ปิ๊ง! ชั่วขณะที่ไอเดียดี ๆ ถือกำเนิดขึ้นท่ามกลางปัญหาที่ประดังเข้ามาในรูปแบบของมอนสเตอร์ตัวน้อยก่อกวนชีวิต เราจึงเปรียบเหมือนนักผจญภัยที่ในช่วงแรกยังคงเป็นเพียงนักเดินทางที่มีค่าประสบการณ์น้อย การจะต่อสู้กับพวกมอนสเตอร์เหล่านั้นได้ ต้องอาศัยค่าประสบการณ์ และพัฒนาศัสตราวุธ 

แต่อย่างน้อยแรงบันดาลใจในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ หรือการสร้างอาวุธไว้ต่อกรกับเหล่าปัญหาต่าง ๆ นั้น นับเป็นเรื่องท้าทายบนเส้นทางการผจญภัยที่ได้เริ่มต้นขึ้นของนักพัฒนา ซึ่งทำได้ไม่ยากและสำเร็จได้จริง ยิ่งในโลกปัจจุบันที่ข้อมูล ความรู้ และประสบการณ์ต่าง ๆ ถูกแบ่งปันกันผ่านโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้ความคิดและไอเดียถูกจุดประกายและ ต่อยอดได้อย่างไม่รู้จบ อีกทั้งยังมีเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนเหล่า นักพัฒนาให้ผลิตไอเดียออกมาเป็นผลงานรูปธรรมที่จับต้องได้ง่ายขึ้น จนสามารถนนำมาทดลองใช้งานกับปัญหาได้จริง โดยอาศัยเพียงเหล่าผู้กล้านักพัฒนากลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น 

ทว่า กำแพงที่กั้นโลกของ สิ่งประดิษฐ์ต้นแบบกับผลิตภัณฑ์นวัตกรรม นั้น กลับสูงเกินกว่าที่จะก้าวข้ามผ่านได้ด้วยการเดินทางในรูปแบบเดิม เหล่าผู้กล้านักพัฒนาจึงไม่มีโอกาสนำอาวุธมาใช้งานหรือเสริมศักยภาพ ทั้งที่มีโอกาสพัฒนาให้เป็นสุดยอดผลงานนวัตกรรมที่จะสร้างประโยชน์อย่างมหาศาลแก่องค์กรได้ นี่คือ 4 เคล็ดลับการอัปเกรดอาวุธธรรมดา (สิ่งประดิษฐ์ต้นแบบ) ให้กลายเป็นสุดยอดอาวุธในตำนาน (นวัตกรรม) 


หนุ่มออฟฟิศสวมแว่นกำลังใช้มือถือถ่ายภาพสามมิติของสิ่งประดิษฐ์บนหน้าจอ

ส่องความจริง 

ก่อนอื่นต้องแยกให้ออกระหว่าง สิ่งประดิษฐ์ต้นแบบกับนวัตกรรม คำว่า ‘นวัตกรรม’ ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายในหน่วยงานธุรกิจ และถูกใช้เยอะเสียจนทำให้เหล่านักพัฒนาอาจสับสนระหว่าง ต้นแบบของสิ่งประดิษฐ์ และปลายทางการพัฒนาอย่างการสร้างนวัตกรรม (Innovation) ซึ่งหากมองพลาดระหว่าง 2 อย่างนี้จะทำให้การวางเส้นทางสู่เป้าหมาย และขั้นตอนการพัฒนาผิดพลาด 

นวัตกรรม คุณสมบัติเด่นชัดที่สุดคือต้องสร้างผลกระทบต่อสังคม และสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นั่นหมายความว่า ผลงานนั้นจะต้องได้รับการยอมรับและนำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย จนทำให้พฤติกรรมของคนในหน่วยงาน ในสังคม เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น สะดวกสบายขึ้น 

หากใช้คำเรียกผลงานผิดไป ส่งผลให้ชุดความคิด (Mindset) คลาดเคลื่อน จนนักพัฒนาเข้าใจว่า ผลงานต้นแบบนั้นคือนวัตกรรม อันเป็นจุดมุ่งหมายปลายทางของเส้นทางการผจญภัย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วการเดินทางเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น


ก้าวข้ามกับดัก 

ภาพมือของผู้ชายและผู้หญิงกำลังถืออุปกรณ์และช่วยกันทำสิ่งประดิษฐ์บางอย่าง

หน่วยงานขนาดใหญ่ปลุกพลังที่หลับใหลของเหล่านักเดินทางให้ตื่นขึ้น เพื่อให้กลายเป็นนักพัฒนาได้ด้วยการจัดการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในวิธีการสร้างแรงจูงใจ ช่วยกระตุ้นให้หันมาสนใจการพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์ผลงานเข้าประกวดชิงรางวัล การสร้างความท้าทาย และการแข่งขันล้วนเป็นแรงผลักดันให้นักพัฒนามีโอกาสเพิ่มคุณค่าและประโยชน์ของผลงานสิ่งประดิษฐ์อย่างสุดความสามารถ 

ทว่าเหรียญย่อมมี 2 ด้านเสมอ การจัดการประกวดผลงานสิ่งประดิษฐ์นั้นอาจกลายเป็นดาบสองคมได้ เพราะส่วนใหญ่ผลงานสิ่งประดิษฐ์ยังอยู่ในช่วงต้นแบบที่พัฒนา และเพิ่งทดลองใช้งานได้ไม่นาน เหมือนเป็นการประชันกันด้านไอเดียในการออกแบบสิ่งประดิษฐ์ เพื่อตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้น หรือเพิ่มศักยภาพการทำธุรกิจของหน่วยงานมากกว่า ต่อเมื่อผลงานนั้นได้ใช้งานกันอย่างแพร่หลายเป็นวงกว้าง และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จึงจะนับว่าผลงานสิ่งประดิษฐ์นั้นเป็นนวัตกรรม 

นอกจากนี้ การประกวดมักมุ่งความสนใจที่ผลงานสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ จึงเป็นการตัดตอนผลงานที่ควรจะเติบโตต่อไปเป็นนวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพในอนาคต เพราะเหล่าผู้พัฒนาตัดสินใจทิ้งสิ่งประดิษฐ์ต้นแบบที่เคยทำไว้ มองข้ามกระบวนการพัฒนาต่อยอดและขยายผล เพื่อหันไปพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ไว้เข้าร่วมการประกวดครั้งต่อไปแทน


ผู้ชายกำลังดูภาพจำลองของรถยนต์

เหล่านักพัฒนาผู้กล้าจำเป็นต้องกลายเป็นนักขายที่รู้จักนำเสนอประโยชน์จากผลงานพัฒนาของตัวเองให้ผู้อื่นได้เห็น และยอมรับเพื่อนำไปใช้งาน สิ่งเหล่านี้คือกำลังใจ และ เป็นแรงจูงใจที่ทำให้ยังยืนหยัดมุ่งมั่นพัฒนาผลงานต่อไป อีกทั้งความคิดเห็นจากผู้ใช้งานจริงยังเป็นฟีดแบ็กสำคัญที่นำไปพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นไปอีก

ค้นหาผู้เชี่ยวชาญ 

หากมองการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ต้นแบบเป็นกระบวนการผลิตความคิดออกมาเป็นรูปร่าง ที่ตอบสนองต่อความต้องการด้านการทำงาน หรือที่เรียกว่า Functionality โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงคุณสมบัติอื่น ๆ มากนัก แต่การต่อยอดไปสู่การสร้างผลิตภัณฑ์ที่ต้องพัฒนาให้มีคุณลักษณะเด่นด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ได้แก่ คุณภาพของผลงาน ความปลอดภัยในการใช้งาน การออกแบบผลิตภัณฑ์ งานด้าน Artwork และอื่น ๆ ตามแต่จุดมุ่งหมายของการพัฒนานั้น ถือเป็นกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ซึ่งก็คือการแปลงโฉมผลงานต้นแบบให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิต และ นำไปใช้งานได้ง่ายนั่นเอง ซึ่งกระบวนการนี้จำเป็นต้องอาศัยผู้รู้ที่มีทักษะเป็นเลิศในหลากหลายด้านมาช่วยในกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development) 

เมื่อมาถึงจุดนี้แล้ว นักพัฒนาจากที่เคยเป็นผู้พัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเองในตอนแรกเริ่ม ก็เปลี่ยนบทบาทมาเป็นคอนดักเตอร์ผู้ควบคุมทิศทางการบรรเลงของวงออร์เคสตรา มากกว่าที่จะเป็นนักดนตรีโซโลเหมือนที่เคยเป็น


ประกาศนเสนอผลงาน 

กระดาษที่มีภาพของสิ่งประดิษฐ์วางอยู่บนโต๊ะ และมีมือคนกำลังจะคลี่ม้วนกระดาษอยู่ข้างๆ

สิ่งสุดท้ายที่จะเปลี่ยนสิ่งประดิษฐ์ให้กลายเป็นนวัตกรรมที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ ก็คือการนำไปใช้งานในวงกว้างให้ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากสำหรับหน่วยงานขนาดใหญ่ ในการทำให้เป็นที่รู้จัก และเชิญชวนให้คนหันมาใช้งานผลงานเหล่านั้นทั้งยังต้องอาศัยเวลาที่จะชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากผลงานนั้นอีกด้วย 

เมื่อมาถึงจุดนี้ เหล่านักพัฒนาผู้กล้าจำเป็นต้องกลายเป็นนักขายที่รู้จักนำเสนอประโยชน์จากผลงานพัฒนาของตัวเองให้ผู้อื่นได้เห็น และยอมรับเพื่อนำไปใช้งาน สิ่งเหล่านี้คือกำลังใจ และเป็นแรงจูงใจที่ทำให้ยังยืนหยัดมุ่งมั่นพัฒนาผลงานต่อไป อีกทั้งความคิดเห็นจากผู้ใช้งานจริงยังเป็นฟีดแบ็กสำคัญที่นำไปพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้นไปอีก 

เส้นทางการผจญภัยในโลกของนักพัฒนาที่เริ่มต้นจากสิ่งประดิษฐ์ต้นแบบเพื่อก้าวไปสู่การเป็นนวัตกรรมนั้น มีความท้าทายในแต่ละช่วงเวลา (Phase) ของการพัฒนา และยังต้องเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนบทบาทของตัวเองไปตามสถานการณ์ จากนักพัฒนาไปเป็นผู้จัดการผลงาน เป็นนักขาย และนักการตลาด ซึ่งล้วนต้องอาศัยการสั่งสมประสบการณ์ และระยะเวลาที่จะพิสูจน์ความสำเร็จของผลงาน แม้ไม่มีใครการันตีผลลัพธ์ปลายทางได้ แต่อย่างน้อยก็ยังดีกว่าปล่อยให้กลายเป็นเพียงแค่คำบอกเล่ากันว่าครั้งหนึ่งเคยมีนักประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์ผลงานขึ้นมาจากไอเดียของตัวเอง แต่ตอนนี้ผลงานนั้นได้หายไปอย่างไร้ร่องรอยเสียแล้ว

เรื่องโดย ณัฐวร พัฒนาค