Grid Brief

  • ในอีก 10 ปีข้างหน้า หน้าดินราว ๆ 5 ล้านไร่ในอเมริกาจะกลายเป็นฟาร์มโซลาร์เซลล์
  • โครงการ InSPIRE มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้หน้าดินในฟาร์มโซลาร์เซลล์เพื่อให้กระทบต่อพืชและสัตว์ท้องถิ่นให้น้อยที่สุด
  • InSPIRE พยายามปลูกฝังแนวคิดสร้างนวัตกรรมพลังงานแก่เด็ก ๆ ด้วยตัวต่อเลโก้

Rob Davis เป็นผู้อำนวยการศูนย์ผู้ผสมเกสรในรัฐมินเนโซตา ส่วน Jordan Macknick เป็นนักวิเคราะห์แห่งห้องปฏิบัติการพลังงานหมุนเวียนสหรัฐ (NREL) ทั้งสองจับมือกันก่อตั้งโครงการ InSPIRE ที่เปลี่ยนโซลาร์ฟาร์ม 30 แห่งทั่วสหรัฐอเมริกาให้กลายเป็นพื้นที่วิจัยผลกระทบของแผงโซลาร์เซลล์ที่มีต่อสุขภาพดิน น้ำ พืชและสัตว์ในท้องถิ่น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารและต้นทุนการผลิตพลังงานแก่มนุษย์ไปด้วย 

ทั้งสองเป็นคุณพ่อที่มีลูกวัยกำลังซน จึงเล็งเห็นว่าความรู้ที่ได้จากการวิจัยนี้ ถ้าให้ผู้ใหญ่รับรู้ได้ก็จะดี แต่จะดียิ่งขึ้นไปอีกถ้าทำให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องพลังงานและธรรมชาติอย่างสนุกสนาน ทั้งสองจึงทำ ‘ชุดฟาร์มโซลาร์’ เป็นตัวต่อเลโก้ (LEGO) ให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ผ่านการเล่น

แผงโซลาร์เซลล์ที่ดีต่อผึ้ง ต้นหญ้าและมนุษย์

มีการประเมินว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า สหรัฐอเมริกาจะอุทิศหน้าดินราว ๆ 5 ล้านไร่ไปกับการทำฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ เท่ากับว่าพื้นที่มหาศาลจะถูกใช้ไปเพื่อจุดประสงค์เดียวเท่านั้น ก็คือเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าให้กับมนุษย์ 

โครงการ InSPIRE จึงถือกำเนิดขึ้นเพื่อพัฒนาการทำฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีผลกระทบน้อย และยังช่วยพัฒนาคุณภาพของสิ่งมีชีวิตรอบ ๆ ฟาร์มโซลาร์เซลล์ด้วย เริ่มจากสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อย่าง ‘ผึ้ง’ ที่หากหายไปจะส่งผลสั่นสะเทือนไปทั้งโลกเลยทีเดียว 

Credit: Terry Lavy

การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ปิดคลุมพื้นที่มาก ๆ นั้นจะต้องปรับหน้าดิน ถอนทำลายวัชพืชรากลึกต่าง ๆ เสียก่อน ซึ่งเท่ากับไปทำลายความอุดมสมบูรณ์ของดินชั้นแรก ทำให้เมื่อติดตั้งแล้วก็จะมีแต่กรวดและหญ้าขึ้นใต้แผงโซลาร์เซลล์ แต่วิธีการติดตั้งของ InSPIRE นั้นพัฒนามาจากการส่งคนเลี้ยงผึ้งและนักวิจัยลงพื้นที่ เพื่อติดตาม ‘การเยี่ยมเยียน’ ของผึ้งและแมลงช่วยผสมเกสรในฟาร์มโซลาร์เซลล์ จนได้วิธีการติดตั้งที่ไม่ต้องปรับหน้าดินและไม่ต้องถอนหญ้า ทำให้วัชพืชต่าง ๆ ที่เคยขึ้นอยู่เดิมจะยังคงอยู่เช่นนั้นต่อไป ทำให้ผึ้งและแมลงอื่น ๆ ยังคงแวะเวียนมาผสมเกสรให้กับต้นไม้ท้องถิ่นอย่างที่เคยเป็นมา  

การไม่ปรับหน้าดินยังช่วยลดต้นทุนของฟาร์มโซลาร์เซลล์ไปได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์ การเก็บวัชพืชท้องถิ่นเอาไว้โดยไม่ถอนทิ้งนั้น ยังช่วยเพิ่มปริมาณการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ด้วย เนื่องจากอุณหภูมิอุ่นจะทำให้เซลล์ในแผงโซลาร์ด้อยประสิทธิภาพลง แต่ร่มเงาวัชพืชจะช่วยให้แผงโซลาร์เซลล์เย็นลง ส่งผลให้เพิ่มการผลิตพลังงานได้มากขึ้นนั่นเอง

โครงการ InSPIRE มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้หน้าดินในฟาร์มโซลาร์เซลล์เพื่อให้กระทบต่อพืชและสัตว์ท้องถิ่นให้น้อยที่สุด


ร่วมโหวตเลโก้ชุดฟาร์มโซลาร์เซลล์

LEGO ผลิตตัวต่อเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกหลายชุด อาทิ ชุดกังหันลม ชุดบ้านยุคใหม่มีหลังคาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ รวมทั้งชุดอวกาศที่มีแผงโซลาร์เซลล์แทรกอยู่ด้วย แต่ชุดตัวต่อฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์เดี่ยว ๆ นั้นยังไม่มี 

Credit: LEGO

ร็อบและจอร์แดนมีลูก ๆ ที่ชอบต่อเลโก้ จึงคิดว่าถ้าทำตัวต่อชุดฟาร์มโซลาร์เซลล์ออกมา ก็จะเป็นเครื่องมือให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้เรื่องพลังงานผ่านการเล่น ทั้งสองจึงช่วยกันออกแบบเลโก้ชุดฟาร์มโซลาร์เซลล์ 375 ชิ้นที่เป็นมิตรต่อแมลงผสมเกสร มีรังผึ้ง มีแกะกำลังเล็มหญ้า และมีวิศวรกรดูแลฟาร์ม  

นอกจากเด็ก ๆ จะได้เรียนรู้เรื่องพลังงานแสงอาทิตย์แล้ว ยังได้เรียนรู้เรื่องดิน น้ำ อาหาร ไปจนถึงความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศและอาชีพในแวดวงพลังงานทางเลือกอีกด้วย 

Credit: LEGO

LEGO เปิดโอกาสให้คนทางบ้านส่งไอเดียเข้าไปที่เว็บไซต์ https://ideas.lego.com/ และไอเดียไหนที่มีเสียงโหวตถึง 10,000 คะแนน ทางบริษัทจะนำไอเดียนั้น ๆ ไปพิจารณาเพื่อผลิตและวางจำหน่ายทั่วโลกต่อไป   

ร่วมลงคะแนนให้กับ ‘Solar Farm’ ชุดตัวต่อของคุณพ่อนักสร้างพลังงานทางเลือกได้ที่ https://ideas.lego.com/projects/433555d1-0c81-49eb-8689-5d2d315d87d8    

อย่าเพิ่งมองข้ามปฏิบัติการนี้ไป ไม่แน่ว่าเด็กที่นั่งต่อเลโก้ในวันนี้ อาจเติบโตขึ้นเป็นนักสร้างนวัตกรรมพลังงานคนต่อไปของโลกก็ได้ เหมือนที่นิยายเรื่อง The Hitchhiker’s Guide to the Galaxy ของ Douglas Adams จุดประกายให้ Elon Musk สนใจวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็ก ๆ และกลายมาเป็นนักสร้างรถพลังงานไฟฟ้า สร้างจรวดไปอวกาศ สร้างแบตเตอรีเก็บพลังงาน และเป็นนักลงทุนด้านนวัตกรรมคนสำคัญของโลก