ตลาดรถพลังงานไฟฟ้า (EV) ในเมืองไทยเริ่มคึกคักขึ้นทุกขณะ คราวนี้มาในภาคการขนส่งสาธารณะที่รัฐบาลหลายประเทศให้ความสำคัญ เพราะมีการ ใช้พลังงานมากและเป็นหนึ่งในตัวการใหญ่ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ สร้างมลพิษทางอากาศ

เอเชีย แค็บ ผู้ผลิตและผู้ให้บริการ CABB รถแท็กซี่สีน้ำเงินที่มีรูปทรงคล้ายกับรถม้าในลอนดอน กลายเป็นผู้ขับเคลื่อนรถอีวีภาคการขนส่งสาธารณะในเมืองไทย เมื่อผนึกกำลังกับพันธมิตร ทั้งบริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ซัมมิท โอโต บอดี้ อินดัสตรี จำกัด รวมทั้งได้บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่มาช่วยพัฒนาเทคโนโนโลยีด้านไอทีให้กับ CABB EV 

CABB EV จะเป็นแท็กซี่พลังงานไฟฟ้าสัญชาติไทยรายแรก โดยจะเริ่มให้บริการรับผู้โดยสารในปี พ.ศ.2565 รถแต่ละคันจะติดตั้งแบตเตอรีที่วิ่งได้ 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ห้องโดยสารกว้างขวางจุได้ 5 คน มีเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง มีแผงกั้นใสแยกห้องผู้ขับและห้องผู้โดยสาร มีระบบแอร์แยกส่วนและมีอินเตอร์คอมสื่อสารกับคนขับได้ 

ด้านข้างตัวรถมีทางลาดให้เข็นรถวีลแชร์ขึ้นรถได้สะดวก อีกทั้งยังมีราวในห้องโดยสาร 7 จุด ถือเป็นการออกแบบเพื่อให้ทุกคนใช้บริการได้โดยไร้ข้อจำกัดทางร่างกาย และแม้หน้าตารถจะดูคลาสสิก แต่ภายในอัดแน่นไปด้วยความทันสมัย เช่น มีสัญญาณไวไฟให้ใช้ฟรี มีพอร์ตยูเอสบี และมีระบบชำระค่าโดยสารแบบ Cashless Payment ผ่านบัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือโมบายล์แบงกิ้ง เพื่อลดการสัมผัสระหว่างบุคคล จึงเหมาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์โรคโควิด-19 ที่ไม่รู้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

ปัจจุบันเอเชีย แค็บ มีรถแท็กซี่ปกติวิ่งให้บริการ 300 คัน ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบกับความต้องการรถแท็กซี่ในกรุงเทพฯ ที่มีถึง 70,000- 90,000 คัน แต่หลังจากเปิดตัวไปเมื่อกลางปี 2563 ปรากฏว่าในต้นปีนี้ CABB เติบโตถึง 300% วิ่งรถได้ 1,400 เที่ยวต่อวัน นับว่าเป็นการเริ่มเปิดตลาดให้กับ CABB EV ได้อย่างสวยงาม 

ใครที่อยากสัมผัสรถโดยสารสาธารณะในสไตล์แท็กซี่ลอนดอน CABB EV เตรียมตัวล้อหมุนในปี 2565 โดยมีแผนการผลิต 1,200 คันต่อปี ทางเอเชีย แค็บจะร่วมมือกับพันธมิตรทั้งหลายในกำหนดระยะเวลา 1 ปีเพื่อทดลองตลาด หากรถต้นแบบประสบความสำเร็จ มีผู้ใช้งานมากจนคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ ประเทศไทยก็อาจกลายเป็นฐานการผลิตรถแท็กซี่พลังงานไฟฟ้าส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ที่ใช้พวงมาลัยขวาต่อไปในอนาคต