เพียงชั่วโมงเศษจากสนามบินภูเก็ต เราก็เดินทางมาถึงท่าเทียบเรือของที่พักบนเกาะยาวน้อย เรือยังเทียบท่าไม่สนิทดี นก 2-3 ตัวก็บินมาปรากฏตัวให้เห็นแล้ว ทำเอาเปลี่ยนเลนส์แทบไม่ทัน

ภาพนกแก๊กขณะบิน ถ่ายโดยใช้ระบบโฟกัสแบบ Servo AF หรือการโฟกัสแบบต่อเนื่อง จากบริเวณท่าเทียบเรือ เราต้องแพนกล้องตามวัตถุให้ทัน แล้วกล้องจะหาโฟกัสและคำนวณค่าแสงให้อย่างต่อเนื่อง และสามารถกดปุ่มชัตเตอร์บันทึกภาพได้ในเวลาเดียวกัน

เกาะยาวน้อยตั้งอยู่ในพื้นที่ของอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา แต่การเดินทางที่น่าจะสะดวกที่สุดคือ บินไปลงภูเก็ต ออกจากสนามบินภูเก็ต มุ่งหน้าท่าเรือภูเก็ต ยอร์ช เฮเว่น มารีน่า (Phuket Yacht Haven Marina) ต่อเรือสปีดโบ๊ตที่ที่พักจัดไว้ให้ ใช้เวลาบนเรือประมาณ 45 นาที ชมท้องฟ้าสีครามและท้องทะเลสีเขียวมรกตไปเพลิน ๆ ลัดเลาะไปตามเกาะแก่งของจังหวัดพังงา ผ่านเกาะยาวใหญ่ ไปอีกนิดก็จะถึงที่พักของเราที่ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเกาะยาวน้อย

นกแก๊กเพศเมียในภาพนี้อยู่ห่างออกไปประมาณ 20 เมตร ถือกล้องถ่ายโดยไม่มีขาตั้งกล้อง ระบบกันสั่นทั้งในตัวเลนส์และในตัวกล้อง ช่วยลดการสั่นไหวให้ภาพที่เราถ่ายได้มากทีเดียว แต่หากใช้ขาตั้งกล้องร่วมด้วย อย่าลืมปิดระบบกันสั่น เพราะอาจทำให้ภาพเบลอได้

เกาะแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ทั้งทางบกและทางทะเล ซึ่งสิ่งดึงดูดหลักสำหรับทริปนี้ก็คือ “นกแก๊ก” (Oriental Pied Hornbill) หนึ่งในนกเงือก 13 ชนิดที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งใช้ชีวิตอยู่บนเกาะแห่งนี้อย่างกลมกลืนกับชาวบ้าน ราวกับเป็นหนึ่งในสมาชิกของชุมชนชาวเกาะยาวน้อยเลยทีเดียว

ภาพนกแก๊กคู่รักภาพนี้ถ่ายในช่วงเช้าจากระเบียงห้องพัก นกอยู่ห่างออกไปราว 40-50 เมตร แสงค่อนข้างน้อย ผมวางเลนส์ไว้บนราวระเบียง เพื่อลดการสั่นไหว ตั้งความไวแสงที่ ISO 12800 และเปิดระบบกันสั่นช่วยอีกทาง เราสามารถระบุเพศของนกแก๊กได้จาก “โหนก” ของมัน ตัวเมีย (ขวามือในภาพ) จะโหนกเล็กกว่า โหนกและปลายปากแต้มดำ

การอนุรักษ์นกเงือกบนเกาะยาวน้อยมีขึ้นมาหลายปีแล้ว ทำให้ประชากรของ “นกแก๊ก” เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มอนุรักษ์ฯ จะทำ “โพรงรังเทียม” ให้นกแก๊กตัวเมียได้เข้าไปวางไข่ เนื่องจากนกแก๊กไม่สามารถเจาะโพรงทำรังได้เอง ต้องอาศัยโพรงขนาดใหญ่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยมักเป็นโพรงบนต้นไม้ใหญ่ ซึ่งในปัจจุบันหาได้ยาก จึงต้องสร้างโพรงรังเทียมขึ้นเพื่อช่วยให้นกเงือกได้มีที่วางไข่

ภาพนกแก๊กคาบจักจั่นภาพนี้ถ่ายในช่วงเช้าจากระเบียงห้องพักอีกเช่นกัน การถ่ายภาพนกให้ออกมาดูดีมีชีวิตชีวา ต้องโฟกัสดวงตาให้คมชัด โชคดีที่กล้องรุ่นใหม่ ๆ หลายรุ่น มีระบบโฟกัสดวงตาสัตว์มาให้แล้ว ภาพนี้ก็ใช้ระบบโฟกัสที่ว่านั้นเช่นกัน

ทริปนี้เนื่องจากต้องเดินทางขึ้นรถลงเรือ เลนส์ที่นำไปสำหรับถ่ายภาพนก จึงเป็นเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโตน้ำหนักเบาของ Canon คือเลนส์ Canon RF 800mm f/11 IS STM ซึ่งมีน้ำหนักเพียง 1.26 กิโลกรัม แต่มีข้อจำกัดในเรื่องของรูรับแสงที่คงที่ที่ f/11 ไม่สามารถปรับได้ และระยะโฟกัสใกล้สุดที่ 6 เมตร จึงทำให้พลาดโอกาสได้ภาพสวย ๆ ไปพอสมควร

ภาพนกแก๊กเกาะกิ่งต้นปาล์มภาพนี้ถ่ายจากห้องอาหาร ขณะรอรับประทานอาหารเย็น นกอยู่ห่างออกไปประมาณ 25 เมตร สภาพแสงเย็นช่วงเวลาราว 17.30 น. ต้องดันความไวแสงขึ้นไปที่ ISO 12800 อีกเช่นกัน ได้ความเร็วชัตเตอร์มาที่ 1/500 วินาที

เพราะฉะนั้น เลนส์ช่วงที่แนะนำให้นำไปถ่ายภาพในทริปเที่ยวเกาะยาวน้อย ก็หนีไม่พ้นเลนส์นอร์มอลซูมช่วง 24-70 มิลลิเมตร หรือ 24-105 มิลลิเมตร สำหรับเก็บภาพวิวทิวทัศน์ และเลนส์เทเลซูมสำหรับถ่ายนก ช่วง 100-400 มิลลิเมตร หรือ 150-600 มิลลิเมตร เลนส์สองช่วงนี้น่าจะเป็นคู่ที่ครอบคลุมการถ่ายภาพได้ทั้งหมด

ภาพนกแก๊กตัวผู้กำลังมองหาหอยนางรมภาพนี้ ถ่ายโดยนั่งห่างออกมาประมาณ 30 เมตร ต้องนั่งนิ่ง ๆ ไม่เข้าใกล้เกินไป เพราะจะทำให้นกกลัว และไม่บินลงมาหาอาหาร

แถมท้ายข้อมูลประกอบการตัดสินใจวางแผนการเดินทางอีกสักนิด ถ้าพิจารณาจากวงจรชีวิตของนกแก๊ก ช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย. พ่อแม่นกจะทำรังวางไข่ เราสามารถไปศึกษาพฤติกรรมการทำรัง การป้อนอาหารแก่แม่นกโดยพ่อนกได้ ช่วงเดือน พ.ค. – ส.ค. แม่นกจะพาลูกออกจากโพรงไปสอนการใช้ชีวิตและฝึกบินจนแข็งแรง และช่วง ส.ค. – ต.ค. เป็นช่วงที่นกเริ่มเข้าฝูง เราจึงสามารถพบเห็นนกแก๊กจำนวนมาก แต่ช่วงที่ผู้เขียนไปมาคือช่วงเดือนมีนาคม ก็ยังได้พบเห็นนกแก๊กจากบริเวณที่พักได้เกือบ 20 ตัวเลยทีเดียว

เรื่องและภาพถ่ายโดย จุลล์ จูงวงศ์