Grid Brief

  • การทำประกันชีวิตนอกจากเพื่อบริหารความเสี่ยงแล้ว ยังถือเป็นการบริหารเงินในอนาคตทางอ้อมด้วย
  • ถ้าอายุประกันขาดลองมาดูวิธีการต่ออายุกรมธรรม์ พร้อมตรวจสอบสิทธิ์ที่ควรรู้จากกองทุนประกันชีวิต

ปัจจุบันการทำประกันชีวิตกลายเป็นทางเลือกในการบริหารความเสี่ยงและเป็นการเก็บเงินอีกวิธีหนึ่งไปแล้ว แต่ถ้าไม่มีการคำนวณค่าใช้จ่ายในระยะยาวเอาไว้  ก็อาจเกิดปัญหาผิดนัดชำระค่าเบี้ยประกันขึ้นมาได้เช่นกัน แต่ก่อนอื่นควรทราบก่อนว่าประกันชีวิตสำคัญแค่ไหน แล้วจำเป็นหรือไม่ที่ต้องซื้อประกัน หรือใครที่มีประกันชีวิตอยู่แล้วแต่เกิดเหตุจำเป็นให้ไม่สามารถส่งเบี้ยประกันต่อได้ ควรจะต้องหาทางออกอย่างไร เรามีคำตอบมาฝากกัน

1. ทำไมต้องซื้อประกัน

เดิมการซื้อประกันอยู่บนพื้นฐานเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งจากการทำงาน เช่น ต้องเดินทางบ่อย จากปัญหาสุขภาพ เช่น มีโรคประจำตัว กรรมพันธุ์ หรือจากภาระที่ต้องรับผิดชอบ เพราะเป็นหัวหน้าหลักของครอบครัว เป็นต้น แต่ในปัจจุบัน อีกสาเหตุที่ทำให้การซื้อประกันเป็นที่นิยมมากขึ้น คือ เพื่อบริหารความเสี่ยงด้านการเงินที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ยิ่งถ้าเริ่มทำประกันตอนอายุยิ่งน้อยเบี้ยประกันก็ยิ่งถูก เพราะความเสี่ยงในการเป็นโรคน้อย เท่ากับเป็นการออมเงินทางอ้อม ทั้งเพื่อสร้างความมั่นคงสำหรับผู้เอาประกันที่อายุน้อย และเป็นเงินสำรองสำหรับการเกษียณอายุได้เช่นกันสำหรับผู้เอาประกันที่มีอายุมาก

2. ตั้งคำถามและตอบตัวเองให้ชัดก่อนซื้อ

คำถามที่ว่านี้ได้แก่ จะซื้อเพื่อใคร หรือ ซื้อเพื่ออะไร เช่น เพื่อออมเงินและป้องกันความเสี่ยงของสมาชิกครอบครัวหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ถ้าซื้อแล้วต้องสำรวจกำลังทรัพย์ให้ดี เพราะการส่งเบี้ยประกันส่วนใหญ่จะเป็นภาระผูกพันต่อเนื่อง 10-20 ปี หรือเลือกจ่ายเบี้ยตามศักยภาพของการชำระเงิน เช่น รายเดือน 3 เดือน 6 เดือน หรือรายปี เพราะหากหยุดจ่ายเบี้ยจะทำให้ประกันขาดและเสียผลประโยชน์ได้ 


3. อย่าใจอ่อนทิ้งกรมธรรม์ประกัน

เบื้องต้นอายุการต่อประกันจะอยู่ภายใน 31 วันหลังจากวันที่ต้องครบกำหนดชำระ ยิ่งในช่วงที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงในอาชีพการงานและรายได้ อาจทำให้ชักหน้าไม่ถึงหลังบ้าง แต่ก็อย่าใจอ่อนทิ้งกรมธรรม์ไป เพราะหากใคร่ครวญดีแล้วว่าจำเป็นต้องตัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไป ก็สามารถขอเงินสดคืนได้ตามเงื่อนไขการเวนคืนก่อนกำหนดที่แนบอยู่ท้ายกรมธรรม์ แต่ถ้าอยากให้สิทธิ์ประกันคงอยู่ มีทางออกให้ลองเลือกดู เช่น เปลี่ยนเวลาชำระเบี้ย พร้อมขอจ่ายเงินต่องวดที่ลดลง หรือขอกู้เงินตามกรมธรรม์มาจ่ายเบี้ย แต่ต้องยอมเสียดอกเบี้ยเงินกู้ตามที่เงื่อนไขระบุไว้ หรือขอลดทุนประกันให้เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจของผู้เอาประกัน หรือไม่ก็ยกเลิกสัญญาบางรายการไป หรือเปลี่ยนแบบประกันเพื่อขอใช้สิทธิการขยายระยะเวลาเอาประกันภัยออกไป

4. InsurTech เข้ามาช่วยตอบโจทย์ให้ตรงจุดและเป็นระบบ

InsurTech คือธุรกิจประกันที่นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เอาประกัน โดยเข้ามาช่วยให้ทุกอย่างเป็นระบบมากขึ้น เพราะสามารถประเมินผลจากข้อมูลที่มีอยู่จริง เป็นการช่วยวิเคราะห์และประมวลผลให้ตอบโจทย์ผู้ต้องการซื้อประกันที่ตรงจุด ซึ่งต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา การซื้อประกันส่วนหนึ่งมาจากคนใกล้ชิดและสนิมสนมเป็นหลักมากกว่าความต้องการที่แท้จริง จนบางครั้งทำให้สัญญาหรือข้อตกลงบางอย่างไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่แท้จริงในการซื้อประกัน


5. อย่าลืมตรวจสอบสิทธิ์ตัวเอง

สำหรับผู้เอาประกันที่บางครั้งอาจมีเหตุขาดการต่อประกัน จนทำให้ล่วงพ้นอายุความตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุย้ายที่อยู่แล้วไม่ได้แจ้งบริษัทประกัน ทำประกันชีวิตไว้แต่ไม่ได้แจ้งผู้รับประโยชน์ หรือไม่มีการกำหนดทายาท เมื่อเสียชีวิตลงจึงไม่มีใครรู้และไม่ได้ไปขอรับเงินจากบริษัท ทำให้กรมธรรม์ขาดความคุ้มครอง และที่สำคัญคือไม่รู้ว่ากรมธรรม์มีมูลค่าเงินสดเหลืออยู่ จึงอยากให้ผู้เอาประกันตระหนักสิทธิ์ของตัวเองว่า หากมีการซื้อประกันชีวิตอย่างเสร็จสมบูรณ์ มีสิทธิ์ที่จะขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันชีวิตที่เพิ่งทำได้ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ลงนามในเอกสารรับมอบกรมธรรม์ ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบสิทธิ์อื่น ๆ ได้ที่กองทุนประกันชีวิต หรือที่เว็บไซต์ http://lifeif.or.th