Grid Brief

  • Repair Café ที่เกิดจากไอเดียของ Martine Postma ให้เป็นจุดนัดพบระหว่างคนชอบซ่อมแซมกับผู้ที่มีข้าวของที่พังหรือเสีย โดยเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ไว้ให้เสร็จสรรพ แต่มีข้อแม้ว่าเจ้าของจะต้องลงมือซ่อมเองตามคำสอนของอาสาสมัครที่รักการซ่อม
  • นอกจากเป็นเหมือนคอมมูนิตี้ของคนชอบซ่อมกับคนที่มีของต้องซ่อมแล้ว Repair Café ยังบริการเครื่องดื่มและขนมเหมือนคาเฟ่ทั่วไปด้วย
  • ไอเดียนี้ได้ช่วยชุบชีวิตของที่พังเสียได้กลับมามีประโยชน์และใช้งานได้อีกครั้งนับหลายล้านชิ้น ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตของชิ้นใหม่ได้ด้วย
  • โมเดลนี้เกิดขึ้นในเนเธอร์แลนด์และได้กลายเป็นร้านต้นแบบให้อีกหลายประเทศนำไปทำตามอีกกว่า 2,000 แห่ง ใครสนใจติดตามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ repaircafe.org

เคยลองถามตัวเองไหมว่าครั้งสุดท้ายที่เรานำของใช้ที่เสียไปซ่อมแทนการซื้อใหม่คือเมื่อไหร่ และตอนนี้สิ่งของรอบตั วในบ้านหรือที่ทำงานมีอะไรเสียแต่ยังไม่ได้ซ่อมบ้างไหม 

ทุกวันนี้หลายคนอาจมองว่าการซื้อสิ่งใหม่แทนการซ่อม นอกจากจะได้ของใหม่กว่า สวยงามกว่า อาจจะคุ้มมากกว่า การซ่อม ที่ต้องเสียทั้งเงินและเวลา นี่อาจดูเป็นเพียงเรื่องเล็กน้อย แต่ผลกระทบกลับมหาศาล เพราะการซ่อมแซมเป็นหนึ่ง ในทางเลือกสุดเจ๋งของการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติที่ช่วยลด Carbon Emission (การปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์) จากการผลิตของใหม่ได้ 

Credit: repaircafe.org

ไอเดีย Repair Café จุดประกายขึ้น เมื่อ พ.ศ.2550 โดย Martine Postma สาวผู้ซึ่งคลุกคลีอยู่กับงานด้านสิ่งแวดล้อมใน กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เธอปิ๊งแนวคิดนี้มาจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเองและใครอีกหลายคน ที่เมื่อของใช้พัง ก็มักโยนทิ้งแล้วซื้อใหม่แทนการซ่อม ทั้งที่สภาพก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่เพราะคนไม่สนใจสิ่งแวดล้อม แต่ มองไม่เห็นช่องทาง หรือไม่มีทางเลือกอื่นมากกว่า เช่น บางคนไม่มีทักษะในการซ่อม ไม่มีเครื่องมือ ไม่มีเวลา ไม่รู้แหล่งข้อมูล แถมในบางประเทศการนำของไปส่งซ่อมยังราคาแพงจนน่าตกใจอีกด้วย 

Credit: repaircafe.org

ไอเดียนี้ได้ช่วยชุบชีวิตของที่พังเสียได้กลับมามีประโยชน์และใช้งานได้อีกครั้งนับหลายล้านชิ้น ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตของชิ้นใหม่ได้ด้วย

เธอจึงสร้างคาเฟ่นี้ขึ้นมาให้เป็นเสมือนคอมมูนิตี้ที่ตอบโจทย์การโคจรมาพบกัน ระหว่างคนที่ชอบซ่อมแซมและผู้ที่หอบเอาของใช้ที่เสียแล้วมาซ่อม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า จักรยาน ของเล่น รองเท้า ทีวี วิทยุ ไมโครเวฟ ฯลฯ 

สิ่งที่ Repair Café เตรียมไว้ให้คือวัสดุ เครื่องมือ อะไหล่ โดยมีช่างอาสาสมัครที่ มีทักษะและรักการซ่อมแซมเป็นชีวิตจิตใจ มารวมตัวเพื่อให้คำปรึกษาและสอนให้ฟรี! ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความครื้นเครง สนุกสนาน เน้นการพบปะพูดคุยกัน ที่สำคัญเจ้าของต้องลงมือซ่อมเอง และเช่นเดียว กับคาเฟ่ทั่วไป ที่นี่มีเครื่องดื่ม กาแฟ ขนม ของกินเล่น ไว้ให้บริการ 

ไม่น่าเชื่อว่า ผ่านไป 13 ปี โมเดลนี้สร้างแรงบันดาลใจไปทั่วโลก ชุบชีวิตของใช้ได้หลายล้านชิ้น แถมยังจุดประกายให้ เกิดร้านแบบนี้ขึ้นอีกกว่า 2,000 แห่งในหลายประเทศ อาทิ เบลเยียม ฝรั่งเศส เยอรมนี อังกฤษ อเมริกา มีคนมากมาย ติดต่อเธอเพื่อขอคำแนะนำเพราะอยากให้มีร้านแบบนี้ในชุมชนของตนเองบ้าง Martine Postma จึงก่อตั้ง The Repair Cafe Foundation ขึ้นมา พร้อมเขียนคู่มือ How to Start Your Own Repair Café อย่างละเอียดโดยผู้ที่สนใจต้องเสียค่าสมัคร 49 ยูโร สำหรับคู่มือและวิธีการจัดงานโดยละเอียด ซึ่งมีถึง 5 ภาษา สามารถดาวน์โหลดได้ในเว็บไซต์ repaircafe.org 

นี่จึงเป็นอีกโมเดลที่ช่วยลดการใช้พลังงานในการผลิตสินค้าใหม่ พร้อมปรับทัศนคติในการมองเห็นคุณค่าของสิ่งที่ สามารถซ่อมและนำกลับมาใช้ได้อีก ทั้งยังช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีให้คนในชุมชน ตลอดจนความเอื้อเฟื้อให้เกิดขึ้นได้อีกทางหนึ่งด้วย อยากให้มีแบบนี้ในเมืองไทยบ้างจัง ใครเห็นด้วยยกมือขึ้น!