เช้าวันเสาร์ปลายเดือนกุมภาพันธ์ พวกเราออกเดินทางจากกรุงเทพมุ่งหน้าทิศอีสาน จุดหมายปลายทางอยู่ในอำเภอปากช่อง ฝั่งเขาใหญ่ ชายขอบอำเภอมวกเหล็กพอดี เรามีนัดกับ “ป้าต้อม” เจ้าของพื้นที่ที่ท่านมีความสนใจเรื่องการดูนก และได้ทำ “บ่อน้ำ-บ่อนก” ไว้ให้หมู่มวลปักษีประจำถิ่นและพลัดถิ่นได้มาแวะเติมความสดชื่น 

นกจับแมลงอกส้มท้องขาว (Tickell’s Blue Flycatcher) เพศผู้เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อย

นกจับแมลงอกส้มท้องขาว (Tickell’s Blue Flycatcher) เพศเมีย

ช่วงปลายฤดูหนาวของทุกปี เหล่านกอพยพหลากหลายชนิดจะเดินทางขึ้นเหนือเพื่อกลับไปยังถิ่นอาศัยหลัก ซึ่งอาจจะอยู่ไกลถึงประเทศรัสเซียกันเลยทีเดียว โดยส่วนใหญ่ก็จะเดินทางผ่าน “เขาใหญ่” ซึ่งมีพื้นที่ป่าที่สมบูรณ์ขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งเก็บเกี่ยวอาหารที่ดีก่อนเดินทางไกล และด้วยอากาศที่เริ่มร้อนแตะ 33-34 องศาเซลเซียสในช่วงบ่ายของวัน นกหลายชนิดก็จะแวะมาใช้บริการ “บ่อน้ำ-บ่อนก” ของป้าต้อม เพื่อดื่มน้ำดับกระหายและอาบน้ำคลายร้อนกัน เราก็พลอยเก็บภาพเค้าไปด้วย

นกปรอดเหลืองหัวจุก (Black-crested Bulbul) ชนิดย่อย johnsoni
เป็นนกประจำถิ่น อยู่ในภาคตะวันออกและอีสานตอนใต้
นกกระเบื้องคอขาว (White-throated Rock-Thrush) เพศเมีย เป็นนกอพยพ พบไม่บ่อย
นกบั้งรอกใหญ่ (Green-billed Malkoha) เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อยมาก
นกเขนน้อยไซบีเรีย (Siberian Blue Robin) เพศผู้ เป็นนกอพยพ พบบ่อย
นกเขนน้อยไซบีเรีย (Siberian Blue Robin) เพศเมีย
นกกางเขนดง (White-rumped Shama) เพศผู้ เป็นนกประจำถิ่น พบบ่อย

การเก็บภาพ “ปักษีเริงชล” ในครั้งนี้ เราต้องนั่งรอกันในบังไพรตั้งแต่เก้าโมงเช้าไปจนถึงห้าโมงเย็น นั่งกันอย่างจดจ่อ รอคอยว่าจะได้ยลโฉมผู้ใช้บริการชนิดไหนบ้าง ซึ่งผลการประกอบการไม่เลวนัก มีนกมาใช้บริการสิบกว่าชนิด ราวครึ่งหนึ่งเป็นนกอพยพที่กำลังเดินทางกลับบ้าน ก็เลยถือโอกาสอวยพรน้อง ๆ ในใจให้เดินทางกลับบ้านอย่างปลอดภัย และเจอะเจอกันใหม่หนาวหน้า ส่งท้ายฤดูหนาวอย่างเป็นทางการตามประกาศของกรมอุตุนิยมวิทยา “26 กุมภาพันธ์ 2564” อย่างมีความสุขกับภาพในฮาร์ดดิสก์ที่เพิ่มขึ้นมาอีกเกือบพันภาพ

ข้อมูลการถ่ายภาพ

  • กล้อง Canon EOS R6 
  • เลนส์ Canon RF 800mm F11 IS STM
  • ขาตั้งกล้อง

เรื่องและภาพถ่ายโดย จุลล์ จูงวงศ์