Grid Brief

  • Food Coma คืออาการง่วงซึมหลังมื้ออาหาร เกิดจากร่างกายใช้พลังงานส่วนใหญ่ไปกับการย่อยอาหาร ทำให้ระบบอื่น ๆ ของร่างกายมีประสิทธิภาพลดลง
  • การรับประทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตเป็นส่วนประกอบหลัก ทำให้อาการ Food Coma ชัดเจนขึ้น เนื่องจากร่างกายจะหลั่งสารเซโรโทนินและสารเมลาโทนินในกระบวนการย่อย ทำให้ง่วงนอนมากขึ้น
  • Food Coma เป็นกลไกของร่างกายที่เกิดขึ้นเป็นปกติ ไม่ได้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงาน วิธีหลีกเลี่ยงอาการง่วงซึมหลังมื้ออาหาร ควรลดปริมาณและเลี่ยงการบริโภคคาร์โบไฮเดรต ไขมันหรือโปรตีนในปริมาณที่มากเกินไป

ใครหลายคนอาจเคยตกอยู่ในอาการง่วง (ถึงง่วงมาก) หลังจากมื้ออาหาร โดยเฉพาะมื้อกลางวันที่มักจัดเต็ม เพราะมีโอกาสได้ใช้พลังงานจากอาหารที่รับประทานเข้าไป แต่อาจรู้สึกอิ่มแปล้จนหนังท้องตึง หนังตาหย่อนตามมา ทำให้ไม่เป็นอันทำงานทำการกันเลยทีเดียว แท้จริงแล้วอาการที่ว่านี้มีชื่อว่า ‘Food Coma’

Food Coma…อาการนี้มีที่มา  

Food Coma หรือทางการแพทย์เรียกว่า Postprandial Somnolence คือการที่ร่างกายใช้พลังงานหมดไปกับกระบวนการย่อยอาหาร ทำให้ร่างกายส่งพลังงานไปยังสมองหรือระบบอื่น ๆ ได้น้อยลง ส่งผลให้เกิดภาวะง่วง ซึม เฉื่อย ไม่กระตือรือร้น ไปถึงจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ได้ลดลง 

ผลวิจัยระบุไว้ว่า อาการ Food Coma นี้อาจอยู่ได้ยาวนานถึง 4 ชั่วโมง ลองสังเกตดูว่า วันใดที่รับประทานอาหารปริมาณมากกว่าปกติ อาการง่วงจะเพิ่มทวีคูณขึ้น จนบางทีง่วงและอยากล้มตัวนอนกันเลยทีเดียว 

Credit: DCStudio

หากรู้สึกง่วงมากจนไม่สามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อได้ อาจใช้เวลาประมาณ 15-30 นาทีในการงีบหลับระหว่างวัน จะช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น

นอกจากปัจจัยเรื่องปริมาณอาหารแล้ว ยังมีปัจจัยเรื่องลักษณะของอาหาร โดยเฉพาะมื้อที่หนักไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน เนื่องจากอาหารเหล่านี้ต้องใช้พลังงานสูงและระยะเวลานานในการย่อย เพื่อทำให้แตกตัวเป็นโมเลกุลเล็ก ๆ และสามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ 


อาหารที่ใช้พลังงานในการย่อยสูง 

หนึ่งในอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง ได้แก่ ข้าว ขนมปัง เผือก มัน ฯลฯ อาหารประเภทนี้ ร่ายกายต้องใช้เวลาในการย่อยคาร์โบไฮเดรตให้กลายเป็นน้ำตาลโมเลกุลเล็ก ๆ ในขณะเดียวกันร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนอินซูลินออกมาโดยอัตโนมัติเพื่อรักษาความสมดุลของระดับน้ำตาลให้เป็นปกติ ซึ่งขณะที่อินซูลินหลั่ง สารที่ชื่อเซโรโทนินและเมลาโทนินก็จะถูกหลั่งออกมาเช่นกัน ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการง่วงที่เกิดขึ้น 

Credit: Freepik

เลี่ยงอาการ Food Coma 

จริง ๆ แล้วอาการ Food Coma เป็นอาการปกติของกลไกร่างกาย เพียงแต่อาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนหรือการทำงาน หากใครไม่อยากรู้สึกง่วงนอนหลังมื้ออาหาร ลองใช้เทคนิคต่อไปนี้ อาจจะช่วยได้บ้างไม่มากก็น้อย ได้แก่ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-8 ชั่วโมง รับประทานอาหารในปริมาณที่พอดี ไม่ให้อิ่มจนเกินไปและเคี้ยวให้ละเอียด ลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล ดื่มน้ำให้เพียงพอ และหมั่นจิบน้ำเรื่อย ๆ ระหว่างวัน แต่หากรู้สึกง่วงมากจนไม่สามารถทำกิจกรรมอื่นๆ ต่อได้ อาจใช้เวลาประมาณ 15-30 นาทีในการงีบหลับระหว่างวัน จะช่วยให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น

อย่างไรก็ตาม Food Coma ไม่ได้จัดเป็นโรคหรืออาการที่ร้ายแรง หากแต่ควรระมัดระวังอาการง่วงนอนหลังจากรับประทานอาหาร ซึ่งอาจเกิดขึ้นในบางสถานการณ์ที่เสี่ยงอันตรายได้ เช่น ขณะขับรถ การประชุม ทั้งนี้ อาการง่วงซึมเฉื่อยชาที่เกิดขึ้นระหว่างวันนั้น ก็อาจไม่ได้มีสาเหตุมาจาก Food Coma ทั้งหมด เพราะยังมีตัวแปรอื่น ๆ ที่ส่งผลทำให้เรารู้สึกง่วง ไม่กระฉับกระเฉงได้เช่นเดียวกัน อาทิ มาจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ การดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น ฉะนั้น ต้องหาสาเหตุที่แท้จริงให้เจอ เพื่อจะได้แก้ไขได้ถูกจุด