Grid Brief

  • การทำมือให้แห้งนั้นสำคัญพอ ๆ กับการล้างมือ ซึ่งการใช้กระดาษเช็ดมือหรือผ้าขนหนูซับ จะช่วยขจัดเชื้อโรคหรือลดจำนวนเชื้อโรคได้มากกว่าการล้างน้ำแล้วปล่อยให้แห้งเอง
  • เครื่องเป่าลมในห้องน้ำเปรียบเสมือนการระเบิดของแบคทีเรีย เมื่อมีการพ่นลมออกมา ไม่เพียงแต่เป่าลมร้อนออกมาเท่านั้น แต่ยังเป็นการพ่นเชื้อแบคทีเรียให้ลอยฟุ้งในอากาศอีกด้วย
  • เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เครื่องเป่าลมเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียได้คราวละมาก ๆ นั้น เป็นเพราะการเคลื่อนที่ของอากาศที่ถูกพ่นออกมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งปกติแล้วอากาศจำนวนมากที่ไหลผ่านออกจากเครื่องเป่าจะมีความแรงของการเคลื่อนตัวอยู่ที่ 19,000 ฟุตต่อนาที

คลัสเตอร์โรคโควิด-19 ระลอกใหม่กลับมาทักทายคนไทยอีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในวิธีป้องกันตัวเองที่ช่วยให้ปลอดภัยจากโรคนี้ได้ คือการล้างมือบ่อย ๆ แต่การตั้งหน้าตั้งตาล้างมืออย่างเดียวอาจยังไม่พอ เพราะเชื้อโรคโดยทั่วไปมักเจริญเติบโตได้ดีในที่ที่มีความชื้นสูง เจ้าไวรัสโควิด-19 ก็เช่นกัน ฉะนั้น หลังล้างมือแล้วควรต้องเช็ดมือให้แห้งด้วย ว่าแต่เคยนึกสงสัยไหมว่า การทำมือให้แห้งนั้น วิธีใดปลอดภัยที่สุด ระหว่างการใช้กระดาษเช็ดมือ ผ้าขนหนู หรือเครื่องเป่าลม?

เครื่องเป่าลมคือการพ่นเชื้อแบคทีเรียให้ฟุ้งกระจาย

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตามสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่งหันมาติดตั้งเครื่องเป่ามือในห้องน้ำ เพื่อแสดงความรักษ์โลกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการเลี่ยงลดและเลิกใช้กระดาษทิชชูเช็ดมือ แล้วหันไปใช้เครื่องเป่าลมให้มือแห้งแทน ข้อดีคือช่วยลดขยะและประหยัดทรัพยากรธรรมชาติได้จริง แต่ก็มีข้อกังวลตามมาว่า อาจจะทำให้ผู้คนได้รับเชื้อโรคเข้าไปแทน

ยิ่งในช่วงที่เราเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทุกคนพยายามหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับอุปกรณ์ของใช้สาธารณะ ทั้งลูกบิดประตู ก๊อกน้ำ ด้วยการใช้เครื่องเป่าลมเพื่อให้มือแห้ง แทนการดึงกระดาษทิชชูหรือใช้ผ้าที่แขวนไว้ในห้องน้ำสาธารณะ แต่รู้หรือไหมว่า ผลการศึกษาชิ้นล่าสุดของมหาวิทยาลัย Connecticut และมหาวิทยาลัย Quinnipiac เผยว่า เครื่องเป่าลมในห้องน้ำเปรียบเสมือนการระเบิดของแบคทีเรีย เพราะในการปล่อยลมออกมา ไม่เพียงเป็นการเป่าลมร้อนเท่านั้น แต่ยังเป็นการพ่นเชื้อแบคทีเรียให้ลอยฟุ้งกระจายไปในอากาศ และเราอาจสูดหายใจเอาเชื้อแบคทีเรียนี้เข้าไปอีกด้วย

เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เครื่องเป่าลมเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียได้คราวละมาก ๆ นั้น เป็นเพราะการเคลื่อนที่ของอากาศที่ถูกพ่นออกมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งปกติแล้วอากาศจำนวนมากที่ไหลผ่านออกจากเครื่องเป่าจะมีความแรงของการเคลื่อนตัวอยู่ที่ 19,000 ฟุตต่อนาที

แบคทีเรียแพร่กระจายได้คราวละมากๆ 

ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัย Connecticut ได้ทดลองโดยวางแผ่นดักจับฝุ่นละอองเอาไว้ในห้องน้ำชายและหญิงทั้งหมด 36 ห้องทั่วสถานพยาบาลของคณะแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัย พบว่า แผ่นดักจับฝุ่นที่วางนิ่ง ๆ เป็นเวลา 2 นาทีโดยไม่ได้ใช้เครื่องเป่าลม มีแบคทีเรียเฉลี่ย 0-1 ตัว แต่ถ้าถือแผ่นดักจับฝุ่นละอองขนาด 12 นิ้วนี้เขยิบเข้าไปใกล้กับเครื่องเป่าลมเป็นเวลา 30 วินาที กลับพบว่า มีแบคทีเรียเล็ก ๆ หล่นบนแผ่นดักฝุ่น และเจ้าฝุ่นเหล่านี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และเกาะกลุ่มกันกลายเป็นอาณาจักรของเชื้อแบคทีเรีย

นักวิจัยสรุปว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เครื่องเป่าลมเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อแบคทีเรียได้คราวละมาก ๆ นั้น เป็นเพราะการเคลื่อนที่ของอากาศที่ถูกพ่นออกมาอย่างรวดเร็ว ซึ่งปกติแล้วอากาศจำนวนมากที่ไหลผ่านออกจากเครื่องเป่าจะมีความแรงของการเคลื่อนตัวอยู่ที่ 19,000 ฟุตต่อนาที

แบคทีเรียที่พ่นออกมาจากเครื่องเป่าเป็นอันตรายจริงหรือไม่

ด็อกเตอร์ Thomas S. Murry ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อและเป็นนักวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับเครื่องเป่าลมร้อน กล่าวว่า ไม่มีหลักฐานว่าเชื้อแบคทีเรียที่พบจากเครื่องเป่าลมนั้นมีอันตรายหรือเป็นอันตรายถึงชีวิตแต่อย่างใด ที่สำคัญไม่ได้มีการพิสูจน์ด้วยว่าแบคทีเรียที่สะสมในเครื่องเป่าลมนั้นมีส่วนที่ทำให้เกิดโรค โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันแข็งแรง ก็ไม่น่าจะมีปัญหาในการใช้งาน เนื่องจากเมื่อคนเราอยู่ในที่สาธารณะก็มักจะมีเชื้อแบคทีเรียที่มองไม่เห็นด้วยตากระจายลอยอยู่ในอากาศอยู่แล้ว 

ดร. Murry จึงสรุปว่า การล้างมือยังคงเป็นวิธีกำจัดเชื้อโรคได้ดีที่สุด และต้องล้างมือให้ถูกต้องด้วย โดยแนะให้ถูตามซอกนิ้วมือและฝ่ามือให้ทั่ว โดยใช้เวลาประมาณ 15-20 วินาทีเป็นอย่างต่ำ หากทำไม่ถูกวิธี มือของเราก็อาจจะยังมีเชื้อโรคติดอยู่ นอกจากนี้ การใช้เจลแอลกอฮอล์ก็เป็นอีกวิธีที่ฆ่าเชื้อโรคบนมือได้อย่างดีเยี่ยมอีกด้วย

ล้างมือทุกครั้ง ต้องเช็ดให้แห้งสนิท

บางคนอาจคิดว่าเพียงแค่ล้างมือ แล้วปล่อยให้แห้งเองก็เพียงพอแล้ว แต่ Miryam Wahrman ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย William Paterson ผู้เขียนหนังสือชื่อ “The hand book : Surviving in a Germ-Filled World บอกว่า การทำมือให้แห้งนั้นสำคัญมากพอ ๆ กับการล้างมือเลยทีเดียว ซึ่งผลการศึกษาของเขาชี้ให้เห็นว่า การใช้กระดาษเช็ดมือหรือผ้าขนหนูซับจะช่วยขจัดเชื้อโรคหรือลดจำนวนเชื้อโรคได้มากกว่าการล้างน้ำแล้วปล่อยให้แห้งเอง เนื่องจากเมื่อมือมีความชื้นอยู่ ก็อาจเป็นแหล่งกำเนิดและเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคได้ดีกว่ามือที่แห้งสนิทนั่นเอง