Grid Brief

  • Nomophobia เป็นโรคสุดฮิตของคนยุคนี้ ซึ่งหมายถึงความกลัวที่จะขาดและไม่ได้ใช้โทรศัพท์มือถือ
  • อาการของโรคกลัวขาดมือถือ แสดงออกถึงความวิตกกังวลเมื่อไม่มีโทรศัพท์อยู่ใกล้ตัว กลัวแบตเตอรีหมด ต้องเช็กมือถืออยู่บ่อยครั้ง ฯลฯ อาการเหล่านี้เสี่ยงให้เป็นโรคเครียดและภาวะซึมเศร้า
  • ปัจจุบันอาการเสพติดมือถือ บำบัดให้หายได้ด้วย 3 วิธี ทั้งวิธีบำบัดด้วยการสัมผัส บำบัดด้วยการเปลี่ยนความคิดเชิงลบและพฤติกรรมไร้เหตุผล ตลอดจนการใช้ยารักษา

เคยเป็นไหมที่รู้สึกกระสับกระส่ายเมื่อหามือถือไม่เจอ หรือต้องคอยเช็กหน้าจอทุกๆ 5 นาที มีอาการลุกลี้ลุกลนเมื่อแบตเตอรี่มือถือใกล้จะหมดและไม่มีที่ชาร์จ อาการต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณที่บอกว่า คุณกำลังเข้าข่ายเสพติดมือถือ หรือโรค Nomophobia เข้าให้แล้วล่ะ

Nomophobia คืออะไร 

Nomophobia เป็นศัพท์ที่หน่วยงานวิจัยทางการตลาดขนาดใหญ่ของสหราชอาณาจักรที่ชื่อ YouGov บัญญัติขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2553 มาจากคำว่า “No Mobile Phone Phobia” หมายถึง ความกลัวที่จะขาดการใช้โทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ตโฟน และไม่ใช่แค่การลืมมือถือไว้ที่บ้านเท่านั้น ยังครอบคลุมถึงความกลัวที่จะไม่ได้สัมผัสและพลาดการเข้าถึงสมาร์ตโฟนในทุกรูปแบบอีกด้วย  

มีงานวิจัยที่พบว่า Nomophobia พบมากสุดในกลุ่มคนอายุระหว่าง 18-24 ปี รองลงมาคือกลุ่มคนช่วงอายุ 25-34 ปี และที่มีอายุมากกว่า 55 ปีตามลำดับ ข้อมูลจาก Psychology Today นิตยสารอเมริกัน เผยว่า ปัจจุบัน ชาวอเมริกันวัยผู้ใหญ่ 66% มีอาการ Nomophobia ส่วนผู้ที่เพิ่งเริ่มใช้มือถือ ก็มีแนวโน้มที่จะพึ่งพาและเสพติดการใช้โทรศัพท์มากขึ้นเช่นกัน ผลก็คือคนเหล่านี้อาจมีภาวะเครียดง่ายเมื่อไม่ได้ใช้มือถือ ตลอดจนเกิดโรคทางกายตามมา เช่น นิ้วล็อก สายตาพร่ามัว ตาแห้ง ปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ และหมอนรองกระดูกเสื่อมก่อนวัย


ใครบ้างเข้าข่าย Nomophobia 

ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้สังเกตอาการที่เข้าข่าย Nomophobia ไว้ดังนี้

  • เช็กโทรศัพท์มือถือบ่อยๆ โดยไม่มีเหตุผล เช่น ไม่มีเสียงโทรศัพท์เรียกเข้า หรือข้อความดัง
  • รู้สึกกังวลหรือกระสับกระส่ายเมื่อไม่มีโทรศัพท์มือถืออยู่กับตัว
  • หลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมหรือในโลกแห่งความเป็นจริง เพื่อใช้เวลาไปกับโลกเสมือนจริงในมือถือแทน
  • ตื่นกลางดึกเพื่อเช็กโทรศัพท์มือถือ
  • ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ซึ่งเป็นผลพวงมาจากการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นเวลานาน
  • สมาธิหายไปง่ายๆ เพียงเปิดอีเมล์หรือเปิดแอปพลิเคชันในมือถือ

3 วิธีบำบัดอาการ Nomophobia

Nomophobia เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ ทำให้รู้สึกไม่มีความสุข รวมทั้งส่งผลกับการใช้ชีวิตประจำวัน การทำงาน และ ความสัมพันธ์กับผู้อื่น ซึ่งนักบำบัดบอกว่ามี 3 วิธี ที่จะช่วยจัดการกับอาการของโรคนี้ได้ คือ

  • บำบัดด้วยการสัมผัส หรือค่อยๆ ห่างจากโทรศัพท์มือถือ เป็นเทคนิคทางพฤติกรรมอย่างหนึ่ง ที่ผู้ป่วยจะเรียนรู้วิธีเผชิญหน้ากับความกลัว (ขาดมือถือ)  ในกรณีของโรคนี้ นักบำบัดแนะว่าให้ค่อยๆ ปรับตัวกับการไม่มีโทรศัพท์มือถือ โดยเริ่มต้นจากการวางทิ้งไว้ในห้องอื่นสักพัก จากนั้นค่อยๆ ทิ้งช่วงให้นานขึ้น เช่น ออกจากบ้านโดยไม่ต้องหยิบมือถือไปด้วย หรือใช้เวลากับการทำสิ่งอื่นอย่างมีสมาธิเพื่อให้ลืมมือถือไปชั่วขณะ
  • บำบัดความคิดและพฤติกรรม หรือ Cognitive-Behavioral Therapy (CBT) เป็นกระบวนการจัดการกับรูปแบบความคิดเชิงลบและพฤติกรรมที่ไร้เหตุผล วิธีนี้เป็นการบำบัดที่ออกแบบเพื่อรักษาโรคซึมเศร้า แต่ปัจจุบันใช้รักษาความผิดปกติทางจิตประเภทอื่นด้วย เช่น แทนที่จะคิดว่าอาจพลาดบางอย่างไปหากไม่ได้เช็กข้อความในโทรศัพท์ทุกๆ 2-3 นาที CBT จะช่วยย้ำให้ผู้ป่วยมั่นใจว่าคุณไม่มีแนวโน้มพลาดอะไรไป แม้จะเช็กมือถือเป็นครั้งคราวก็ตาม
  • การใช้ยา แม้ว่าจะไม่มียาที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสำหรับการรักษา Nomophobia แต่จิตแพทย์อาจสั่งยาต้านความวิตกกังวล หรือยารักษาอาการซึมเศร้าเพื่อจัดการกับอาการบางอย่างที่เกิดขึ้น เช่น ยาประเภท Lexapro, Zoloft และ Paxil เพื่อรักษาอาการขั้นแรกสำหรับความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า

การเสพติดมือถือนั้นอาจจะดูไม่ร้ายแรง แต่ถือเป็นโรคเสพติดชนิดหนึ่ง เหมือนการติดเกม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ ฯลฯ ถึงจะเลิกได้ยาก แต่บำบัดให้อาการหายได้ และแม้ว่าทุกวันนี้ โทรศัพท์มือถือจะกลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน แต่การจำกัดเวลาใช้งานให้เหมาะสมจะช่วยป้องกันไม่ให้หลงอยู่ในโลกเสมือนจริงจนตัดขาดจากโลกความเป็นจริงไป