ผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มสาวต่างคาดหวังให้บริษัทผู้ผลิตสินค้าแสดงออกถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้บริษัทต่าง ๆ ต้องแสวงหาวิธีตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ยกตัวอย่าง Samsung ที่เพิ่งเปิดตัวแพลตฟอร์มใหม่ที่ชื่อว่า ‘Galaxy for the Planet’ เพื่อกำจัดขยะจากกระบวนการผลิตสินค้ารุ่นใหม่ ๆ ตั้งแต่สมาร์ตโฟน แท็บเล็ต นาฬิกา และหูฟัง 

Credit: Samsung

นอกจากใช้วัสดุรีไซเคิลแล้ว ยังพัฒนาให้อุปกรณ์กินไฟน้อยลงด้วย เช่น ที่ชาร์จแบตเตอรี่สมาร์ตโฟนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน เมื่ออยู่ในโหมดสแตนด์บายจะกินไฟ 20 มิลลิวัตต์ แต่ภายใน 4 ปีข้างหน้าที่ชาร์จเหล่านี้จะกินไฟเพียง 5 มิลลิวัตต์เมื่อเสียบปลั๊กไว้แต่ไม่ได้ชาร์จเข้ากับสมาร์ตโฟน 

Credit: Samsung

Samsung ประกาศเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งอย่างเด็ดขาดภายใน พ.ศ.2568 โดยวัสดุที่จะมาแทนที่นั้นมาจาก ‘กองขยะ’ และ ‘ขยะในมหาสมุทร’ ที่นำมารีไซเคิลเป็น Gadget ดีไซน์เก๋ อาทิ ที่ชาร์จแบตเตอรี่สมาร์ตโฟน หูฟังรุ่น Galaxy Buds Pro และหูฟังรุ่น Galaxy Buds 2 มอบชีวิตที่สองให้แก่ขยะเหล่านั้น ทั้งนี้ ในการผลิตจะใช้วัสดุรีไซเคิล 20 เปอร์เซ็นต์ 

ส่วนบรรจุภัณฑ์ของสมาร์ตโฟนรุ่น Galaxy S21 เมื่อเปรียบเทียบรุ่นที่ผลิตเมื่อ พ.ศ.2559 พบว่า รุ่นที่ผลิต พ.ศ.2564 ลดขยะลงได้ 51 เปอร์เซ็นต์ โดยพลาสติกชิ้นเดียวที่ยังหลงเหลืออยู่ในบรรจุภัณฑ์ของสมาร์ตโฟนรุ่นดังกล่าวคือแผ่นปิดหน้าจอเพื่อป้องกันรอยเท่านั้น ซึ่งทางแบรนด์พยายามพัฒนาวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

https://www.youtube.com/watch?v=9Poo70B4oCM

John Torkelson อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์และเป็นสมาชิกสถาบันความยั่งยืนและพลังงานของโครงการด้านพลาสติกและระบบนิเวศของมหาวิทยาลัย Northwestern University ในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า เมื่อบริษัทระดับโลกลงมือทำสิ่งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ จะสร้างแรงกดดันให้บริษัทอื่นต้องเปลี่ยนแปลงตาม ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์คือผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อมของโลก 

ความท้าทายต่อไปคือ จะทำอย่างไรให้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีสามารถซ่อมแซมได้ง่าย และอัพเกรดได้โดยไม่ต้องซื้อฮาร์ดแวร์ใหม่ หากทำได้จะลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์และลดการใช้พลังงานในการผลิตสินค้าใหม่ได้มหาศาล