Grid Brief

  • วิกฤติการณ์ทางการเงินในเอเชีย เมื่อปี 2540 หรือวิกฤติต้มยำกุ้ง เป็นเหตุการณ์ที่ควรถอดบทเรียนเพื่อศึกษาหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก
  • การปรับตัวเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นได้ สามารถทำได้หลายวิธี สำหรับผู้ที่ทำธุรกิจควรมีการวางแผนการเงิน การตรวจสอบสภาพคล่องและเงินสำรองของธุรกิจ ส่วนมนุษย์เงินเดือนควรหมั่นติดตามข่าวสารข้อมูลต่าง ๆ และเสริมเติมความรู้ให้ตัวเอง

คนรุ่นใหม่ที่เติบโตมาในช่วงกว่า 20 ปีนี้อาจไม่เคยได้ยินคำว่า “ช่วงนี้เศรษฐกิจดีจัง”  แต่เชื่อไหมว่าเมืองไทยเคยมีบรรยากาศ “เศรษฐกิจดี” จนหลายคนมั่นใจว่าเราจะเป็น “เสือตัวที่ 5  ของเอเชีย”

บ้านเมืองก่อนปี 2540 เต็มไปด้วยการพัฒนาตามนโยบาย “เปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า” ต่างชาติพากันมาลงทุนในเมืองไทย โดยใช้เป็นฐานการผลิตสินค้าสำคัญหลายชนิด ส่งผลให้เม็ดเงินไหลสะพัด สถาบันการเงินบางแห่งสามารถจ่ายโบนัสให้พนักงานมากถึง 24 เดือน เกิดเศรษฐีใหม่ทั่วเมือง เศรษฐกิจดีมากถึงกับมีการคาดการณ์ว่า ไทยจะเป็น “ศูนย์กลางการทางเงิน” ในแถบอินโดจีนได้ ทั้งภาครัฐและเอกชนต่างเร่งกันพัฒนาบ้านเมือง ในที่สุดเกิดภาวะฟองสบู่แตกในปี 2540 การพังทลายทางเศรษฐกิจตอนนั้นส่งผลให้ผู้ใหญ่หลายคนกังวลมากถึงความไม่มั่นคง จึงนิยมเก็บเงินสดไว้มากกว่าจะนำไปลงทุนที่มีความเสี่ยง เพราะไม่อยากเจอกับสภาวการณ์นั้นอีก

แม้สภาวะทางเศรษฐกิจของไทยในปัจจุบันอาจไม่พังครืนลงมาทันทีเหมือนเมื่อปี 2540 เพราะเรามีนโยบายทางเศรษฐกิจที่รัดกุมขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ แต่ถ้าถามถึงภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ขอให้ดูจากราคาสินค้าหลายชนิดที่ปรับตัวสูงขึ้น สวนทางกับค่าแรงที่ยังคงตรึงไว้เท่าเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ทำให้พอจะคาดการณ์อนาคตได้ว่า หลายคนอาจประสบกับสภาวะ “เงินไม่พอใช้” แม้จะใช้จ่ายเหมือนเดิมก็ตาม

ฉะนั้น ควรต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ ด้วยการวางแผนการจัดการเงิน สภาพคล่อง และเงินสดสำรองไว้ให้ดี โดยเฉพาะคนวัยทำงาน ต้องติดตามโลกธุรกิจ ข้อมูลข่าวสาร และความรู้ใหม่ ๆ แม้ยุคนี้ข้อมูลจะมีมากล้นจนตามไม่ทัน ขอแค่ #เราต้องไม่ช้ากว่าคนอื่น 

การปรับตัวเพื่อไม่ให้ช้ากว่าคนอื่น #ให้หาความรู้เพิ่มเติม เช่น คอร์สเรียนออนไลน์ที่มีครอบคลุมเกือบทุกสายงาน และคอร์สจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น คอร์สของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อเรียนจบแล้วจะได้รับใบประกาศนียบัตรที่ใช้สมัครงาน หรือขอปรับเพิ่มเงินเดือนได้ด้วย

อยากให้ทุกคนสนใจกับ #การพัฒนาความรู้เชิงบูรณาการมากขึ้น เมื่อก่อนเราอาจเคยได้ยินว่าเรียนแบบเป็ด รู้ทุกอย่างแบบกว้าง ๆ แต่ไม่ลงลึกในรายละเอียดเป็นสิ่งดี แต่ยุคนี้ ตลาดแรงงานต้องการกำลังคนที่มีความรู้และทักษะมากกว่า 1 ด้าน อีกทั้งยังต้องสามารถนำความรู้ทั้งหลายเหล่านั้นมาหลอมรวมกันเป็นความรู้ใหม่ได้ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทุกคนฝึกความชำนาญได้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะประยุกต์ความชำนาญและประสบการณ์มาใช้ได้ หากใครทำได้จะกลายเป็นแต้มต่อให้ตัวเองสร้างผลงานได้ดี หรือหากทำธุรกิจก็จะรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ดี

ผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ ก็ต้อง #หมั่นตรวจสอบสภาพคล่องและความมั่นคงทางการเงิน ในธุรกิจของเราอยู่เสมอว่า มีเงินสำรองเพียงพอต่อการรับมือกับความเสี่ยง หรือสถานการณ์ทางธุรกิจที่ยังไม่กลับมาเป็นปกติได้นานแค่ไหน หากเงินสำรองไม่มากพอ การหารายได้เพิ่มเป็นสิ่งจำเป็น หรือต้องตรวจสอบดูว่าเรามีสินทรัพย์ชิ้นไหนที่พอจะเปลี่ยนเป็นเงินสดไว้เยียวยาวิกฤติที่จะเกิดขึ้นได้ แม้จะเสียดายแต่ให้บอกกับตัวเองว่า ถ้าเรารอดจากวิกฤติครั้งนี้ได้ ค่อยหาโอกาสจัดหาของชิ้นนั้นกลับคืนมา

นอกจากตรวจสอบสภาพคล่องในธุรกิจของเราแล้ว #ต้องตรวจสอบตลาดที่เราทำธุรกิจอยู่เสมอ ทุกช่วงที่มีวิกฤติ ในตลาดธุรกิจย่อมมีผู้เล่นรายเก่าที่ต้องถอนตัวออกไปอยู่เสมอ แล้วผู้เล่นรายใหม่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดแทน ฉะนั้น เราต้องเตรียมพร้อมรับมือกับนักลงทุนหน้าใหม่ที่กำลังจะมาเป็นคู่แข่งในอนาคต โดยติดตามกระแสตลาดและธุรกิจให้ทันว่ามีทิศทางไปทางไหน  เหมือนที่สามก๊กว่าไว้ “รู้เขารู้เรา ทำธุรกิจ 100 ครั้ง ก็ต้องรอดทุกครั้ง”

ขอเอาใจช่วยเจ้าของธุรกิจและคนทำงานทุกคนที่ยังต้องต่อสู้กันต่อไป อย่าลืมให้เวลาและให้กำลังใจตัวเองให้มากขึ้น เพื่อให้เอาชนะวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้ และเราเชื่อว่าหลังวิกฤติจะมีโอกาสอีกมากมายให้ได้ขยับขยายกันต่อไป 

เตรียมความพร้อมในวันนี้เพื่อโอกาสที่กำลังจะมาถึงต่อไป