Grid Brief

  • Manas Bhatia สถาปนิกชาวอินเดียสังเกตว่า สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในโลกล้วนสร้างที่พักอาศัยให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติ เช่น รังนก รังมด หรือพันธุ์ไม้ต่าง ๆ ในป่า
  • เมื่อป้อนคำต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบ้านและธรรมชาติในโปรแกรมออกแบบ ปรากฏว่าเอไอประมวลผลคำออกมาเป็นภาพ ‘อพาร์ตเมนต์ในโพรงต้นไฮเปอร์เรียน’ ต้นไม้ที่สูงที่สุดในโลก

มนัส ภาทิยะ (Manas Bhatia) สถาปนิกชาวอินเดีย ตั้งคำถามว่า ‘มนุษย์จะอาศัยอยู่ในที่พักที่ไม่ได้เป็นกล่องคอนกรีตติดกระจกที่เรียกว่าอพาร์ตเมนต์ได้หรือไม่’ เขาจึงออกแบบที่พักอาศัยแบบใหม่ด้วย Artificial Intelligence (AI) ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ ไม่เหมือนอพาร์ตเมนต์ใด ๆ ที่เคยมีมาอย่างสิ้นเชิง

Credit: designboom

สิ่งมีชีวิตกับธรรมชาติ

มนัสตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่น ๆ ตั้งแต่สัตว์ใหญ่ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วล้วนพักพิงอยู่กับธรรมชาติ โดยรูปแบบเช่นนี้พบเห็นได้ทั่วไป อาทิ ฟังไจหรือเห็ดราที่แผ่ขยายเครือข่ายอยู่ใต้ดิน มดแดงที่ม้วนห่อใบไม้ทำรังบนต้นไม้ใหญ่ มดที่ชอนไชลงไปใต้ดิน สร้างที่พักพิงร่วมกันจนเป็นอาณาจักรมดสุดมหัศจรรย์ หรือพืชพรรณนานาชนิดทั้งพืชล้มลุก ไม้กลาง ไม้ใหญ่ ต่างใช้ร่มเงาและแบ่งปันแสงแดดในป่าร่วมกัน

สิ่งมีชีวิตเหล่านี้ใช้องค์ประกอบของธรรมชาติมาสร้างที่พักอาศัยที่สลับซับซ้อนได้อย่างน่าทึ่ง  

หากว่ามนุษย์สามารถสร้างที่อยู่อาศัยที่เติบโตแผ่ขยายออกไปเรื่อย ๆ และหายใจได้อย่างพืช โลกนี้จะน่าอัศจรรย์มากเพียงไร

Credit: designboom

AI นักออกแบบ

มนัสใช้ AI และแนวคิดทางสถาปัตยกรรมแบบเหนือจริงมาผสมผสานกันในการออกแบบ โดยเริ่มจากการสังเกตรูปแบบที่พักอาศัยของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในธรรมชาติ วิธีการที่เครือข่ายที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กประกอบสร้างขึ้น รวมทั้งพฤติกรรมการเจริญเติบโตและการดำรงชีวิตของพืช 

นอกจากนี้ มนัสยังพิจารณาสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยตีความคุณลักษณะของ ‘อนาคตของโลกในยุคหลังวันโลกแตก’ ด้วยมุมมองใหม่ เพื่อนำเสนอภาพ ‘อนาคตอีกทางเลือกหนึ่ง’ ซึ่งอาคารบ้านเรือนต่าง ๆ จะไม่ได้สร้างขึ้นโดยเครื่องจักรและไม่ได้ใช้คอนกรีตหรือว่าเหล็กอย่างในปัจจุบันอีกแล้ว แต่เป็นที่พักอาศัยที่เจริญงอกงามได้ด้วยตัวเองเพื่อรองรับจำนวนมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น โดยไม่ต้องเริ่มก่อสร้างที่พักใหม่จากศูนย์เสมอไป 

Midjourney คือโปรแกรม AI ที่มนัสใช้ในการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบที่สิ่งมีชีวิต 2 ชนิดหรือมากกว่านั้น(โดยเฉพาะที่เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน) อาศัยอยู่ร่วมกันได้ 

วิธีการออกแบบของมนัส คือ ป้อนคำลงไปในโปรแกรม เช่น ยักษ์ใหญ่ ต้นไม้ บันได พืชพรรณ โพรง ฉากหน้า ฯลฯ แล้วให้ AI ประมวลผลออกมาเป็นภาพที่สร้างความตื่นตะลึง

Credit: designboom

บ้านในอนาคตจากมุมมอง AI

ต้นไฮเปอร์เรียน คือต้นสนสายพันธุ์โคสต์เรดวูด ซึ่งพบในอุทยานแห่งชาติซีคัวยา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ความมหึมาของต้นไม้ที่สูงที่สุดในโลก ก็คือกิ่งต่ำสุดอยู่ที่ระดับความสูงของตึก 25 ชั้น และเมื่อวัดจากรากจนถึงยอดไม้ก็พบว่าต้นไม้นี้สูง 116 เมตร ปัจจุบันไฮเปอร์เรียนอายุราว ๆ 600-800 ปี ซึ่งอยู่ในช่วงวัยรุ่น เนื่องจากอายุขัยของมันมากกว่า 2,000 ปี แปลว่ามันยังสูงใหญ่กว่านี้ได้อีกมาก 

นั่นละ อพาร์ตเมนต์แห่งอนาคตที่ AI ออกแบบมีหน้าตาคล้ายต้นไฮเปอร์เรียน โดยภายในลำต้นเป็นโพรงกลวงกว้างขวางที่กลายเป็นห้องพักที่เรียงตัวขึ้นไปตามความสูงของลำต้น แต่ละห้องหันหน้าเข้าหากันเพื่อเปิดรับแสงสว่างที่ส่องลอดลงมาจากท้องฟ้า 

Credit: designboom

ธรรมชาติของต้นไฮเปอร์เรียนจะหยั่งรากอยู่ใกล้กัน ต้นอพาร์ตเมนต์นี้จึงมีลำต้นแทบจะแนบชิดกัน เกิดเป็นเครือข่ายห้องพักในโพรงต้นไม้สูงใหญ่ราวกับจอมปลวก  

‘Symbiotic Architecture’ หรือสถาปัตยกรรมที่สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ร่วมกัน คือวิธีการใหม่ในการใช้ประโยชน์จากระบบที่มีอยู่ในธรรมชาติ โดยมี AI ช่วยพัฒนาสถาปัตยกรรมให้เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพขึ้น และเชื่อมโยงกับธรรมชาติได้มากขึ้น ซึ่งอาจให้ผลลัพธ์ที่เหนือความคาดคิดของมนุษย์เช่นเดียวกับอพาร์ตเมนต์ในต้นไฮเปอร์เรียนนี้ก็เป็นได้

Cover Illustration โดย ANMOM