Grid Brief

  • ในยุคที่องค์กรไม่ได้ต้องการแค่ “คนเก่ง” แต่ต้องการคนที่มีกรอบแนวคิด พร้อมพัฒนาตนเองให้เติบโตไปกับองค์กร การกระตุ้นให้คนทำงานมี Growth Mindset จึงเป็นภารกิจจำเป็นเร่งด่วนที่ทุกองค์กรต้องทำ
  • Mindset มีผลต่อการพัฒนาศักยภาพและทักษะจำเป็นที่ชาวออฟฟิศในยุคนี้ควรมี
  • การติดตั้ง Growth Mindset มีเทคนิคง่าย ๆ ที่เริ่มต้นได้ด้วยตนเอง และสามารถนำไปปรับใช้ในองค์กรได้ด้วย

ในยุคที่ทุกองค์กรยังต้องพึ่งพา “คนเก่ง” ในการขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จตามเป้าหมาย ท่ามกลางการความท้าทายจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปจนถึงการดิสรัปของเทคโนโลยี ความเก่งอย่างเดียวคงไม่เพียงพออีกต่อไป ทุกองค์กรต้องติดอาวุธให้พนักงานมี ‘Growth Mindset’ ที่จะนำไปสู่การสร้างทุกทักษะจำเป็นแห่งปี 2021 ด้วยการต่อยอดสร้างมุมมองเชิงบวกเพื่อการทำงานอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง และพร้อมร่วมมือกันพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ

ทำความเข้าใจทั้ง 2 ด้านของ Mindset 

ก่อนจะพูดถึงเทคนิคการสร้าง Growth Mindset รู้หรือไม่ว่าความจริงแล้ว Mindset หรือกรอบความคิดของมนุษย์นั้นมี 2 ด้าน ตามการแบ่งของ Carol Dweck นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แก่ 

  • Fixed Mindset : กรอบความคิดแบบดั้งเดิมที่คนมักยึดติด และไม่กล้าก้าวออกไปนอกกรอบ เพราะกลัวความผิดพลาด ซึ่งทัศนคติแบบนี้ทำให้องค์กรเติบโตช้าและขาดความต่อเนื่อง 
  • Growth Mindset : คือ กรอบความคิดแบบยืดหยุ่นที่เชื่อในศักยภาพของคน ซึ่งพร้อมเติบโตและพัฒนาต่อไปข้างหน้า ช่วยให้องค์กรก้าวเดินได้ต่อได้อย่างมั่นคงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

Growth Mindset เริ่มยังไงดี ?

เมื่อรู้จัก และ มองเห็นความสำคัญของการสร้าง Growth Mindset ก็ได้เวลาพาตัวเองออกจากกรอบเดิม ๆ เพื่อพัฒนาไปสู่ ‘กรอบแบบยืดหยุ่น’ ที่เหมาะสมกับตัวเอง และสามารถนำไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร ด้วย 3 สิ่งจำเป็นต่อไปนี้

  • ปรับเปลี่ยนนิสัยใหม่ ถ้าต้องการผลลัพธ์ใหม่ ๆ ในการทำงานที่ดีกว่าเก่า ก็ต้องกล้าที่จะยอมรับ ปรับเปลี่ยน และฝึกนิสัยใหม่ให้เป็นคนไม่หยุดเรียนรู้และไม่หยุดพัฒนาตนเอง 
  • ตั้งเป้าหมายและทำให้สำเร็จ เริ่มจากการตั้งเป้าหมาย แล้วลองเปลี่ยนรูปแบบการทำงานแบบเบสิก ๆ ที่มีแนวโน้มว่าจะทำสำเร็จได้ เช่น เมื่อหัวหน้าสั่งงาน ต้องเสร็จและส่งให้ตรงตามเวลาที่รับปากไว้ ถ้าทำสำเร็จได้สักครั้งย่อมทำให้เกิดความภูมิใจ จากนั้นก็ลองท้าทายตัวเองด้วยการตั้งเป้าหมายให้ยากขึ้นต่อ
  • ทำอย่างต่อเนื่อง การสร้าง Growth Mindset จำเป็นต้องอาศัยความต่อเนื่อง เพราะถ้าไม่มีความสม่ำเสมอ ผลลัพธ์ที่ได้อาจไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น จึงต้องทำซ้ำ ๆ และทำให้ดีขึ้นในทุกวันให้ได้

การติดตั้ง Growth Mindset มีเทคนิคง่าย ๆ ที่เริ่มต้นได้ด้วยตนเอง และสามารถนำไปปรับใช้ในองค์กรได้ด้วย


7 เทคนิคที่ทำให้การสร้าง Growth Mindset เป็นเรื่องแสนง่าย

นี่คือเทคนิคที่พนักงานและองค์กรสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อสร้างองค์กรยุคใหม่ที่อาศัย Growth Mindset เป็นตัวขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จได้ใน 7 ข้อ

1. เชื่อว่า “เราทำได้” ถ้าตัวเองยังไม่เชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองว่า “เราทำได้” ย่อมติดกับดักความคิดแบบ Fixed Mindset ทำให้ไม่สามารถพัฒนาต่อไปข้างหน้า

2. กัดไม่ปล่อย หัวใจสำคัญของ Growth Mindset คือ ความทุ่มเท ใส่ใจ มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีกับองค์กร 

3. ไม่หยุดเรียนรู้ ตั้งเป้าไปที่การเรียนรู้ในตัวงานและวิธีการทำให้งานสำเร็จ มากกว่าเน้นแข่งขันกับคนรอบข้าง ซึ่งอาจทำให้กดดันมากจนเกินไป

4. งานยากคือของหวาน ก้าวออกมาจาก Fixed Mindset ที่กลัวความผิดพลาดให้ได้ และจำไว้ว่า งานง่ายมักฉุดตนเองจากการพัฒนาศักยภาพการทำงาน ขณะที่งานยากจะทำให้เราพัฒนาตนเองได้อย่างก้าวกระโดด

5. เปิดใจรับฟัง Feedback ทุกรูปแบบ เพราะคำเสนอแนะที่ตรงไปตรงมานี่เองจะนำไปสู่การพัฒนาตัวเอง พยายามเปลี่ยนความรู้สึกท้อแท้ที่เกิดจากคำติเตียนมาเป็นความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ ปรับปรุง และแก้ไข เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างถูกทิศทาง

6. หาเส้นทางเดินที่ท้าทายใหม่ๆ อยู่เสมอ อย่าลืมว่าไม่มีกลยุทธ์ใดที่ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ จึงควรมองหากลยุทธ์ใหม่ ๆ ในเส้นทางใหม่ ๆ ที่จะนำพาไปสู่ความสำเร็จ

7. สร้างแรงบันดาลใจจากความสำเร็จของผู้อื่น หนึ่งในเคล็ดลับของการสร้าง Growth Mindset ที่ดี คือการมองหาแรงบันดาลใจจากคนรอบข้าง พร้อมเรียนรู้ และต่อยอดสู่การปรับใช้สร้างเส้นทางความสำเร็จในแบบของตนเอง