ในงานศพ เรามักจะคุ้นเคยกับภาพปล่องไฟที่มีควันพวยพุ่งเป็นสาย ขณะกล่าวคำร่ำลาในใจว่า “ขอให้ไปสู่สุคติ” แต่อีกไม่นาน เราอาจต้องเปลี่ยนไปเห็นภาพท่อระบายน้ำ แล้วบอกลาสายน้ำที่ไหลออกมาจากท่อแทน เพราะงานฌาปนกิจแบบอีโค่ (Eco) นี้ ใช้น้ำเป็นพลังงานหลัก ทำให้การเผาผลาญ น้อยลงและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น   

วิกฤตโลกร้อนทำให้มนุษย์ต้องเปลี่ยนแปลงทุกกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่เว้นแม้แต่พิธีศพที่ถูกกดดันให้ ‘กรีน’ ขึ้นด้วย ซึ่งในสหรัฐอเมริกาและแคนาดามีผู้เรียกร้องขอให้มีการไปสู่สุคติแบบฌาปนกิจน้ำ โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า Alkaline Hydrolysis ในการย่อยสลายร่างกายของผู้วายชนม์

กระบวนการอัลคาไลน์ ไฮโดรไลซิส ได้รับการจดสิทธิบัตรครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2431 ที่ประเทศอังกฤษ เพื่อแช่ซากสัตว์ในสารละลายไล (lye) หรือสารละลายประเภทโซเดียมไฮดรอกไซด์ หรือโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งเมื่ออยู่ที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียสและความดัน 60 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว (PSI) จะย่อยสลายร่างกาย (ยกเว้นกระดูก) ให้เปื่อยยุ่ยจนกลายเป็นของเหลวได้ และเมื่อราว ๆ 2 ทศวรรษก่อน โรงพยาบาลบางแห่งในสหรัฐ เช่น Mayo Clinic ใช้เทคโนโลยีนี้จัดการกับศพของผู้บริจาคอวัยวะหรือบริจาคร่างกาย ซึ่งญาติสามารถนำกระดูกผู้ตายไปบดเป็นผง เก็บอัฐิไปประกอบพิธีกรรมต่อไปได้

ฝ่ายที่เรียกร้องให้การฌาปนกิจน้ำถูกกฎหมายให้เหตุผลว่า เป็นกระบวนการหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนได้ เนื่องจากการฌาปนกิจน้ำไม่ปล่อยอนุภาคที่เป็นพิษต่อสภาพอากาศ สิ้นเปลืองพลังงานน้อยกว่าการเผาศพ 10% และลดการผลิตก๊าซมีเทนจากการเผา ทั้งยังช่วยลดการใช้ไม้ที่นำมาทำโลงศพปีละ 30 ล้านตัน (ในสหรัฐ) ศพที่ย่อยสลายกลายเป็นของเหลวสามารถนำไปผ่านกระบวนการบำบัดน้ำ จึงไม่ถือเป็นการปล่อยน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังช่วยประหยัดพื้นที่ก่อสร้างสุสาน ซึ่งที่ดินในการสร้างสุสานเริ่มหาได้ยากขึ้น อย่างที่ประเทศอังกฤษกำลังประสบปัญหาอยู่ ทำให้ต้องใช้หลุมเดิมซ้ำสอง โดยฝังศพใหม่ให้ลึกกว่าเดิม 

ปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามี 19 รัฐที่การฌาปนกิจน้ำถูกกฎหมาย เช่น โอเรกอน มิสซูรี มินเนโซตา แคนซัส ฟลอริดาและแคลิฟอร์เนีย รวมถึงบางเมืองในแคนาดาด้วยเช่นกัน โดยองค์การอนามัยโลกประกาศว่าการฌาปนกิจน้ำไม่มีอันตรายต่อการสาธารณสุข แต่ก็ยังโดนต่อต้านในหลายประเทศและหลายรัฐ ซึ่งผู้ต่อต้านก็คือเจ้าของกิจการโลงศพและศาสนจักรนั่นเอง

Cover Illustration โดย ANMOM