปลูกฝิ่น

ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ 50 มิลลิเมตร ที่รูรับแสง f/2 ทำให้ภาพที่ได้มีระยะชัดลึก (Depth of Field) ที่น้อยมาก ส่วนของภาพที่อยู่นอกโฟกัสจะเบลอมาก

กว่าครึ่งศตวรรษที่สถานีเกษตรหลวงอ่างขางได้ดำเนินการมาตามแนวพระราชดำริ นอกจากพี่น้องชาวไทยภูเขาที่ได้รับประโยชน์จากการขายผลผลิตพืชผักเมืองหนาวแล้ว นักท่องเที่ยวอย่างเรา ๆ ก็พลอยได้ชื่นชมทิวทัศน์อันงดงามของสถานีเกษตรหลวงอ่างขางไปด้วย

เส้นทางก่อนถึงสถานีเกษตรหลวงอ่างขางไม่กี่กิโลเมตร จะมีต้นพญาเสือโคร่งอยู่ริมถนนตลอดเส้นทาง ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ซูมมุมกว้าง 17-40 มิลลิเมตร ปรับไปที่กว้างสุด 17 มิลลิเมตร

เมื่อขับรถไต่ระดับความสูงไปถึงประมาณหนึ่งพันเมตรจากระดับน้ำทะเล เราจะเริ่มเห็นริ้วสีชมพูของดอกพญาเสือโคร่งแทรกอยู่กับสีเขียวของต้นสนสามใบและต้นไม้ใบหญ้าอื่น พอใกล้ถึง “โครงการหลวง” ก็จะมีต้นพญาเสือโคร่งสองข้างทางให้ชื่นชมกัน จอดรถหลบข้างทางเก็บภาพได้ พอเข้ามาใน “โครงการหลวง” บริเวณใกล้กับอาคารสโมสรอ่างขาง จะมีต้นพญาเสือโคร่งอีกหลายสิบต้น ถ้าสังเกตดี ๆ จะมีต้นที่เป็นสายพันธุ์ดอกสีขาวด้วย (หากผู้เขียนจำไม่ผิด จะมีอยู่หนึ่งต้นข้างอาคารผลผลิตฯ) นอกจากนั้นยังได้มีการนำต้นซากุระจากประเทศญี่ปุ่นมาปลูกด้วย ซึ่งดอกจะใหญ่กว่าและสีสันจะชมพูเข้มข้นกว่าพญาเสือโคร่งของเรา

ภาพดอกพญาเสือโคร่งสีขาวภาพนี้ ถ่ายด้วยเลนส์ซูม 70-200 มิลลิเมตร ซูมไปสุดที่ 200 มิลลิเมตร และใช้กล้อง APS-C ที่มีตัวคูณ 1.6 ทำให้มุมรับภาพไปอยู่ที่ 320 มิลลิเมตรบนกล้องฟูลเฟรม ซึ่งก็จะสามารถดึงภาพเข้ามาให้ใกล้ได้มากขึ้น
ภาพดอกบ๊วยสีสวยหวานภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ซูม 70-200 มิลลิเมตร ประกบกับกล้อง APS-C อีกเช่นกัน ทำให้ได้มุมรับภาพที่แคบขึ้น และช่วยให้ได้ฉากหลังที่เบลอมากขึ้น

นอกจากดอกพญาเสือโคร่งแล้ว ยังมีไม้ดอกไม้ประดับเมืองหนาวอีกมากมายหลายชนิดให้ได้ชมกัน รวมไปถึงแปลงปลูกบ๊วยยอดฮิตที่นักท่องเที่ยงต้องไปแวะชม รับรองว่าถ่ายภาพกันสนุกแน่นอน อาหารที่สโมสรอ่างขางก็อร่อยขึ้นชื่อ ไปถึงแล้วขอแนะนำให้ไปลองชิมให้ได้ข้อมูลสถานีเกษตรหลวงอ่างขาง: www.royalprojectthailand.com

เรื่องและภาพถ่ายโดย จุลล์ จูงวงศ์