Grid Brief

  • ธุรกิจสตาร์ทอัพ (Start-up) ได้รับความสนใจอย่างมากจากคนยุคใหม่ที่อยากเริ่มต้นเป็นเจ้าของกิจการ
  • เทคโนโลยี/นวัตกรรม เป็นเครื่องมือสำคัญขับเคลื่อนธุรกิจสตาร์ทอัพ
  • ความคิดสร้างสรรค์ ความยืดหยุ่น และทีมเวิร์ก คือหนึ่งในปัจจัยที่จะพาสตาร์ทอัพไปสู่ความสำเร็จ

การผันตัวจากพนักงานบริษัทมาเป็นเจ้าของกิจการ เป็นหนึ่งทางเลือกที่หลายคนมักยกมาพิจารณาเมื่อต้องการหันไปหางานที่ได้ผลตอบแทนมากขึ้น และมีอิสระมากกว่าการเป็นลูกจ้างในองค์กร วันนี้เลยอยากชวนมาดูแนวคิดการทำ ‘สตาร์ทอัพ’ (Start-up) ที่กำลังเป็นเทรนด์ธุรกิจของคนยุคนี้ว่ามีหนทางการบริหารจัดการอย่างไร เผื่อเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดไอเดียสร้างธุรกิจ หรือนำมาประยุกต์ใช้บริหารจัดการกิจการของตัวเองได้

ต้องแตกต่าง และ แก้ Pain Point ที่ยังไม่มีใครทำได้

จุดเริ่มต้นของสตาร์ทอัพมักเกิดจากการมองเห็นปัญหาของผู้บริโภค (Pain Point) หรือจุดอ่อนในอุตสาหกรรมนั้นๆ และอยากคิดหาทางแก้ไข โดยใช้เทคโนโลยี/นวัตกรรมมาเป็นเครื่องมือขับเคลื่อน สร้างโอกาสในการทำธุรกิจใหม่ เช่น ปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสาร ทำให้เกิดบริการแอปพลิเคชันที่ผู้ขับสามารถเห็นจุดหมายปลายทางที่ผู้โดยสารต้องการไปตั้งแต่แรก เพื่อจะได้ตัดสินใจว่าจะรับผู้โดยสารหรือไม่


ตั้งเป้าฝันให้มั่น และ สื่อสารทีมให้เข้าใจตรงกัน  

ควรกำหนดเป้าหมายการสร้างทีมงานให้ชัดเจนว่า บริษัทต้องการทำอะไร เป้าหมายอยู่จุดไหน หรือวางเป้าอนาคตไว้อย่างไร เพื่อใช้เป็นจุดดึงดูดคนมีความสามารถที่สนใจและมีความมุ่งมั่น (Passion) เดียวกันมาร่วมทีม ทั้งนี้ ระหว่างทางไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ ก็ต้องหมั่นสื่อสารทีมให้เข้าใจตรงกัน เพื่อไม่ให้การทำงานหลุดกรอบแนวทางที่วางไว้ ทั้งยังเป็นการสร้างความสามัคคีเพื่อรวมพลังในการทำงานและช่วยกันแก้ไขปัญหา 

หัวใจสำคัญของการริเริ่มสตาร์ทอัพคือการมองเห็น Pain Point ของลูกค้า และจุดอ่อนในอุตสาหกรรม

คิดบวก ยืดหยุ่น และไม่ท้อที่จะเริ่มใหม่

ไม่ยึดติดกับการทำงานรูปแบบเดิมๆ ที่กำหนดขั้นตอนตายตัว แต่หันมาวางกรอบกว้างๆ แทน เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เสนอไอเดียโดยไม่มีผิดหรือถูก และกล้าที่จะลองทำสิ่งใหม่ๆ  เพื่อการเรียนรู้ แม้บางครั้งอาจไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ หรือเกิดความผิดพลาดขึ้นมา ต้องไม่ท้อกับการเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง ไม่แน่ว่าโครงการที่เคยลงมือทำแต่ยังไม่เป็นรูปเป็นร่างในวันก่อน อาจกลายเป็นจิกซอว์สำคัญในการสานฝันหรือก้าวสู่เป้าหมายของบริษัทในอนาคตก็ได้


ทีมเวิร์กสำคัญที่สุด

ในการทำงานต้องเปิดโอกาสให้ทีมงานได้แสดงความคิดเห็น และวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับเรื่องงานกันอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้เห็นถึงปัญหา ข้อจำกัด หรืออุปสรรคที่ชัดเจน ถือเป็นการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตไว้ก่อน สิ่งสำคัญคือทุกคนต้องพูดกันตรงๆ และให้การถกกันจบในการประชุมแต่ละครั้ง ไม่เก็บมาเป็นอารมณ์และไม่นำมาพูดถึงกันลับหลัง

สร้างบรรยากาศการทำงานให้มีความสุข

ต้องทำให้สมาชิกรู้สึกอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของทีมให้นานที่สุด ด้วยการสร้างบรรยากาศออฟฟิศให้นั่งทำงานได้อย่างสบายใจ มีความสุข ควรมีพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ มุมนั่งเล่น หรือมีกิจกรรมให้ทำ เพื่อผ่อนคลายสมอง พร้อมสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายไอเดียในการทำงาน


หัวหน้าทีมต้องรับฟัง และ สนับสนุน

โดยทั่วไปแล้ว สตาร์ทอัพเกิดจากทีมขนาดเล็กก่อน ดังนั้นหัวหน้าทีมควรเป็นผู้รับฟังให้มาก ตั้งสติ กระตุ้นเกิดการคิดนอกกรอบ และพร้อมสนับสนุนทีมใช้ความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่ ด้วยการดึงศักยภาพทีมงานแต่ละคนออกมาให้ได้มากที่สุด ที่สำคัญต้องกล้าคิดกล้าตัดสินใจ อ่านเกมธุรกิจให้ขาด โดยเฉพาะเมื่อมีผู้สนใจมาร่วมลงทุนด้วย ธุรกิจจะได้เติบโตขึ้นไปอีกอย่างมั่นคง