ภูมิประเทศอันงดงามของอำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ที่โอบล้อมเราไว้ในยามเช้า ผืนนาต้นฤดูฝนเห็นเป็นหย่อมสีเขียวจากการเริ่มปักดำ ขณะไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลังที่แผ่ผืนไปตามลาดเนินมองเห็นเป็นภาพเพลินตายามลมพัดใบให้พลิ้วไหว หมู่เขาหินปูนหลายรูปทรงนั่นก็อีก ที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงของผืนแผ่นดินในอดีตกาลผ่านการยกและยุบตัว หรือการเป็นทะเลโบราณมาตั้งแต่ยุคที่ไดโนเสาร์ยังคืบคลาน

บ้านไร่บ้านสวนที่ในอดีตเคยเป็นส่วนหนึ่งของอำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น เติบโตจากวันที่บรรพบุรุษของพวกเขาเลือกเดินทางมาถึงที่นี่ราว 60 ปีก่อน พลิกฟื้นผืนดินและลงหลักปักฐาน ชีวิตเกษตรกรไม่ได้โรแมนติกเหมือนในทฤษฎี แต่การดิ้นรนทนสู้กับดินฟ้าอากาศกลางแวดล้อมของขุนเขาห่างไกลความเจริญในอดีต ก็ทำให้คนใน 10 ตำบลของอำเภอสีชมพูมีหนทางหยัดยืน 

ผู้คนต่างที่ต่างทางของอำเภอสีชมพูในยุคต่อมาก็เช่นกัน มีหลายต่อหลายบ้านที่ปู่ย่าของพวกเขาคืออดีตผู้เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในเขตพื้นที่ต่อเนื่องระหว่างเพชรบูรณ์ เลย ขอนแก่น หลังปี พ.ศ. 2523 ที่สงครามอุดมการณ์สงบลง หลายคนลงจากป่ามาปักหลักที่ดงลานเนิ่นนานกว่า 40 ปีแล้ว

หลักฐานทางประวัติศาสตร์พอจะบ่งบอกอดีตของที่นี่ไว้ได้บ้าง ราวปี พ.ศ. 2118 ที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงนำกองทัพไปช่วยพม่าตีเวียงจันทน์ ครั้นเคลื่อนทัพมาถึงแดนดินแห่งนี้ พระองค์ประชวรกะทันหัน จึงได้ประทับแรมใต้ต้นหว้าสีชมพู ที่ต่อมามีชาวบ้านไปตั้งบ้านเรือนแถบที่พระองค์ทรงเคยประทับ พวกเขาตั้งชื่อหมู่บ้านว่าสีชมพู และจากการเทียบเคียงในเส้นทางการเดินทัพของพระองค์ มีการเคลื่อนผ่านบ้านสารจอด ซึ่งก็คือหมู่บ้านหนึ่งในตำบลซำยางของอำเภอสีชมพูในปัจจุบัน ก็พอบ่งบอกได้ว่า แผ่นดินของพวกเขาเคยมีผู้คนตั้งถิ่นฐานอาศัยมาแต่โบร่ำโบราณ

โลกของภูเขาและความงดงามพาเราขึ้นไปด้านบนของ วัดป่าผาน้ำเที่ยง ก่อนไต่ลัดบันไดขึ้นไปตามแนวผาสูง ทริปขึ้นเขาของ “กลุ่มเที่ยววิถีสีชมพู” กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ทำงานด้านการท่องเที่ยวสมาร์ต ๆ พามุดลอดป่ายปีนไปตามหลืบถ้ำที่ฉุนกึกด้วยขี้ค้างคาว สำหรับชาวบ้าน มันคือของมีค่าที่พวกเขาเดินเท้าขึ้นมานำไปทำปุ๋ยไว้รดผักในสวน

ที่ราบอันบรรจุเต็มด้วยวิถีชีวิตของคนอำเภอสีชมพู โดยเฉพาะในเขตตำบลดงลาน ตั้งอยู่ในโอบล้อมของภูผาม่าน ภูกระดึง และอยู่ด้านหลังภูเวียง ปราการธรรมชาติใหญ่โตกลายเป็นวิวให้เรามองขุนเขาได้ ทุกทิศทางเมื่อมาอยู่ที่นี่ วัดถ้ำแสงธรรม ก็เช่นกัน ที่เป็นภูเขาลูกโดด มีฟอสซิลสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์แทรกซ่อนอยู่ในชั้นดินชั้นหิน บ่งบอกความเป็นทะเลโบราณของผืนแผ่นดินอีสานก่อนการโก่งและยุบตัว ทางธรณีวิทยา เราไต่ลัดตามบันไดไปสู่ชั้นทั้งเจ็ดของวัด แต่ละวิว คือภาพเพลินตา

โลกแลนด์สเคปของอำเภอสีชมพูดูงดงามที่หมู่บ้านซำจำปา ขณะที่ บางแห่ง คนรุ่นต่อมาก็เปลี่ยนแปลงบ้านไร่ให้ยิ่งมีเสน่ห์

ทุ่งดอกคอสมอสห่มคลุมสีชมพู แดง บานเย็น ไล่เฉดสีกลางแดดเช้า ทางเดินไม้ยกระดับพาดผ่านไปท่ามกลางความงดงาม ไร่ภัทรา วรินทร์ Café & Camp ที่บ้านซำขาม เป็นเหมือนแหล่งท่องเที่ยวประเภทเดินเล่นถ่ายรูป แต่เรื่องราวในความตั้งใจของวรรณศิริ สีนามบุรี ที่บ่ายหน้ากลับมาอยู่บ้านเกิดของเธอนั้น กินความหมาย ไปลึกกว่านั้น

ลึกลงไปในพืชพรรณ ผืนดิน รวมไปถึงชีวิตตามท้องไร่ท้องนาที่ หล่อหลอมเธอมาแต่เด็ก

“เรากลับมาอยู่บ้านก็เพราะอยากทำเกษตรนี่ล่ะค่ะ แต่คิดว่าจะทำอย่างไรให้ไม่ต้องวนเวียนอยู่กับหนี้สินและการผูกขาดราคาแบบเดิม ๆ เหมือนที่คนรุ่นพ่อแม่เราเจอ” ฟังดูโรมานซ์ แต่เธอก็แลกมันมาด้วยหยาดเหงื่อ จากไร่อ้อยและนาข้าว เธอเลือกมองมันใหม่ เศรษฐกิจหมุนเวียนถูกตีความออกมาในพืชพรรณและการจัดการพื้นที่ ปลายแปลงดอกไม้เธอลงสวนมะละกอเอาไว้ และคิดเปลี่ยนเวียนพืชผล สลับไป ลานหน้าบ้านจัดการอย่างดีสำหรับเป็นลานแคมป์ให้คนรักชีวิตกลางแจ้ง หรือจัดงานดนตรีเฟสติวัลต่าง ๆ

พื้นที่เพาะปลูกเก่าแก่ของคนอำเภอสีชมพูถูกส่งต่อและตีความใหม่กันหลายบ้าน ที่ตำบลบริบูรณ์ ดงกุหลาบหลากสีเรียงรายในตรงลานดินของ สุกัญญา พรมทอง และสวนดอกไม้ของเธอที่ชื่อ แพรวสวน เกิดขึ้นก็ด้วยเหตุผลของการอยากหนีออกจากวงจรเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างที่หลายคนพบเจอ

“โชคดีค่ะ ตรงนี้น้ำดี ดินดี เราปลูกดอกไม้ได้งาม” พื้นที่ในอำเภอสีชมพูนั้นมีหลากหลายรูปแบบ บางแห่งใกล้น้ำ บางที่เป็นโคกเนิน บางแห่งโชคไม่ดีนักก็เป็นดินดานแข็งกร้าวที่เพาะปลูกอะไรยากเสียหน่อย สุกัญญาเปลี่ยนไร่อ้อยเป็นสวนดอกไม้ เธอลงสลับกันไปทั้งกุหลาบ คัตเตอร์ หรือดอกสร้อยทอง โลกออนไลน์ทำให้ขั้นตอนการตลาด กลายเป็นเรื่องง่าย ไม้ตัดดอกของเธอส่งถึงมือผู้ค้ารายย่อยโดยไม่ผ่านคนกลาง

หลายต่อหลายคนบ่ายหน้ากลับจากเมืองหลวงอย่างช้ำชอก ชีวิตไกลบ้านนั้นเป็นฝันร้ายเสมอ หากเขาและเธอเดินทางไปพบกับหนทางที่เต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน

กระนั้นก็ตาม การกลับบ้านของพวกเขาก็ไม่ได้กินความถึงคำว่าพ่ายแพ้ แต่เป็นการกลับมาหาแผ่นดินผืนเดิม เพิ่มเติมและถางถากมันด้วย ริ้วรอยประสบการณ์ จนเมื่อดอกผลแห่งการงานผลิความหวานหอม ชีวิตตรงหน้าขุนเขาก็ควรค่าแก่การชื่นชม

บ้านไม้ใต้ถุนสูงก่อนถึง อบต.ดงลานวางตัวเองอยู่ริมทุ่งดอกดาวเรือง สีเหลืองสด มันถูกปรับเปลี่ยนให้ร่วมสมัยด้วยเฟอร์นิเจอร์สไตล์วินเทจ ภาพเขียนการ์ตูนประดับผนัง มุมนั่งเล่น และทางเดินไม้ไผ่ที่พาคน มาเยือนผ่านดงดอกไม้เข้าไปสู่ส่วนของเรือนโฮมสเตย์

วันที่เพลินจิตต์ เวชวงศ์ เลือกปรับบ้านไม้หลังสวยให้เป็นโฮมสเตย์ ยายตา at home เธอคงความตั้งใจเดียวกันกับน้อง ๆ หลายคนในหมู่บ้าน “อยากให้คนเห็นความงามของบ้านเราค่ะ ไม่ใช่แค่ภูเขา ทุ่งนา แต่อยากให้เห็นวิถีของเราด้วย” เรานั่งอยู่บนระเบียงชั้นสอง ช่างภาพสาละวนกับการถ่ายรูปแม่คำตา เสิกภูเขียว คุณแม่ของเธอ เราคุยกันอยู่นานท่ามกลางทิวทัศน์ขุนเขาที่มองได้ไม่รู้เบื่อ

“คนอำเภอสีชมพูมาจากหลายที่ค่ะ อย่างบ้านเรานี่มาจากชัยภูมิ แต่ ทุกวันนี้มันรวมกันไปหมดแล้ว พูดลาว งานบุญงานอะไรก็จัดกันแบบอีสานเหมือนกันหมด” เธอพาเราเดินดูบ้านโฮมสเตย์ที่อยู่ลึกเข้าไปตามสะพานไม้ไผ่ ที่ยายตา at home นี่เองที่ใช้เป็นจุดศูนย์กลางการทำงานของกลุ่มเที่ยววิถีสีชมพู

หนทางที่ขับเคลื่อนอำเภอสีชมพูไปในทุกวันนี้เชื่อมโยงระหว่างคุณค่าวัฒนธรรมในตัวปู่ย่ากับความเป็นคนที่หมุนเปลี่ยนไปตามโลกของพวกเขา เราไปถึง“บ้านสีฟ้า” เรือนไม้อีกหลังที่ “กลุ่มท่องเที่ยววิถีสีชมพู” ใช้รับนักท่องเที่ยวโฮมสเตย์ มันน่านอนชิลล์ ปล่อยดวงตาและความรู้สึกเพลิน ๆ เสียเหลือเกิน ขุนเขารูปทรงหยึกหยักเสียดตั้งหลังบ้าน วัดถ้ำแสงธรรมมองเห็นเป็นหย่อมสีเล็ก ๆ บนภูเขาเขียว

เราตั้งวงลิ้มลองอาหารพื้นบ้านกันสนุกสนาน ตำลาว ปิ้งปลา แกงหน่อหวาน ต้มไก่ จิ้มข้าวเหนียวในแจ่วบองเผ็ดร้อนหอมปลาร้า หยิบผัก ข้างรั้วมากินแนม ลองชิมหนอนใบไม้คั่วเค็ม ๆ มัน ๆ บางจานก็เป็น ผัดไทยเจ้าอร่อยของแม่สวาท บ้านผาน้ำเที่ยง มีหรือที่ในเมืองหลวง จะได้ลองลิ้มแบบถึงอารมณ์แบบนี้

หลังมื้อเที่ยงบ้านทุ่ง ไปถึงน้ำตกคอยนางที่ไหลเรื่อยรื่นเย็น เราเดินตามขวัญยืน เกตุหนู ศิลปินหนุ่มไปเก็บหินหลายก้อน หลากสี เขาขีดขูดมันเข้าด้วยกัน เพื่อผสมกับน้ำ เกิดเป็นสีธรรมชาติหลายโทน น้ำตาล ดำ น้ำเงิน เขียวทึบ พวกเขาจัดกิจกรรมพาเด็ก ๆ หรือนักท่องเที่ยวมา วาดภาพด้วยสีธรรมชาติอยู่บ่อย ๆ เป็นทริปที่ทำให้คนสนุกกับผืนป่า พืชพรรณ และภูเขาได้อย่างน่าสนใจและมีเสน่ห์

ที่ราบตรงรอยต่อของบ้านวังขอนแดงและบ้านหนองหญ้าปล้องในยามเย็นนั้นดูงดงามอย่างถึงที่สุด ผาสบนกและผาแม่มานวางตัวเหลื่อมกันนิดหน่อย ทอดยาวตรงใกล้เส้นขอบฟ้า ว่ากันว่าหลังฝนหมาดน้ำ หมอกขาวจะห่มคลุม ดูชื่นเย็นทว่าก็อบอุ่นอยู่ในที และนั่นคือห้วงยามที่อำเภอสีชมพูเต็มไปด้วยความงดงาม

สำหรับที่นี่ ถ้อยคำชวนฝันเช่นนี้มีอยู่จริง ไม่ใช่ในทฤษฎีอุดมคติ อันห่างไกล ไม่ใช่เรื่องราวเท่ ๆ ที่ล่องลอยอยู่ในโลกออนไลน์แต่เพียง อย่างเดียว

แต่ชัดเจนอยู่ในหัวใจและแววตาของผู้คนรุ่นต่อมาบนแผ่นดินเล็ก ๆ แห่งหนึ่งของภาคอีสาน

แผ่นดินที่พวกต่างหวังผลักดันให้ทิศทางของมันชัดเจนคงทน ทว่าก็พร้อมจะทะนุถนอมดูแลให้มันอ่อนหวานงดงามราวสีชมพู

Direction

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) ถึงสระบุรี แยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 2 (มิตรภาพ) ผ่านมวกเหล็ก ปากช่อง เมื่อไปถึงสีคิ้ว แยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านชัยภูมิ แก้งค้อ ภูเขียว จนไปบรรจบอำเภอชุมแพ จากนั้นแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 12 แล้วไปแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 228 ถึงอำเภอสีชมพู จากอำเภอสีชมพู แยกซ้ายเข้าถนนสายวังเพิ่ม-โนนหว้านไฟ ไปจนถึง อบต.ดงลาน พื้นที่ท่องเที่ยวของอำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น รวมระยะทางราว 488 กิโลเมตร

Eat & Stay

ยายตา at home ที่พักโฮมสเตย์บรรยากาศดีในแวดล้อมของสวนดอกไม้
โทรศัพท์ 08 5824 6176 / Facebook
: ยายตา at home

บ้านฟ้า โฮมสเตย์หลังเดี่ยวกลางทุ่งนา ด้านหลังติดวิวเขาหินปูนวัดถ้ำแสงธรรม โทรศัพท์ 09 5170 9289

ดอกปีบ ลอฟท์ รีสอร์ท รีสอร์ตเรียบง่าย สวย นอนสบาย เป็นส่วนตัว ที่อำเภอสีชมพู โทรศัพท์ 08 8573 0722 / Facebook : ดอกปีบ ลอฟท์ รีสอร์ท

ร้านตำเส้นแซ่บ ในตัวอำเภอสีชมพู ร้านขนมจีน ส้มตำ อาหารจานด่วนเจ้าอร่อย พร้อมโรตี ชา กาแฟโบราณ บรรยากาศริมทุ่งนา
โทรศัพท์ 09 0285 6514 / Facebook : ตำเส้นแซ่บ

Contact

กลุ่มเที่ยววิถีสีชมพู คุณอนุวัตร บับภาวะตา
โทรศัพท์ 09 5170 9289 / Facebook : เที่ยววิถีสีชมพู

เรื่องโดย ฐากูร โกมารกุล ณ นคร
ภาพถ่ายโดย อดุล ตัณฑโกศัย