Grid Brief

  • 73% ของคนยุคมิลเลนเนียลยอมจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ใช้วัตถุดิบยั่งยืน หรือได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
  • อุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดขึ้นชื่อว่าเป็นธุรกิจสร้างขยะมหาศาล เพราะส่วนใหญ่ใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายยากและใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทำให้มลพิษจากขยะพลาสติกเป็นปัญหาร้ายแรงที่ลุกลามระดับโลก
  • ฟาสต์ฟู้ดหลายแบรนด์ดังที่มีสาขากระจายทั่วโลกเริ่มหันมา ‘รักษ์โลก’ ด้วยการเลิกใช้หลอดและบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติก รวมทั้งยังเน้นความยั่งยืนและเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในการสร้างสาขาใหม่

ในยุคที่ผู้บริโภคหันมาเทใจ ‘รักษ์โลก’ และยอมจ่ายแพงขึ้นเพื่อให้รู้สึกถึงการเป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยดูแลโลกใบนี้ ทำให้ธุรกิจอาหารฟาสต์ฟู้ด ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดขยะพลาสติกจากบรรจุภัณฑ์มากที่สุด ต้องปรับตัวอย่างหนักและเดินหน้า Go Green

คนยุคใหม่ยอมทุ่มเงิน เพื่ออาหารจานด่วน ‘รักษ์โลก’

Nielsen บริษัทที่ทำวิจัยทางธุรกิจ สังคม และเศรษฐกิจได้สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภค 30,000 คน ใน 60 ประเทศทั่วโลก เมื่อปี พ.ศ.2559 พบว่า 66% ของคนกลุ่มนี้ เต็มใจจ่ายเงินเพิ่มเพื่อซื้อสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ในขณะที่ 73% ของคนกลุ่มมิลเลนเนียล (หรือผู้ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2521-2539) ยอมจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ใช้วัตถุดิบยั่งยืน หรือได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์รักษ์โลก

มลพิษจากพลาสติกเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีความรุนแรงระดับโลกและกำลังเติบโตลุกลามอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกทั่วโลกขยายตัวจาก 396 ล้านตันในปี พ.ศ.2561 และมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น 550 ล้านตันใน พ.ศ.2568 และ 681 ล้านตันใน พ.ศ.2573 

นอกจากนี้ รายงานขององค์การสหประชาชาติ (UN) ยังระบุด้วยว่า หากลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารฟาสต์ฟู้ดได้ จะช่วยกำจัดต้นกำเนิดของขยะพลาสติกจำนวนมหาศาลที่ฝังกลบอยู่ในดิน แม่น้ำ และมหาสมุทร ว่ากันว่า ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงมหาสมุทรในแต่ละนาทีนั้นกองโตขนาดประมาณรถบรรทุกคันหนึ่งเชียวนะ

กระแสยั่งยืนมาแรง จนแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดต้องปรับตัว

อุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ดนับเป็นธุรกิจสร้างขยะให้กับโลกอย่างน่าตกใจ เพราะส่วนใหญ่มักใช้บรรจุภัณฑ์ที่ย่อยสลายยาก และใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น พลาสติก โฟม ซึ่งกว่าจะย่อยสลายจนหมด ก็นานนับร้อยปีหรือชั่วอายุหนึ่งของคนเลยทีเดียว และเมื่อกระแสยั่งยืนมาแรง การร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่แสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อโลก ก็น่าจะเป็นทางเดียวที่จะครองใจผู้บริโภค หรือสร้างความจงรักภักดีต่อแบรนด์ให้ยาวนานต่อไป มาดูกันว่ามีแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดอะไรบ้าง ที่เริ่มผันตัว Go Green ไปแล้ว 

Credit: Mcdonalds Singapore
  • McDonald’s หนึ่งในแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดที่ใหญ่ที่สุดของโลก ประกาศตัวในปี พ.ศ. 2561 ไว้ว่าจะลดการปล่อยมลพิษทางอากาศอย่างน้อย 36% ภายในปี พ.ศ. 2573 หรืออีกประมาณ 9 ปีข้างหน้า รวมไปถึงแฟรนไชส์ของแมคโดนัลด์ทั่วโลก ที่พากันตื่นตัวและเริ่มพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน อาทิ แมคโดนัลด์ในสิงคโปร์ 5 แห่ง ได้รับรางวัล Green Mark Award ของ Building Construction Authority (BCA) ซึ่งหมายความว่า ตัวร้านได้รับการออกแบบให้ประหยัดพลังงานและน้ำ ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ในการออกแบบ รวมทั้งการเลิกใช้หลอดพลาสติกในสาขาที่อินโดนีเซีย ไอร์แลนด์ ไต้หวัน สหราชอาณาจักร และออสเตรเลียแล้ว
  • Subway ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา Subway ได้จัดซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรที่ปลูกแบบเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ส่วนในปี พ.ศ.2562 ยังร่วมมือกับนักศึกษาหลักสูตรปริญญาโท MBA ของมหาวิทยาลัยคอร์แนล เพื่อช่วยกันพัฒนาหาวิธีใหม่ ๆ ในการลดขยะจากแบรนด์ต่าง ๆ  ซึ่งนักศึกษาหลักสูตร MBA Sustainable Global Enterprise Immersion เป็นการรวมตัวกันจากหลากหลายสาขาวิชา จะช่วยกันค้นหาทางออกให้กับองค์กร โดยมุ่งประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อพัฒนาไปสู่ความยั่งยืน
Credit: Taco Bell
  • Taco Bell ประกาศว่าจะมีกระบวนการย่อยสลายและนำบรรจุภัณฑ์ทั้งหมดกลับมาใช้ใหม่ได้ภายในปี พ.ศ.2568 นอกจากนี้ ยังตั้งเป้าที่จะเป็นแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดอันดับต้นๆ ของโลกที่เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่เป็นมังสวิรัติ ปัจจุบันทางร้านมีรายการอาหารมังสวิรัติที่ได้รับการรับรองจาก American Vegetarian Association และเปิดให้บริการทั่วสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเป็นทางเลือกให้กับผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อสัตว์ หรืออยากกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อันเนื่องมาจากการทำปศุสัตว์นั่นเอง 
  • KFC เมื่อต้นปี พ.ศ.2563 KFC ประกาศนโยบายที่มุ่งมั่นด้านความยั่งยืนครั้งใหม่ว่า บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกและบรรจุภัณฑ์ทุกชิ้นในร้านจะมีการนำกลับมาใช้ใหม่ภายในปี พ.ศ. 2568 รวมทั้งจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 10% ภายในสิ้นปีเดียวกัน ในขณะเดียวกัน KFC ในบางสาขา ได้ยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกและฝาถ้วยพลาสติกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เช่น สาขาในสิงคโปร์ แคนาดา ฝรั่งเศส โรมาเนีย แอฟริกาใต้ และมอลโดวา 

73% ของคนยุคมิลเลนเนียลยอมจ่ายเงินมากขึ้นสำหรับอาหารฟาสต์ฟู้ดที่ใช้วัตถุดิบยั่งยืน หรือได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม

Credit: Starbucks
  • Starbucks สตาร์บัคส์ตั้งเป้าที่จะรีไซเคิลถ้วยกาแฟในร้านให้กลับมาใช้ใหม่ภายในปี พ.ศ.2565 นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมายังประกาศเลิกใช้หลอดพลาสติกทุกสาขาทั่วโลกเป็นที่เรียบร้อย 
  • Pizza Hut ในปี พ.ศ.2558 พิซซ่าฮัทได้รับการยอมรับจากกระทรวงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของจีนในด้านความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังได้รับรางวัล China Environmental Prize ปัจจุบัน สตาร์บัคส์มีนโยบายการแยกขยะในสาขาที่สหราชอาณาจักร ส่วนในมองโกเลีย มีการก่อสร้างอาคารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน 
  • Chick-fil-A ในเมืองไทยอาจจะไม่คุ้นกับเบอร์เกอร์ไก่แบรนด์นี้สักเท่าไรนัก แต่ในสหรัฐอเมริกา แบรนด์นี้ได้รับความนิยมมาก เมื่อปลายปี พ.ศ.2563 Chick-fil-A ได้เปิดตัวชามบรรจุภัณฑ์แบบยั่งยืน ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลาสติกในประเทศได้ถึง 8.5 ล้านปอนด์ต่อปี นอกจากนี้ ยังมุ่งมั่นลดขยะจากการก่อสร้างสาขาใหม่ โดยใช้วัสดุที่ยั่งยืนและก่อสร้างตามกระบวนการ ‘Lean Construction’ ซึ่งเป็นหลักการก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) เนื่องจากพบว่า ขยะที่มาจากการก่อสร้าง สะสมอยู่ในหลุมฝังกลบและไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากธนาคารโลก (World Bank) รายงานว่า เมื่อปี พ.ศ.2555 มีขยะมูลฝอยรวมกันทั่วโลกอยู่ที่ 1.3 พันล้านตัน และกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนอาจถึง 2.2 พันล้านตันในปี พ.ศ.2568 โดยวัสดุก่อสร้างคิดเป็นครึ่งหนึ่งของขยะมูลฝอยทั่วโลก