eVolo นิตยสารแนวสถาปัตยกรรมและการออกแบบแห่งศตวรรษที่ 21 จัดการประกวดออกแบบตึกสูงระฟ้ามาตั้งแต่ พ.ศ.2549 หลังจากพิจารณาแบบที่ส่งเข้ามา 492 ชิ้น รางวัลชนะเลิศแห่งปีตกเป็นของ ‘Living Skyscraper’ ซึ่งเป็นโครงการสร้างตึกสูงในเมืองใหญ่ของทีมสถาปนิกชาวยูเครน

Credit: eVolo

Living Skyscraper คือต้นแบบตึกสูงในเมืองใหญ่ ที่ใช้วิธีปลูกกลุ่มไม้เนื้อแข็งที่โตเร็วและต้นสูงใหญ่ในดินพิเศษที่อุดมไปด้วยสารอาหาร ในช่วงที่ต้นไม้เริ่มโตก็จะดัดกิ่งก้านสาขาให้แผ่ขยายและเกาะเกี่ยวกันเป็นโครงห้องต่าง ๆ ขณะที่ลำต้นก็งอกสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นตึกระฟ้าในที่สุด เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่ ซึ่งที่ดินหายากและมีราคาแพงขึ้นเรื่อย ๆ ที่ผ่านมาหากสร้างสวนสาธารณะ คนส่วนหนึ่งก็จะถูกบีบให้ไปอยู่อาศัยหรือทำงานนอกเมือง แต่ Living Scraper ตั้งใจออกแบบพื้นที่ให้คนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้ โดยประหยัดพลังงานและเป็นปอดของเมืองไปในตัว   

นอกจากโครงการปลูกต้นไม้ให้เป็นตึกระฟ้าแล้ว กระแสการนำไม้มาใช้ยังมีให้เห็นอีก ดังที่ Kengo Kuma สถาปนิกชาวญี่ปุ่นได้สร้างสนามกีฬาไม้ในโตเกียวโอลิมปิก หรือบริษัทสตาร์ทอัพ Forust ที่ใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนเศษไม้ ขี้เลื่อยและพลาสติกย่อยสลายได้ให้กลายเป็น ‘วัสดุคล้ายไม้ที่มีความแข็งแรง ทนทานและยั่งยืน’ จากนั้นใส่เข้าไปในเครื่องพิมพ์สามมิติ แล้วพิมพ์ออกมาเป็นข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ตั้งแต่ จาน ชาม เก้าอี้ ประตู ตู้ เกียร์ ไปจนถึงชิ้นส่วนเรือยอชต์และชิ้นส่วนสร้างบ้านก็ยังได้ 

Credit: Fourst

สิ่งที่ต่างออกไปจากงานไม้แบบดั้งเดิมก็คือ งานไม้เหล่านี้ใช้เทคโนโลยีเข้ามาทำให้กระบวนการผลิตและใช้งานสิ้นเปลืองพลังงานน้อยลง ที่สำคัญไปยิ่งกว่านั้นก็คือ ทำให้รู้ว่า เราสามารถนำเทคโนโลยีมาช่วยให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้กลมกลืนมากขึ้น 

เครื่องจักรไอน้ำและการค้นพบไฟฟ้านำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ตามมาด้วยกระบวนการผลิตแบบโรงงานที่ทำให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 2 และขณะนี้เราอยู่ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 3 ซึ่งขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล มีการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไอทีและหุ่นยนต์มาพัฒนาการผลิตแบบอัตโนมัติ 

ท่ามกลางความพัฒนาทางดิจิทัลถึงขีดสุด มนุษย์กลับใช้ชีวิตท่ามกลางฝุ่น PM 2.5 ไวรัสโคโรนาและฤดูกาลอันผิดเพี้ยนและโหดร้ายมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นฤดูร้อนที่ร้อนเกินไป ฤดูฝนที่ฝนตกจนน้ำท่วม หรือฤดูหนาวที่หิมะตกหนักจนกลายเป็นพายุ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 จึงเป็นการใช้เทคโนโลยีสุดล้ำมาทำให้โลกดีขึ้น ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตมนุษย์ดีขึ้นไปด้วย