Grid Brief

  • การทำประกันถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการลงทุน ทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันรถยนต์ ซึ่งเป็นเหมือนการวางแผนได้ล่วงหน้าว่าคุณต้องใช้เงินปีละเท่าไหร่ในการจ่ายเบี้ยประกัน
  • บางคนไม่รู้เลยว่ากรมธรรม์สุขภาพที่มีนั้นทำกับบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งมีสิทธิปฏิเสธการต่อสัญญาได้หากพบว่าคุณมีความเสี่ยงหรือมีโรคร้ายแรง
  • คุณสามารถกู้เงินของตัวเองออกมาใช้ได้ในเวลาที่เดือดร้อน เราเรียกส่วนนี้ว่า ‘เงินกู้ตามกรมธรรม์’ ซึ่งดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้ซอฟต์โลนจากธนาคารหรือใช้บัตรกดเงินสด

ประกันชีวิตเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงในสังคมไทยมากขึ้นในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คนไทยเริ่มตระหนักแล้วว่าการมีประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพจะช่วยแบ่งเบาค่ารักษาพยาบาลได้มาก เหมือนซื้อความสบายใจไว้ล่วงหน้าก่อนเจ็บป่วยจริง แต่เชื่อหรือไม่ว่า คนไทย 100 คนถือกรมธรรม์ประกันชีวิตอยู่เพียง 37 ฉบับ ซึ่งน้อยกว่าประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่สำคัญคือความรู้และความเข้าใจเรื่องประกันยังอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง เพราะรายละเอียดของกรมธรรม์จะสัมพันธ์กับเงื่อนไขในการเบิกเงินชดเชย ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่เราซื้อประกันผิด นั่นหมายความว่าเราไม่มีสิทธิได้รับเงินก้อนนั้นตามสัญญาที่ตกลงกันไว้

ถ้าคุณเข้าใจเรื่อง ‘การบริหารจัดการความเสี่ยงพื้นฐานในชีวิตส่วนตัว’ การซื้อประกันถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางของการลงทุน ทั้งประกันชีวิต ประกันสุขภาพ และประกันรถยนต์ ซึ่งเป็นเหมือนการวางแผนการใช้จ่ายล่วงหน้าได้ว่าจะต้องชำระค่าเบี้ยประกันปีละเท่าไหร่ วิธีซื้อประกันที่ง่ายที่สุดสำหรับมือใหม่คือดูว่ากรมธรรม์ไหนเหมาะสมกับคุณ ส่วนประเภทของประกันมีดังนี้

1. ประกันชีวิต คุ้มครองการเสียชีวิตในเงื่อนไขที่กำหนด เหมาะสำหรับคนที่เป็นเสาหลักของครอบครัวและไม่อยากทิ้งภาระให้ใครในภายหลัง คุณต้องจ่ายเบี้ยประกันสักระยะหนึ่งเพื่อความคุ้มครองที่ยาวนานขึ้น เช่น ชำระเบี้ยปีละ 5,000 บาทติดต่อกัน 20 ปี เพื่อความคุ้มครอง 90 ปี โดยมีทุนประกันที่ 2 แสนบาท ไม่ว่าคุณจะตายตอนไหนก่อนอายุ 90 ก็จะได้รับความคุ้มครองทันที

2. ประกันสุขภาพ คือเงินที่จ่ายให้บริษัทประกันเพื่อกระจายความเสี่ยงในชีวิต โดยคุณต้องซื้อประกันชีวิตหรือประกันสะสมทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งก่อนถึงจะซื้อประกันสุขภาพได้ หลักการทั่วไปก็คือจ่ายเบี้ยประกันจำนวนหนึ่งเพื่อเลือกรับความคุ้มครองตามแต่ละรูปแบบที่คุณเลือก เช่น จ่าย 30,000 บาทต่อปี เพื่อรับการรักษาแบบเหมาจ่ายไม่เกิน 1 ล้านบาท หมายถึงทุกค่าใช้จ่ายในการรักษาก็จะถูกหักไปเรื่อย ๆ จนครบวงเงินหรือถึงวันครบกำหนด โดยไม่ต้องจ่ายอะไรเพิ่มอีกแล้ว

3. ประกันสะสมทรัพย์ คล้ายกับประกันชีวิต แต่มีเบี้ยที่แพงกว่า และระยะเวลาการคุ้มครองสั้นกว่า เน้นลงทุนระยะสั้น ใช้เป็นตัวช่วยในการออมเงิน เพราะได้ดอกเบี้ยที่ดีกว่าฝากธนาคาร เช่น แบบ 25 ปี หรือซื้อให้ลูกเมื่อยังเล็ก เพื่อให้เขาได้รับผลประโยชน์ทั้งหมดเมื่อครบกำหนดตามที่กรมธรรม์กำหนดไว้ ประกันประเภทนี้จะมีเงินคืนทุกปี

4. ประกันวินาศภัย การประกันภัยทุกประเภทที่นอกเหนือจากการประกันชีวิต โดยผู้รับประกันภัยตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เอาประกันภัย หากเกิดความสูญเสียภายใต้เงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ ซึ่งรวมถึงประกันอุบัติเหตุหรือประกันสุขภาพที่ซื้อได้ทันทีโดยไม่ต้องมีกรมธรรม์ประกันชีวิต

คุณสามารถกู้เงินของตัวเองออกมาใช้ได้ในเวลาที่เดือดร้อน เราเรียกส่วนนี้ว่า ‘เงินกู้ตามกรมธรรม์’ ซึ่งดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้ซอฟต์โลนจากธนาคารหรือใช้บัตรกดเงินสด

สิ่งที่คุณควรทำก็คือต่อเบี้ยประกันชีวิตทุกปีพร้อมกับทำประกันสุขภาพไปด้วย เพราะการทำประกันตอนอายุมากเป็นเรื่องยาก จ่ายค่าเบี้ยประกันแพงกว่า และตัวแทนมีสิทธิปฏิเสธหากคุณมีโรคประจำตัว แต่ถ้าคุณถือประกันชีวิตไว้อยู่แล้ว บริษัทห้ามปฏิเสธต่อเบี้ยประกันสุขภาพตามประกาศของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจ ประกันภัย (คปภ.) เรื่องนี้มีความสับสนอยู่เล็กน้อย เพราะบางคนไม่รู้เลยว่ากรมธรรม์สุขภาพที่มีนั้นทำกับบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งมีสิทธิปฏิเสธการต่อสัญญาได้หากพบว่าคุณมีความเสี่ยงหรือมีโรคร้ายแรง บางคนจะมาทำประกันชีวิตใหม่ก็สายไปแล้ว ฉะนั้นแนะนำให้ลองกลับไปตรวจสอบกรมธรรม์ทั้งหมดที่ตัวเองมีอยู่ว่าเป็นประเภทไหน และคุ้มครองในกรณีไหนบ้าง

อีกหนึ่งเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้คือ คุณสามารถกู้เงินของตัวเองออกมาใช้ได้ในเวลาที่เดือดร้อน เราเรียกส่วนนี้ว่า ‘เงินกู้ตามกรมธรรม์’ ซึ่งดอกเบี้ยต่ำกว่าการกู้สินเชื่อจากธนาคารหรือการใช้บัตรกดเงินสด แต่ก็ไม่ใช่ประกันทุกชนิดที่สามารถกู้ได้ และมักมีเงื่อนไขต่าง ๆ ที่คุณจำเป็นต้องศึกษากับตัวแทนหรือเจ้าหน้าที่ ถือว่าเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่การลงทุนในประกันสามารถทำได้ อยู่ก็คุ้มครอง ‘เสียชีวิตก็คุ้มครอง เดือดร้อนก็ช่วยได้’ นี่จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมหลายคนถึงชอบซื้อประกัน

ลองมองดูผู้สูงอายุหลายคนต้องนำเงินเก็บทั้งชีวิตไปใช้เป็นค่ารักษาพยาบาลจนหมดตัว บางทีเงินหรือทรัพย์สินที่ตั้งใจเอาไว้ใช้อย่างสุขสบายหลังเกษียณ อาจไม่ได้เป็นไปตามแผนเพราะความเจ็บป่วยมาเยือนอย่างไม่คาดคิด ลองนึกถึงค่าห้อง ค่ายา ค่าหมอ ในวันที่คุณต้องไปนอนโรงพยาบาลเอกชน ก็พอจะเข้าใจแล้วใช่ไหมว่าประกันจะช่วยเราในเวลาที่เดือดร้อนได้อย่างไร รีบทำก่อนจะสาย

Cover Illustration โดย ANMOM