Grid Brief

  • มาริเอะ คนโดะ (Marie Kondo) นักจัดบ้านชื่อดัง ชวนคนที่อาจยังทำงานที่บ้านในช่วงโควิด-19 มาค้นหาความสุขจากพื้นที่ทำงาน ในหนังสือ ‘Joy at Work’
  • พื้นที่ทำงานแบ่งเป็น พื้นที่ทางกายภาพ เช่น ห้องทำงาน โต๊ะทำงาน และพื้นที่ทางดิจิทัล เช่น อีเมล ไฟล์ โฟลเดอร์
  • หัวใจสำคัญของการจัดพื้นที่ทำงานที่ดีคือ การตั้งคำถามว่า ข้าวของหรือไอเท็มดิจิทัลนั้น ๆ ทำให้หัวใจคุณพองฟูอยู่หรือไม่ ซึ่งสุดท้ายนำไปสู่การค้นพบคุณค่าและความหมายในงานที่ทำ (หรืออาจลงเอยด้วยการเปลี่ยนงานก็เป็นได้)
  • จิตวิทยาองค์การ (Organizational Psychology) ที่ Rice University ในรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา มาช่วยคนทำงานยุคโควิด-19 ระบาดให้ค้นพบความเป็นระเบียบและความสุข ณ ขณะ Work from Home

ทำความรู้จักวิธีจัดพื้นที่ทำงานแบบ KonMari Method™ 

  1. ไม่ว่าจะทำงานที่ไหน สิ่งสำคัญคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ช่วยให้คุณมีสมาธิในการทำงานได้ดีขึ้น 
  2. ถ้าไม่มีโฮมออฟฟิศในบ้าน ให้หาของสักชิ้นที่จะช่วยให้คุณทำงานได้ลุล่วง และหาพื้นที่วางที่มองเห็นได้ชัด ๆ ให้กับของชิ้นนั้น ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ก กล่อง ปากกา สมุดจด ฯลฯ 
  3. เมื่อถึงเวลาทำงาน ให้ย้ายของที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานออกจากพื้นที่ทำงานให้หมด 
  4. หาของ 1 ชิ้นที่ช่วยสร้างความสุขให้ทุกครั้งที่มองเห็น เช่น หินคริสตัล แจกันดอกไม้ ฯลฯ 
  5. สร้าง ‘พิธีกรรม’ เมื่อจะเริ่มลงมือทำงาน เพื่อเป็นสัญญาณให้สมองเปลี่ยนเป็นโหมดทำงาน เช่น จุดเทียนหอม เปิดฟังคลื่นเสียงบำบัดสมอง (Binaural Beats) เป็นต้น

การเลือกเก็บและเลือกทิ้ง 

หัวใจของวิธีการแบบ KonMari Method™ คือการเก็บสิ่งที่สร้างสุข (The Joy) และปล่อยสิ่งที่ไม่สร้างสุข (The Waste) ออกไปจากพื้นที่ทำงาน ด้วยการถามตัวเองก่อนจะทิ้งหรือจะเก็บของชิ้นนั้น ๆ ว่า ‘ของสิ่งนั้นช่วยให้ฉันทำงานได้ดีขึ้นหรือเปล่า’ หรือ ‘ช่วยให้ฉันรู้สึกว่าอยากทำงานหรือเปล่า’


การจัดพื้นที่ทำงานทางกายภาพ (Physical Workspace)

พื้นที่ทำงานทางกายภาพแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 

  • หนังสือ : เป็นแหล่งข้อมูล แรงบันดาลใจหรือกลายเป็นของประดับบ้านที่ไม่เคยหยิบมาอ่าน Marie ลองให้คุณถามตัวเองว่า ‘ถ้าคุณเจอหนังสือเล่มนี้ในร้าน คุณจะซื้อหรือเดินผ่านไป’ ถ้าคำตอบคือคุณยอมจ่ายเงิน แสดงว่าหนังสือเล่มนี้ยังควรเก็บไว้ แต่ถ้าคุณยินดีที่จะเดินผ่านไปโดยไม่ลังเล หนังสือเล่มนั้นก็ควรย้ายลงกล่องเพื่อส่งต่อให้ผู้อื่น
  • เอกสาร : กระดาษ 1 แผ่นที่ไม่ได้เก็บให้เป็นที่เป็นทาง จะลงเอยเป็นกองเอกสารยุ่งเหยิงที่ต้องเสียเวลาค้นหาจัดการ คุณจึงควรแยกประเภทและจัดเก็บเอกสารให้เป็นระเบียบ โดยเอกสารในโปรเจ็กต์ที่ยังดำเนินอยู่ควรใส่กล่องหรือแฟ้มที่หยิบได้ง่าย
  • ของจิปาถะ : หรือภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า Komono หมายถึง อุปกรณ์การทำงานต่าง ๆ เช่น กรรไกร คลิป โพสต์-อิท ไปจนถึงอุปกรณ์ไฟฟ้าในสำนักงาน เช่น เครื่องปรินต์ เครื่องสแกน เป็นต้น ควรมีของเหล่านี้อย่างละชิ้นไว้ในพื้นที่ทำงาน เช่น กรรไกร 1 อัน คลิป 1 กล่อง แล้วเก็บชิ้นสำรองไว้ในห้องเก็บของ  
  • ของที่มีคุณค่าทางจิตใจ: พื้นที่ทำงานของคุณอาจมีของสะกิดต่อมความทรงจำอยู่ปะปนกัน สิ่งที่ต้องทำคือกำจัดของที่ไม่เกี่ยวกับงานออกไป เพราะของสะกิดอารมณ์เหล่านั้นมีอยู่ทั่วบ้าน คุณค่อยไปซาบซึ้งกับมันช่วงที่ทำงานเสร็จแล้วก็ได้ เพื่อไม่ให้เสียเวลาทำงาน ซึ่งก็มักจะเสียไปกับการเล่นโซเชียลอยู่แล้ว

มาริเอะ คนโดะ (Marie Kondo) นักจัดบ้านชื่อดัง ชวนคนที่อาจยังทำงานที่บ้านในช่วงโควิด-19 มาค้นหาความสุขจากพื้นที่ทำงาน ในหนังสือ ‘Joy at Work’

พื้นที่ทำงานดิจิทัล (Digital Workspace)

ตัวมาริเอะเองนั้นจัดบ้านเป็นระเบียบมาก แต่เธอเขียนไว้ในหนังสือว่า วันหนึ่งขณะนั่งทำงานในร้านกาแฟก็มีแฟนคลับเข้ามาทักทาย เธอรีบปิดโน้ตบุ๊กแทบไม่ทัน เพราะอายที่หน้าจอรกเรื้อไปด้วยโฟลเดอร์และไฟล์ที่ไม่เป็นหมวดหมู่ มาริเอะจึงเขียนวิธีจัดระเบียบพื้นที่ทำงานดิจิทัล ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานหลักของคนทำงานยุคใหม่ ดังนี้ 

  • สร้างโฟลเดอร์งานชื่อว่า ‘Delight’ หรือ ‘Joy’ ที่หน้า Desktop เพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีให้อยากทำงาน 
  • แบ่งโฟลเดอร์ทำงานออกเป็นโฟลเดอร์ย่อยๆ เช่น Folder One คือเอกสารส่วนตัว Folder Two คือโปรเจ็กต์ที่กำลังทำอยู่ Folder Three คือคลังข้อมูลในการทำงาน เช่น หัวจดหมาย เอกสารขอใช้สถานที่ รายชื่อและเบอร์ติดต่อลูกค้า เป็นต้น และ Folder Four สำหรับเก็บโปรเจ็กต์ที่ทำเสร็จแล้วหรือผลงานที่เคยทำ  
  • แบ่งโฟลเดอร์ในอีเมลไม่เกิน 10 โฟลเดอร์ ยิ่งมีโฟลเดอร์ยิบย่อยมาก คุณจะยิ่งเสียเวลาแยกแยะว่าอีเมลนี้ควรอยู่ประเภทไหนดี เอ๊ะ หรือว่ามันควรจะอยู่โฟลเดอร์นั้นมากกว่า สุดท้ายก็จะลืมเองว่าเก็บไว้ในโฟลเดอร์ไหน 
  • ตารางนัดหมายต่าง ๆ จัดลำดับความสำคัญให้ดี เพราะทุกนัดหมายคือการลงทุนด้านเวลา บางนัดที่ไม่จำเป็นให้หัดปฏิเสธโดยไม่ต้องรู้สึกผิด ซึ่งรวมทั้งการไปพบปะเข้าสังคมเพื่อสร้างเครือข่ายในการทำงานด้วย มาริเอะซึ่งมี ‘คอนเน็กชั่น‘ (Connection) ใน LinkedIn แค่ 16 รายเท่านั้นแนะนำว่า คอนเน็กชั่นหรือผู้คนที่ควรเก็บหรือควรบอกลาก็มาจากการถามตัวเองก่อนว่า ‘คอนเน็กชั่นไหนที่จำเป็นต่องาน’, ‘คอนเน็กชั่นไหนที่ช่วยให้วิสัยทัศน์ด้านชีวิตและงานของฉันขยายมากขึ้นกว่าเดิม’, ‘ฉันรู้สึกในแง่บวกหรือไม่เวลานึกถึงคนนี้’ และ ‘ฉันจะรู้สึกดีหรือเปล่าถ้าต้องเจอคนนี้’ 

ถ้าจะเลือกเก็บอะไรหรือใครไว้ หนังสือเล่มนี้แนะนำว่าให้ ‘ขอบคุณ’ และหากเลือกทิ้งอะไรหรือใครไปจากพื้นที่ทำงานก็ตาม ให้กล่าวว่า ‘ลาก่อน’ ด้วยความรู้สึกขอบคุณที่ได้เจอกัน