แม้ว่าเดือนมีนาคมอาจจะไม่ใช่ช่วงที่ดีที่สุดสำหรับการไปชม “ทะเลบัวแดง” แต่เมื่อได้มีโอกาสไปเยือนเมืองอุดรธานีแล้ว ยังไงก็ต้องหาเวลาไปชื่นชมความงามของ “หนองหาน” ที่ไม่เป็นสองรองใคร

ดอกบัวแดงหรือบัวสายภาพนี้ ถ่ายที่ระยะค่อนข้างใกล้ด้วยเลนส์ 50 มิลลิเมตร เปิดรูรับแสงที่ f/2.5 เพื่อให้ได้ดอกบัวที่คมชัดพอสมควร และยังได้โบเก้ของหยดน้ำที่สะท้อนแสงอาทิตย์ด้วย
ภาพถ่ายโดย: จุลล์ จูงวงศ์

หากนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดอุดรธานี “ทะเลบัวแดง” คงจะถูกนึกถึงในลำดับต้น ๆ ด้วยความสวยงาม โดดเด่น แต่เรียบง่ายของหมู่มวลดอกบัวแดงหรือบัวสายที่เบ่งบานสะพรั่งในช่วงฤดูหนาว

นกยางกรอกกำลังหากินอยู่ในดงดอกบัวแดงภาพนี้ ถ่ายด้วยเลนส์ 800 มิลลิเมตร รูรับแสง f/11 ความเร็วชัตเตอร์ 1/1000 วินาที ความไวแสง ISO1600
ภาพถ่ายโดย: จุลล์ จูงวงศ์

“ทะเลบัวแดง” อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของอำเภอเมืองอุดรฯ ผมใช้เวลาเดินทางราวหนึ่งชั่วโมง กับระยะทางประมาณห้าสิบกิโลเมตร ซึ่งช่วงเวลาที่ดีที่สุดสำหรับการมาชมทะเลบัวแดง คือ ช่วงเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมีนาคม เพราะดอกบัวจะเบ่งบานกันเต็มที่ ยิ่งได้อากาศในช่วงเช้าของฤดูหนาว ยิ่งทำให้การล่องเรือชมทะเลบัวแดงและสรรพชีวิตในบึงมีอรรถรสมากที่สุด

เรือบริการนักท่องเที่ยวขนาดเล็ก สามารถนั่งได้ 2 คน ค่าบริการคนละ 150 บาท
ภาพถ่ายโดย: สำราญ พรมรัตน์

การท่องเที่ยวในทะเลบัวแดง แน่นอนต้องอาศัยเรือ ซึ่งชุมชนและชาวบ้านได้จัดเตรียมไว้บริการนักท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ คิดค่าบริการท่านละ 150 บาทเท่านั้นเอง พาชมรอบบริเวณบึงกันเลย เราจะได้ชื่นชมบัวแดงกันราว 2-3 ชั่วโมง ซึ่งคนเรือจะพาเราไปยังจุดชมบัวสวย ๆ และแลนด์มาร์คต่าง ๆ ในหนองหานอย่างครบถ้วน

“ควายน้ำ” สามารถพบได้ทั่วไปในหนองหาน มีอิริยาบถที่น่ารักน่าถ่ายรูป ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ 800 มม. อีกเช่นกัน ความเร็วชัตเตอร์ 1/800 วินาที ความไวแสง ISO800
ภาพถ่ายโดย: จุลล์ จูงวงศ์

นอกจากบัวแดงแล้ว ยังมี “ควายน้ำ” ให้พบเห็นได้หลายจุดในบึงฯ อันที่จริงแล้วก็เป็นควายที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ และให้มาหาอาหารกินในบึง จึงได้ปรับตัวให้เข้ากับพื้นที่ หากินบัวและหญ้าต่าง ๆ ในบึงนั่นเอง

เป็ดแดงและเป็ดคับแค เป็นส่วนหนึ่งของนกอพยพที่มาอาศัยหนองหานพักแรมและหากิน ทั้งสองภาพถ่ายด้วยเลนส์ 800 มม. ตั้งโหมดโฟกัสแบบต่อเนื่อง
ภาพถ่ายโดย: จุลล์ จูงวงศ์

ในช่วงฤดูหนาวแบบนี้ จะมีนกอพยพหลากหลายชนิดมาให้ชมอีกด้วย อาทิ เป็ดแดง เป็ดก่า เป็ดคับแค นกคูทฯ ส่วนนกประจำถิ่นที่พบเจอได้ตลอดก็มีหลายชนิด เช่น นกแซงแซว นกอีโก้ง นกอีแจว นกพริก นกยาง นกยางกรอก นกกระสานวล นกกระสาแดง นกกาน้ำเล็ก เป็นต้น

ถ้าอยากได้ภาพสวยๆของตัวเราเอง ก็ต้องวานให้เพื่อนถ่ายให้จากเรืออีกลำหนึ่ง ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ซูม 70-200/2.8 จากเรืออีกลำที่ห่างออกไปราวสิบเมตร
ภาพถ่ายโดย: สำราญ พรมรัตน์

แน่นอนว่าถ้ามาที่ทะเลบัวแดงแล้ว ก็จะต้องได้ภาพสวย ๆ ของเรากับมวลหมู่บัวแดง ช่วงเลนส์ที่น่าจะพกไปก็คงเป็นเลนส์มุมกว้างสำหรับเก็บภาพวิวทิวทัศน์ของทะเลบัวแดง ไปจนถึงเลนส์เทเลเพื่อเก็บภาพดอกบัวให้โดดเด่น ถ้าอยากจะเก็บภาพนกก็คงต้องใช้เลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ระยะตั้งแต่ 600 มม. ขึ้นไป เพราะนกค่อนข้างเปรียวและไม่คุ้นเคยกับผู้คน แต่ถ้าอยากได้ภาพสวย ๆ ของเราเอง มีคำแนะนำอยู่นิดเดียวคือ ต้องไหว้วานให้เพื่อนที่มาด้วยกันแยกไปนั่งเรืออีกลำ และช่วยถ่ายรูปของเราให้ ก็จะได้มุมที่สวยงาม มีเรา เรือ และทะเลบัวแดง

ภาพของโดรนที่ใช้ในการถ่ายภาพมุมสูง และภาพที่ได้จากโดรนตัวนี้
ภาพถ่ายโดย: สำราญ พรมรัตน์

หรือจะให้เก๋ขึ้นไปอีกขั้น ก็ต้องเป็นภาพจากโดรน เพราะจะได้ภาพมุมสูงซึ่งสวยแปลกตามาก ซึ่งทริปนี้ผมโชคดีได้ช่างภาพมืออาชีพเมืองอุดรกรุณามาเก็บภาพสวยๆให้

เรื่องโดย: จุลล์ จูงวงศ์
ภาพถ่ายโดย:
สำราญ พรมรัตน์ และ จุลล์ จูงวงศ์