Grid Brief

  • เมื่อเข้าสู่ Solar Land ก็ได้เวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง ยินดีต้อนรับสู่เกมล่าเพื่ออนาคต
  • ออกล่าแสงอาทิตย์มาใช้ในชีวิตประจำวัน มาดูว่าเราจะลดค่าใช้จ่ายได้แค่ไหน และจะเก็บเงินในกระเป๋าได้เท่าไหร่
  • อย่าลืมหยิบ “ลูกเต๋า” เพื่อไปล่าท้าแสงได้ที่บริเวณหน้านิทรรศกา

พระอาทิตย์ ส่งพลังงาน 1 ใน 2,000 ล้านส่วนมาให้โลก และผลิตพลังงานได้ถึง 173,000 เทราวัตต์ต่อวินาที ซึ่งโดยปกติแล้วคนเราใช้เพียง 15 เทราวัตต์ต่อวัน พระอาทิตย์จึงเป็นพลังงานสะอาดจำนวนมหาศาลที่เราพึ่งพาและหาได้ง่าย – เป็นพลังชีวิตของมนุษย์

ในสมัยก่อนเราไม่ค่อยสนใจจะนำพลังงานสะอาดที่ได้รับฟรีๆ ชนิดนี้มาใช้อย่างคุ้มค่า จนมาถึงวันที่โลกเริ่มป่วยไข้จากการกระทำของมนุษย์ พวกเราผลาญใช้ทรัพยากรต่างๆ จนมาถึงจุดที่โลก ต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน Climate Change กลายปัญหารุนแรง และการพึ่งพาน้ำมัน ถ่านหิน หรือพลังงานฟอสซิลใต้ดินกำลังจะจบลง เพราะสิ่งเหล่านี้ คือ ต้นเหตุหลักของการเพิ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ

หันกลับมามองศักยภาพของพลังงานแสงอาทิตย์ คลังพลังงานสะอาดที่หากเพียงมนุษย์ผู้ชาญฉลาดจะสามารถประดิษฐ์คิดค้น ล่า และหาวิธีต่างๆ เพื่อนำพลังงานชนิดนี้มาใช้ในทุกมิติของชีวิตประจำวัน รับรองว่าอนาคตอันสดใสของโลกอาจกลับคืนมาได้ไม่ยากนัก


มือที่ถือลูกเต๋ากระดาษขนาดใหญ่ ซึ่งด้านหนึ่งของลูกเต๋าเป็นคิวอาร์โค้ดให้ผู้เข้าชมนิทรรศการสแกนเพื่อทอยต่อในสมาร์ทโฟนของตัวเอง
เพียงสแกนคิวอาร์โค้ดบนลูกเต๋ากระดาษนี้ ก็จะทอยได้บนสมาร์ทโฟนของตัวเอง

แล้วพลังงานแสงอาทิตย์ทำอะไรได้บ้าง?

คำตอบอยู่ใน นิทรรศการ Solar Land ล่า ท้า แสง สู้อนาคต บอกเลยว่าการชมนิทรรศการนี้ไม่ได้น่าเบื่อหรือเป็นวิทยาศาสตร์จ๋าจนเข้าไม่ถึงอย่างที่คิดไว้เลยทุกอย่างกลับตรงกันข้าม เพราะนวัตกรรมต่างๆ ที่จัดแสดงไว้ล้วนข้องเกี่ยว และใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวันของเราทุกคน

ถ้าจะชมนิทรรศการนี้ให้สนุกขึ้น เราควรทำตัวเป็น “ผู้ล่า” เสียก่อน ผู้ล่าของเกมในดินแดนแสงอาทิตย์เล่นไม่ยาก มีกติกาเหมือนเกมเศรษฐีที่เราคุ้นเคยกันมาตั้งแต่เด็ก อุปกรณ์ก็มีแค่เพียงสมาร์ทโฟนในมือกับหัวใจของนักล่า เท่านี้ก็พร้อมกระโจนเข้าไปใน Solar Land เพื่อร่วมค้นหาและเรียนรู้นวัตกรรมล้ำๆ ด้านพลังงานในโลกอนาคตได้อย่างสนุกสนานกันเลย


บนผนังมีคำอธิบายบอกว่าคุณเป็นนักล่าแสงสายไหน
จุดเริ่มต้นของเกมเศรษฐีขนาดเท่าคนจริง ในภารกิจล่าพลังงานเพื่อไปสร้างเมืองสะอาดในอนาคตร่วมกัน

1. คุณเป็นนักล่าแสงสายไหน?

นี่คือเกมเศรษฐีขนาดเท่าคนจริง โดยมีภารกิจคือการล่าพลังงานเพื่อนำไปสร้างเมืองพลังงานสะอาดในอนาคตร่วมกัน จุดเริ่มต้นคือ ‘SUN & SOLAR : Power of the Sun and Solar Choices’ ที่เราจะได้รับมอบคาแร็กเตอร์ว่าเราเป็น “ผู้ล่าแสง” ประเภทใด ด้วยการทอยลูกเต๋าบนสมาร์ทโฟน ซึ่งแต่ละคาแร็กเตอร์ก็จะได้รับไอเท็มล่าแสงที่แตกต่างกันไป


2. สร้างองค์ความรู้จากนวัตกรรมทั่วโลก

‘SOLAR MONOPOLY : Interactive Life-Size Monopoly Game & Solar Application Showcases’ – ท่ามกลางความมืด ทุกก้าวที่เท้าเดินเข้าไปหาแสงคือความสนุกที่ได้เรียนรู้นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ออกแบบมาสำหรับใช้งานทั้งในปัจจุบันและโลกอนาคต เราต้องสแกน QR Code เก็บไอเท็มล่าแสงอาทิตย์เพื่อไปสร้าง “โซลาร์โทเปีย (Solar-topia)” 

ในส่วนนี้จะอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีน่าทึ่ง ดีงาม และ (ทำให้รู้สึก) มีความหวังต่อชีวิตในโลกข้างหน้าขึ้นอีกมาก ยกตัวอย่างเช่น นวัตกรรม Solar Impulse 2 (เครื่องบินที่ไม่ใช้น้ำมัน) Solar Window Charger (พาวเวอร์แบงก์พลังงานแสงอาทิตย์) ระบบ Peer to Peer Energy Trading (การซื้อขายไฟฟ้ากันเองระหว่างประชาชนด้วยกัน) Solar-Fiber Fabric (ผ้าทอจากเส้นใยโซลาร์) หรือกระทั่ง We Care Solar Suitcase (กระเป๋าอุปกรณ์การแพทย์จากพลังงานแสงอาทิตย์) นอกจากนี้ ยังมีการรวบรวมเทคโนโลยีความก้าวหน้าจากทุกมุมโลกในการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ นำมาจัดแสดงไว้อย่างกระชับและเรียนรู้ง่ายอีกด้วย


3. เมืองแบบไหนที่เราอยากอยู่

‘Solar-topia & Sunlight Graffiti: Co-creation Spaces for the Future of Solar City’ –  เมืองพลังงานสะอาดที่เราจะมีอากาศบริสุทธิ์ ไร้ฝุ่นพิษ ไร้การขาดแคลนพลังงาน ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นไปได้ใน “โซลาร์โทเปีย (Solar-topia)” และ เมื่อพลังงานแสงอาทิตย์เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการพัฒนาสู่การเป็นเมืองแห่งพลังงานสะอาดในอนาคต ประเทศไทยต้องเปลี่ยนทิศทางไปสู่การใช้พลังงานสะอาดในสัดส่วนที่มากขึ้น เราได้เห็นกันแล้วว่าโซลาร์เซลล์ไม่ได้มีอยู่แค่บนหลังคาอีกต่อไป เราทุกคนมีสิทธิ์ในพลังงานชนิดนี้เท่าเทียมกัน

โซลาร์โทเปียอาจจะไม่ได้เป็นแค่เมืองในอุดมคติอีกต่อไป

ภาพวาดเด็กผู้ชายนั่งอ่านหนังสือบนโต๊ะ มีโคมไฟทรงดอกทานตะวันเปิดอยู่

ก่อนก้าวออกจากประตูมารับแสงด้านนอก อย่าลืมแวะเข้าห้องมืดทางซ้ายมือ (ห้อง Sunlight Graffiti) ในความมืดมือเราถือแสงสว่างเล็ก ๆ จากโคมไฟพลังแสงอาทิตย์รูปทรงดอกทานตะวัน ผลงานนวัตกรรมของ Olafur Eliasson ที่ชื่อว่า  Little Sun และลงมือสร้างงานศิลปะในรูปแบบของตัวเอง เป็นบทสรุปความทรงจำของการท่อง Solar Land ได้เป็นอย่างดี


บนชั้นดาดฟ้ามีนวัตกรรมจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดต่าง ๆ จัดวางไว้ในสวนเล็ก ๆ
การทดลองใช้นวัตกรรมจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดต่าง ๆ ที่จัดวางไว้ในสวนเล็ก ๆ บนดาดฟ้า

4. แสงอันอบอุ่นมีชีวิตชีวาที่ดาดฟ้าชั้น 5

‘Solar Rooftop Garden : Sun Exposure Experiences’ – บนดาดฟ้าชั้น 5 เป็นจุดเช็กอินสุดท้าย อย่าลืมทดลองใช้นวัตกรรมจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดต่าง ๆ ที่จัดวางไว้ในสวนเล็ก ๆ ลองชาร์จแบตจากพลังงานแสงอาทิตย์ชม Solyar by Solar Vengers (สนามหญ้าเก็บพลังงาน) ศึกษา Big Belly (ระบบจัดการขยะ) รวมถึงถังขยะพลังงานแสงอาทิตย์ และเครื่องกรองน้ำพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งหมดอยู่บนดาดฟ้าแห่งนี้

สนามหญ้าที่ใช้เก็บพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่อยู่บนดาดฟ้า
Solyar by Solar Vengers (สนามหญ้าเก็บพลังงาน) 

เรารอด…โลกกำไร

“เพื่อตัวเรา เพื่อทุกคนอยู่รอด เพื่อรักษ์โลก และเพื่อสร้างกำไร” นี่คือกฎของการอยู่ต่อไป ทุกคนต้องช่วยกันเปลี่ยนจากสิ่งที่คุ้นเคยไปสู่การสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ที่ดีขึ้น อย่าลืมว่า การเริ่มต้นใหม่เกิดขึ้นได้ทุกวัน ตราบเท่าที่ดวงอาทิตย์ยังให้แสงสว่างกับโลก

มาล่าแสง เลือกไอเท็มเทคโนโลยีจากพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ เปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงาน และจุดหมายปลายทางที่เรามีร่วมกัน คือ  “โซลาร์โทเปีย” เมืองแห่งอนาคต พื้นที่ซึ่งดีกว่าสิ่งที่เราเห็นและเป็นอยู่ในทุกวันนี้

นิทรรศการ Solar Land ล่า ท้า แสง สู้อนาคต จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม – 27 ธันวาคม 2563 เวลา 10.30 – 19.00 น. (ปิดวันจันทร์) ที่ห้องแกลเลอรี ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง และ Rooftop Garden ชั้น 5 TCDC กรุงเทพฯ (ไม่เสียค่าใช้จ่าย)


ที่มา