รู้หรือไม่ว่า บริเวณพื้นที่กว้างโล่งของสนามบินนั้นเหมาะมากสำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

ยืนยันด้วยงานวิจัยใหม่ของ Royal Melbourne Institute of Technology ที่จะตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Building Engineering ฉบับเดือนกันยายน พ.ศ.2564  (แต่อัพโหลดให้อ่านออนไลน์กันก่อน) ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจสนามบินทั้ง 21 แห่งในออสเตรเลียแล้วพบว่า สนามบินคือสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ด้วยมีพื้นที่รวมถึง 2.61 ตารางกิโลเมตรที่ใช้งานได้

Credit: Adelaide Airport, Australia

ภาพถ่ายดาวเทียมยังพบด้วยว่า มีบ้านเรือนที่ติดแผงโซลาร์เซลล์ในเมืองเบนดิโกทางตอนเหนือของกรุงเมลเบิร์น 17,000 แผ่น แต่สนามบินจะผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากกว่าแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งตามบ้านถึง 10 เท่า และจะจ่ายไฟให้บ้านเรือนได้ 136,000 หลัง ลำพังแค่สนามบินเพิร์ธแห่งเดียวก็ผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าเมืองเบนดิโก 2 เท่าเข้าไปแล้ว เนื่องจากเมืองเพิร์ธมีแดดมากและสนามบินเพิร์ธมีอาคารใหญ่โตหลายหลัง 

Credit: GOOGLE EARTH PRO

นอกจากนี้พลังงานแสงอาทิตย์ที่ผลิตได้จากสนามบิน 21 แห่งในออสเตรเลียนั้นจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 152 กิโลตันต่อปี เทียบเท่าการเอารถออกจากถนน 71,000 คัน 

ทว่า การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ตามสนามบินยังมีข้อระวังหลายประการ อาทิ แผงโซลาร์เซลล์ต้องไม่สะท้อนแดดจนรบกวนสายตานักบินและผู้ปฏิบัติงานในหอบังคับการบิน ซึ่งปัญหานี้แก้ได้ง่าย ๆ ด้วยการเคลือบด้าน ซึ่งแผงโซลาร์เซลล์รุ่นใหม่ ๆ ก็ไม่สะท้อนแดดแล้ว

Credit: Denver International Airport

ตัวอย่างสนามบินที่ผลิตไฟฟ้าได้เองก็คือ สนามบินนานาชาติเมืองเดนเวอร์ที่สหรัฐอเมริกา หรือชื่อย่อว่า DEN ซึ่งเมื่อ 13 ปีก่อนเริ่มติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนพื้น และปัจจุบันยังทยอยติดตั้งเพิ่มเติมบนหลังคาตึกต่าง ๆ ในสนามบิน ทำให้ DEN มีพื้นที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 303.5 ไร่ และผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง 25-30 เปอร์เซ็นต์ต่อปี 

การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านนั้นเป็นเรื่องดีที่ควรติดกันต่อไป แต่งานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า หลังคาบ้านรูปทรงแตกต่างกัน ขณะที่หลังคาอาคารพาณิชย์มักจะเป็นพื้นผิวเรียบโล่งกว้างขวาง จึงติดตั้งได้ง่ายกว่าและรับแสงอาทิตย์ได้มากกว่า นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสนามบินจึงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากกว่าบ้านเรือน

Cover Illustration โดย Numchok Kamvan