Grid Brief

  • อาการ ‘หนาวง่าย’ มากกว่าคนปกติทั่วไปนั้น อาจเป็นอาการหนึ่งที่กำลังบ่งบอกว่าคุณมีปัญหาบางอย่างด้านสุขภาพที่แฝงตัวอยู่เงียบ ๆ
  • สัญญาณของอาการหนาวง่ายที่สังเกตได้ชัด เช่น รู้สึกหนาวอยู่ตลอดเวลา มือเท้าเย็นเฉียบ ในขณะที่คนรอบข้างกลับรู้สึกร้อนหรืออาจไม่ได้รู้สึกหนาวแม้แต่น้อย

ในขณะที่หลายคนรู้สึกดีกับอากาศหนาวเย็น แต่ทำไมคุณกลับรู้สึกหนาวกว่าคนอื่น และบ่อยครั้งมักมีอาการมือเท้าเย็นแม้ว่าจะอยู่ในห้องอุณหภูมิปกติ หรือในขณะที่คนอื่น ๆ ไม่ได้รู้สึกหนาวแม้แต่น้อย อาการหนาวง่ายหรือบางครั้งเรียกว่าหนาวใน อาจเป็นภาวะหนึ่งที่กำลังบ่งชี้ได้ว่า คุณกำลังมีโรคบางอย่างแฝงอยู่

หนาวง่าย…อาการนี้มีที่มา

เพราะอุณหภูมิในร่างกายคนเราเกี่ยวข้องกับระบบต่าง ๆ มากมาย รวมไปถึงส่วนหนึ่งของโครงสร้างสมองที่เรียกว่า Hypothalamus ซึ่งเป็นศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายรู้สึกร้อนหรือหนาวเย็น 

Hypothalamus ยังเกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อมไทรอยด์โดยตรง เพราะจะส่งสารให้ต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนเพื่อเพิ่มหรือลดการเผาผลาญแคลอรีในร่างกาย เช่น หากเกิดภาวะไทรอยด์เป็นพิษ จะส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกร้อนมากกว่าปกติ หากภาวะไทรอยด์ทำงานต่ำ จะทำให้รู้สึกหนาวตลอดเวลา

การไหลเวียนโลหิตก็มีผล

การไหลเวียนโลหิตภายในร่างกายก็มีส่วนให้เกิดภาวะหนาวง่ายได้เช่นเดียวกัน เช่น หากโลหิตไหลเวียนสะดวก ก็จะช่วยกระจายความร้อนและไขมันในร่างกายได้ดี ทำให้ร่างกายสามารถกักเก็บรักษาความอบอุ่นเอาไว้ ฉะนั้น หากโลหิตในร่างกายไหลเวียนไม่ดี เช่น จากภาวะโรคหลอดเลือดอุดตันตามตำแหน่งต่าง ๆ ก็จะขัดขวางการไหลเวียนของโลหิตไปยังมือและเท้า

นอกจากนี้ยังมี Raynaud’s Disease (โรคเรย์นอยด์) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เส้นเลือดบริเวณมือตีบ การไหลเวียนโลหิตไปหล่อเลี้ยงส่วนต่าง ๆ จึงไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้เกิดอาการชาและเย็นบริเวณนิ้วมือและนิ้วเท้าจนน่าตกใจ 

สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้เป็นที่มาว่าทำไมบางคนจึงหนาวง่ายกว่าคนอื่น และยังเป็นอาการเบื้องต้นที่บ่งชี้ได้ถึงสุขภาพโดยรวม หรืออาการของโรคที่แฝงตัวอยู่ มาดูกันว่ามีโรคอะไรที่เข้าข่ายสำหรับคนหนาวง่ายบ้าง

1. ภาวะโลหิตจาง (Anemia) คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดให้เพียงพอต่อการนำออกซิเจน ไปเลี้ยงเนื้อเยื่อส่วนต่าง ๆ ผู้ที่มีภาวะโลหิตจางจึงมักตัวซีดเซียว อ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะง่าย และมักพบว่ามีอาการหนาวง่ายพ่วงมาด้วย

2. เบื่ออาหาร (Anorexia) ความผิดปกติที่เกิดจากการรับประทาน นำไปสู่ภาวะสูญเสียไขมันในร่างกาย

3. อาการไทรอยด์ต่ำ (Hypothyroidism) คนที่มีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำหรือไม่เพียงพอ มักหนาวง่าย บางรายอาจผิวแห้ง อ้วนง่าย ท้องผูก และประจำเดือนมาไม่ปกติร่วมด้วย

4. ความผิดปกติของหลอดเลือด เป็นภาวะที่หลอดเลือดหดตัวได้ง่ายกว่าปกติ อาการที่สังเกตได้คือ ปลายมือและปลายเท้าเย็นง่ายกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว หรือ การอยู่ในห้องที่มีอากาศเย็น บางรายอาจรู้สึกปวดตามปลายมือ และ ปลายเท้า

สัญญาณของอาการหนาวง่ายที่สังเกตได้ชัด เช่น รู้สึกหนาวอยู่ตลอดเวลา มือเท้าเย็นเฉียบ ในขณะที่คนรอบข้างกลับรู้สึกร้อนหรืออาจไม่ได้รู้สึกหนาวแม้แต่น้อย

5. ความผิดปกติของ Hypothalamus เพราะสมองส่วนนี้มีหน้าที่ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายโดยเฉพาะ สำหรับคนหนาวง่าย จึงมีความเป็นไปได้ว่า Hypothalamus อาจทำงานผิดปกติ

6. โรค Fibromyalgia (ไฟโบรมัยอัลเจีย) ถือว่าเป็นโรคใหม่ที่พบได้ประมาณ 4 ใน 100 คน ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ เส้นเอ็นตามจุดต่าง ๆ ความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากความไวต่อการรับรู้ความรู้สึกเจ็บปวดที่มากกว่าคนปกติ เช่น หากถูกกระตุ้นการเจ็บปวดเพียงเล็กน้อย ก็จะทำให้เจ็บปวดมาก ในขณะที่คนปกติเมื่อถูกกระตุ้นอาจไม่เจ็บปวดเลย ปัจจุบันยังพบว่าโรคไฟโบรมัยอัลเจียอาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีหลายชนิดในระบบประสาท

7. คนที่รูปร่างผอมและน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เพราะคนผอมมักจะมีไขมันในร่างกายน้อย ทำให้เกิดอาการหนาวง่ายกว่าปกติได้เช่นเดียวกัน


อย่างไรก็ตาม อาการหนาวง่ายไม่ได้ถือว่าเป็นโรค เพียงแต่เป็นอาการหนึ่งซึ่งเกิดจากความเจ็บป่วยที่แฝงอยู่ในร่างกาย การรักษาจึงขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ว่าเกิดจากสาเหตุใด และรักษาไปตามสาเหตุนั้น อาทิ หากเกี่ยวกับโรคโลหิตจาง ต้องเสริมด้วยธาตุเหล็ก 

หากเป็นคนผอม น้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไป ควรเน้นรับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันชนิดดี หากเบื่ออาหารควรไปพบแพทย์ เพื่อรักษาอาการเฉพาะหรือให้คำแนะนำด้านโภชนาการควบคู่ไปกับคำแนะนำจากจิตแพทย์ เป็นต้น

สำหรับคนที่รู้ตัวว่าหนาวง่าย หนาวจนมือเท้าเย็น หนาวจนตัวสั่นปากซีด วิธีป้องกันเบื้องต้นทำได้โดยการสวมใส่เสื้อผ้าหนา ๆ หลายชั้น สวมหมวก ผ้าพันคอ ถุงมือ ถุงเท้า ฯลฯ เพื่อเพิ่มความอบอุ่นให้ร่างกาย นอกจากนี้ ควรดื่มน้ำอุ่น และรับประทานอาหารบางชนิดที่ช่วยเพิ่มความอบอุ่นให้แก่ร่างกาย เช่น น้ำขิง ซุปฟักทอง อาหารรสเผ็ด ฯลฯ 

หนาวง่ายไม่ใช่เรื่องอันตราย แต่หากรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาอย่างถูกวิธี