Grid Brief

  • สกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency) ออกโดยธนาคารกลางและถูกกำกับด้วยนโยบายทางการเงิน ในขณะที่คริปโตเคอเรนซี่นั้นก็มีบทบาทมากขึ้นในโลกการเงินปัจจุบัน แต่เพราะไม่มีหน่วยงานตัวกลางมากำกับ ราคาจึงขึ้นลงผันผวนตามราคาตลาด และทำให้ธนาคารกลางแต่ละแห่งมีนโยบายออกเป็นสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองมากขึ้น
  • ธนาคารกลางหลายประเทศและภาคเอกชนต่างๆ เริ่มขยับตัวสร้างสกุลเงินของตัวเอง ปัจจุบันคริปโตเคอเรนซี่ทั่วโลกมีมากกว่า 5,000 ประเภท
  • สินทรัพย์ดิจิทัลให้ผลตอบแทนสูง แต่ก็มีความเสี่ยงมากเช่นกัน จึงควรศึกษาให้มั่นใจก่อนเริ่มลงทุน

นาทีนี้ไม่มีใครไม่พูดถึง “คริปโทเคอร์เรนซี” (Cryptocurrency) หรือ เงินตราเข้ารหัสลับ หลังจากที่ อีลอน มัสก์ เจ้าของค่ายรถยนต์ไฟฟ้ารายยักษ์อย่าง Tesla เข้าซื้อบิตคอยน์ (Bitcoin) มูลค่ากว่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาท) พร้อมประกาศว่าจะเริ่มรับการซื้อขายรถ Tesla ด้วยบิตคอยน์ในอนาคตอันใกล้นี้ ทำให้ราคาเงิน คริปโตหลายสกุลพุ่งทะยานในชั่วข้ามคืน และได้รับความสนใจจาก นักลงทุนทั่วโลก นี่จึงเป็นเวลาที่เราควรเริ่มเปิดใจให้การมีอยู่ของสกุลเงินเสมือนจริงนี้

คริปโทเคอร์เรนซี VS สกุลเงินดิจิทัล

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า สองอย่างนี้ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว คริปโทเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทหนึ่งที่มีลักษณะเด่นตรงที่ ‘ปราศจากตัวกลาง’ (Decentralization) เพราะขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยี Blockchain อยู่เบื้องหลังที่ช่วยให้การทำธุรกรรมมีความปลอดภัยและโปร่งใสมากขึ้น แต่เพราะการไม่ได้ถูกกำกับอยู่ภายใต้ธนาคารกลางหรือหน่วยงานภาครัฐ ราคาซื้อขายจึงผันผวนตามอุปสงค์อุปทานของตลาด เช่น Bitcoin, Ethereum ขณะที่แพลตฟอร์มโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่าง Facebook จากเดิมที่มีแผนออก คริปโตของตัวเองนาม Libra ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 ก็เปลี่ยนแผนมาออกในปี พ.ศ.2564 นี้แทน ในชื่อใหม่ว่า Diem

ขณะที่สกุลเงินดิจิทัล (Digital Currency) เป็นนโยบายที่ธนาคารกลางหลายประเทศมีนโยบายที่จะออกเป็นสกุลเงินดิจิทัลของตัวเองมากขึ้น เพราะทำให้ค่าเงินมีความคงที่สูงกว่า สำหรับประเทศแรกที่มีความชัดเจนในเรื่องนี้คือสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่มีนโยบายจะออก “ดิจิทัลหยวน” ให้เริ่มใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ภายในปี พ.ศ.2565 ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เองก็ทำโครงการอินทนนท์ เพื่อทดลองและพัฒนาระบบการชำระเงิน รวมไปถึงการออกเหรียญดิจิทัลที่ใช้เฉพาะภายในสถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการ ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปก็อยู่ในระหว่างศึกษา “ดิจิทัลยูโร” ด้วยเช่นกัน


เริ่มขยับเข้าสู่ชีวิตประจำวันมากขึ้น

แม้ในโลกความเป็นจริง เงินเสมือนจริงเหล่านี้ยังไม่สามารถทดแทนการใช้จ่ายด้วยเงินที่จับต้องได้ แต่หากลองสังเกตตัวเองดูจะพบว่าเราเริ่มคุ้นชินกับสังคมไร้เงินสดมากขึ้น จากการใช้อินเทอร์เน็ตแบงกิง หรือ E-wallet ของภาคเอกชนต่าง ๆ ซึ่งเบื้องหลังของแต่ละองค์กรนั้นเริ่มมีนโยบายเตรียมรับระบบการชำระค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการใน รูปแบบที่ไม่ใช้เงิน พร้อมกับศึกษาการออกเหรียญของตัวเองมากขึ้น อย่างที่โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์เพิ่งประกาศให้สามารถจ่ายค่าตั๋วหนังเป็นบิตคอยน์ได้แล้ว โดยเริ่มทดลองใช้เพียงสาขาเดียวก่อน

เป็นสินทรัพย์ลงทุนความเสี่ยงสูง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าคริปโทเคอร์เรนซีนั้นสร้างความมั่งคั่งให้กับนักลงทุนได้มหาศาล ดูจากราคาบิตคอยน์ที่กำเนิดมาเพียง 12 ปี ก็ทำราคาทะลุเพดานไปมากกว่าล้านบาทแล้ว แต่ก่อนที่จะเริ่มลงทุนต้องเข้าใจก่อน ว่าคริปโทเคอร์เรนซีมีความผันผวนสูงมาก เห็นได้จากกรณีของอีลอน มัสก์ ที่หลังจากทำให้ราคาบิตคอยน์พุ่งทะยาน ราคาก็ดิ่งกลับลงมาในเวลาเพียงไม่นาน ดังนั้น นักลงทุนที่หวังเก็งกำไรต้องตระหนักถึงความเสี่ยงเหล่านี้ที่มาพร้อมกับความสุขเมื่อเห็นราคาพุ่งขึ้น ทั้งนี้ การลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ได้มีกฎเกณฑ์กำกับดูแลอย่างเป็นทางการเหมือนสินทรัพย์ประเภทอื่น


สนใจลงทุนต้องมีสติ

คริปโทเคอร์เรนซีสามารถสร้างผลตอบแทนได้งดงาม อย่างที่เราทราบกันดีว่าการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงย่อมให้ผลตอบแทนสูงเป็นธรรมดา แต่ก็ต้องยอมรับหากผิดหวังและเผื่อใจว่าอาจไม่เป็นอย่างที่คาดไว้ ดังนั้น นอกจากศึกษาข้อมูลต่างๆ ให้ครบถ้วนและรอบคอบก่อนแล้ว นักลงทุนดิจิทัลมือใหม่ก็ควรพาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สามารถเรียนรู้ถูกผิดจากผู้ที่มีประสบการณ์การลงทุน อาจเป็นคอมมูนิตีบน โซเชียลมีเดียต่าง ๆ หรือการติดตามฟังพ็อดแคสต์ คลับเฮาส์ ฯลฯ แล้วนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง โดยอาจเริ่มต้นลงทุนในจำนวนเงินที่ไม่มากก่อน

ไม่รู้…ไม่มั่นใจ…อย่าเพิ่งเสี่ยง

ปัจจุบันคริปโทเคอร์เรนซีทั่วโลกมีมากกว่า 5,000 ประเภท อย่าลืม ว่าอาชญากรไซเบอร์ทั้งหลายย่อมพร้อมจะเสาะหาช่องโหว่ในการ จารกรรมสินทรัพย์หรือข้อมูล (Data) อยู่เสมอ ถ้าเราไม่ศึกษาข้อมูลเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีพอ ก็อาจตกเป็นเหยื่อจากคนเหล่านี้ได้ อย่างน้อยควรติดตามข่าวสารจากหน่วยงานเศรษฐกิจ ตั้งแต่แบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) อยู่เสมอ