Grid Brief

  • พ.ศ. 2557 สิงคโปร์ประกาศแผน ‘สมาร์ต เนชั่น’ (Smart Nation)หรือการนำพาประเทศสู่การเป็น ‘ประเทศอัจฉริยะ’ โดยมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้แก่ เศรษฐกิจ สังคม พลังงาน เพื่อเป้าหมายให้ประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน
  • IMD Smart City Index หรือดัชนีที่สำรวจเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก เกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลและพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คน ได้ยกให้สิงคโปร์เป็นเมืองที่อัจฉริยะที่สุดในโลกสองปีซ้อน คือในปี พ.ศ.2563-2564 โดยดูจาก5 เรื่องหลัก ได้แก่ สาธารณสุขและความปลอดภัยของประชาชน การสัญจร กิจกรรม โอกาส และธรรมาภิบาล รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจ้างงานและพัฒนาบริการสำหรับชุมชนเมือง การใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things)
  • สิงคโปร์แบ่งความสมาร์ตออกเป็น 3 เสาหลัก เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) และสังคมดิจิทัล (Digital Society) ในดารขับเคลื่อนภาครัฐ ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม และประชาชนเข้าสู่ สังคมดิจิทัล

สิงคโปร์เป็นเกาะเล็ก ๆ ที่มีพื้นที่เล็กกว่ากรุงเทพฯ ราวครึ่งหนึ่ง แต่มีความเจริญแบบก้าวกระโดด ขึ้นแท่นประเทศพัฒนาแล้ว แถมมีรายชื่อติดอันดับต้น ๆ ของโลกในดัชนีชี้วัดการพัฒนาด้านต่าง ๆ อยู่ตลอด

ประเทศไซส์มินิแห่งนี้ประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ทั้งที่แยกเอกราชมาได้เพียง 55 ปีเท่านั้น ท่ามกลางทรัพยากรที่จำกัด ประชากรมีแค่กว่า 5 ล้านคน ตลาดภายในก็มีขนาดเล็กมากbหลายแนวคิดของสิงคโปร์สามารถใช้เป็นบทเรียนการพัฒนาสำหรับประเทศต่าง ๆ ได้ รวมถึง ‘สมาร์ต เนชั่น’ หรือการขับเคลื่อนสู่การเป็น “ประเทศอัจฉริยะ” ไม่ใช่แค่ ‘สมาร์ต ซิตี้’ หรือ ‘เมืองอัจฉริยะ’ ซึ่งหลายประเทศกำลังทำอยู่ ‘สมาร์ต เนชั่น’ สไตล์สิงคโปร์ เป็นการนำพาประเทศเข้าสู่ความอัจฉริยะในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม พลังงาน โดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีดิจิทัล

สมาร์ตที่สุดในโลก

ความสมาร์ตของสิงคโปร์ได้รับการการันตีจาก IMD Smart City Index ซึ่งเป็นดัชนีที่สำรวจเมืองต่าง ๆ ทั่วโลก เกี่ยวกับการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลและพัฒนาความเป็นอยู่ของผู้คน โดยในการจัดอันดับครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2563 สิงคโปร์ขึ้นแท่นเมืองที่สมาร์ตสุดในโลก และครองแชมป์สมัยที่ 2 ต่อเนื่องในปีนี้ 

แล้วอะไรคือความสมาร์ตบ้าง 

IMD Smart City Index กำหนดเกณฑ์ไว้ 5 เรื่องหลัก ได้แก่ สาธารณสุขและความปลอดภัยของประชาชน การสัญจร กิจกรรม โอกาส และธรรมาภิบาล รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการจ้างงานและพัฒนาบริการสำหรับชุมชนเมือง การใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things) 

สิงคโปร์มีความสมาร์ตโดดเด่นจากเมืองอื่น ๆ 3 เรื่อง เริ่มจาก

1. เมื่อพลเมืองมีสุขภาพดีย่อมหมายถึงเมืองมีความแข็งแรงด้วย วิสัยทัศน์เรื่องเฮลธ์แคร์จะชี้ชะตาความมั่งคั่งของประเทศและประชาชน รัฐบาลสิงคโปร์ริเริ่ม Healthcity Novena แผนแม่บทที่ให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพ ตั้งแต่การสร้างทางเท้า ที่จอดรถใต้ดิน พื้นที่สีเขียวกลางแจ้งสำหรับเยียวยาผู้ป่วย 

2. ที่พักของการเคหะแห่งชาติสิงคโปร์ไม่ใช่แค่ที่พักอาศัย แต่ยังเป็นชุมชนที่มีชีวิต พึ่งพาตนเองได้ และมีความเชื่อมโยงกัน มีส่วนมากในการขับเคลื่อนสังคม เพราะคนส่วนใหญ่ในสิงคโปร์อาศัยอยู่ในการเคหะแห่งชาติ

3. การสัญจรเป็นประสบการณ์ร่วมกันของชุมชน ทำให้โครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับระบบขนส่งสาธารณะต้องเชื่อมโยงกับการเดินและการขี่จักรยาน มีการจัดสรรพื้นที่หย่อนใจ สนับสนุนการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนและลดมลภาวะ 

สมาร์ต เนชั่น’ มุ่งใช้เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลในการจัดการ กับปัญหาและสร้างโอกาสใหม่ ๆ จากเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อให้ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน

การเปลี่ยนผ่านขนานใหญ่

สิงคโปร์ประกาศแผน ‘สมาร์ต เนชั่น’ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2557 โดยมุ่งใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในการจัดการกับปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ รวมถึงสร้างโอกาสใหม่ ๆ จากเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อเป้าหมายสุดท้าย คือผู้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืน

รัฐบาลสิงคโปร์ออกนโยบายต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมไม่ว่าจะในแง่กฎหมาย การวิจัย การสนับสนุนด้านต่าง ๆ ขณะเดียวกัน
ก็ตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า GovTech ขึ้นมาดูแลโครงสร้างพื้นฐาน แพลตฟอร์มและแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่ผลักดันสู่สมาร์ต เนชั่น อย่างเป็นระบบ 

สิงคโปร์แบ่งความสมาร์ตออกเป็น 3 เสาหลัก เพื่อช่วยขับเคลื่อนภาครัฐ ภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม และประชาชน ในการเข้าสู่
สังคมดิจิทัล ได้แก่

1. เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ และสร้างโอกาสให้กับชาวสิงคโปร์ เมื่อปี พ.ศ. 2561 รัฐได้ประกาศแผนปรับธุรกิจและอุตสาหกรรมทั้งหมดเข้าสู่ยุคดิจิทัล เป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตทั้งระบบ

2. รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) คือ การที่รัฐบาลใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นแกนหลัก ผ่านการเชื่อมโยง รวบรวมข้อมูล และประมวลผล สำหรับช่วยเหลือประชาชน ภาคธุรกิจ และเจ้าหน้าที่รัฐ รวมทั้งมีโรดแมประยะ 5 ปี ในการกำหนดกรอบใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้บริการประชาชน

3. สังคมดิจิทัล (Digital Society) มุ่งให้เกิดความเข้าใจเรื่องดิจิทัลในระดับชาติ เพื่อให้ประชาชนมีทักษะ ความมั่นใจ และแรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน

ต้นแบบไอเดียสุดเจ๋ง

สิงคโปร์เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องความปลอดภัย การเดินทางและการขนส่งอัจฉริยะ สาธารณสุขและบริการที่ดี ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์ก็นำเทคโนโลยีมาใช้ในเรื่องเหล่านี้

ยกตัวอย่างกล้องวงจรปิดของตำรวจกว่า 52,000 ตัว ที่ติดตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 แต่ได้นำระบบแผนที่และฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศเข้ามาใช้ ทำให้บอกได้ว่าการจราจรเป็นอย่างไร หรือร้านกาแฟแสนอร่อยตั้งอยู่ตรงไหน 

นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชัน ‘Moment of Life’ ซึ่งให้บริการกว่า 40 ด้าน เรียกว่ามีครบจบในแอปฯ เดียว ไม่ว่าจะเป็นการ
แจ้งเกิดเด็กที่เพิ่งคลอด การขอรับโบนัสการมีบุตร บันทึกการฉีดวัคซีนของเด็ก การจ้างงาน บริการสาธารณสุข และที่พักอาศัย

ด้านคมนาคมขนส่ง ริเริ่มโครงการยานพาหนะอัตโนมัติ ที่ใช้เทคโนโลยีการขับขี่แบบไม่ต้องพึ่งพามนุษย์ รวมทั้งมีบริการรถโดยสาร
ตามความต้องการ (On Demand) เพียงใช้สมาร์ตโฟนในการจอง และมีระบบติดตามยานพาหนะแบบเรียลไทม์ ช่วยลดปัญหาคนแน่นรถประจำทาง

รัฐบาลสิงคโปร์ยังเตรียมติดตั้งคิออสก์ดูแลสุขภาพระยะไกลในคอนโดมิเนียม ที่จะมีเว็บแคมและเซ็นเซอร์ในการวัดอุณหภูมิ อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต โดยสามารถวิดีโอคอลปรึกษากับแพทย์ และส่งข้อมูลสำหรับจัดยาตามใบสั่งแพทย์ที่ส่งตรงถึงคอนโดมิเนียมได้เลย


ระบบพลังงานอัจฉริยะ

ภาคพลังงานก็หนีไม่พ้นการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ โดยการใช้พลังงานหมุนเวียนมีอัตราเพิ่มขึ้น ประกอบกับข้อกำหนดในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เข้มงวด ทำให้ต้องหันมาพึ่งพาพลังงานสะอาด รวมทั้งเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) และอินเทอร์เน็ตทุกสรรพสิ่ง (IoT) ก็ส่งผลกระทบต่อวิธีการผลิตไฟฟ้า การแจกจ่าย และการบริโภคไฟฟ้า

รัฐบาลเน้นส่งเสริมยานพาหนะที่ใช้พลังงานไฟฟ้า โดยตั้งเป้าจะเปลี่ยนรถประจำทางทั้งหมดให้ใช้ระบบไฟฟ้า หรือไฮบริด ภายในปี พ.ศ. 2583 พร้อมเพิ่มจุดชาร์จแบตเตอรี่เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้าที่จะมีเพิ่มขึ้น

สิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก ๆ ก็จริง แต่กล้าที่จะฝันใหญ่โตและที่สำคัญคือทำฝันนั้นให้เป็นจริงได้ด้วย

เรื่องโดย โอเมก้า