Grid Brief

  • สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดและผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 สูงสุดในโลก ในขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น แต่ยอดคนฆ่าตัวตายในประเทศกลับลดลงตั้งแต่ พ.ศ.2563 เป็นต้นมา
  • แพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ในช่วงวิกฤตการณ์ระดับโลก เช่น ภัยธรรมชาติ สงคราม ฯลฯ ผู้คนมักจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจได้ดี เนื่องจากมีความรู้สึกร่วมกัน หรือไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับสภาวะยากลำบากอย่างเดียวดาย
  • นักจิตวิทยากล่าวว่า คนส่วนใหญ่เมื่อถูกกักตัวอยู่ที่บ้านจะเริ่มมองหาความสุขที่เรียบง่ายและหาได้ใกล้ ๆ ตัวมากขึ้น

เชื้อไวรัสโคโรนาคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 3 ล้านคน (ข้อมูลจาก www.worldometers.info วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2564) ขณะที่จำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่เชื่อไหมว่าอัตราการฆ่าตัวตายของผู้คนกลับสวนทาง โดยมีจำนวนลดลงหลังจากเกิดวิกฤตการณ์โรคโควิด-19

ชาวอเมริกันฆ่าตัวตายน้อยลง แม้มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดในโลก

อะไรที่คือเหตุผลที่ทำให้จำนวนคนฆ่าตัวตายลดลง ทั้ง ๆ ที่โลกกำลังเผชิญหน้ากับสถานการณ์อันเลวร้าย ข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) ระบุว่า การฆ่าตัวตายในสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2563 มีจำนวน 44,843 คน ลดลง 5.6% จาก พ.ศ.2562 ที่มีชาวอเมริกันฆ่าตัวตายจำนวน 47,511 คน ตัวเลขนี้สะท้อนให้เห็นว่าการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายลดลง ท่ามกลางความท้าทายด้านสุขภาพจิตและเศรษฐกิจอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยเฉพาะในประเทศที่ได้ชื่อว่ามีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงสุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกา 

ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงที่สุด หรือเท่ากับ 32,536,470 คน และเสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 มากที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน หรือคิดเป็นจำนวน 582,456 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2564) จากข้อมูลที่เผยแพร่ทาง American Medical Association พบว่า มีชาวอเมริกันเสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มขึ้น 17% ใน พ.ศ.2563 ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 3 รองจากโรคหัวใจและโรคมะเร็ง ในขณะที่การเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายลดลงจากอันดับที่ 10 มาเป็นอันดับที่ 11 ของโลก

ความรู้สึกร่วมจากวิกฤตการณ์หมู่ ทำให้คนเลิกโฟกัสเรื่องตัวเอง

ด็อกเตอร์ Christine Yu Moutier หัวหน้าเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์แห่งมูลนิธิป้องกันการฆ่าตัวตัวตายของชาวอเมริกัน (American Foundation for Suicide Prevention) กล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะบอกเหตุผลได้อย่างแน่ชัดว่า ทำไมผู้คนจึงฆ่าตัวตายน้อยลงในช่วงสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 และปรากฏการณ์ดังกล่าวก็ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในสเปนช่วงต้นทศวรรษ 1900 อัตราของคนฆ่าตัวตายก็ลดน้อยลงเช่นเดียวกัน 

เธออธิบายเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่เกิดวิกฤตระดับชาติหรือระดับชุมชน เช่น ภัยธรรมชาติ สงคราม ฯลฯ ประชากรส่วนใหญ่ จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงทางจิตใจได้ดี เนื่องจากคนส่วนใหญ่มีความรู้สึกร่วมกัน หรืออธิบายง่าย ๆ ก็คือไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับสภาวะยากลำบากนี้ตามลำพัง รวมไปถึงในช่วงเวลาดังกล่าว หน่วยงานต่าง ๆ มักจะตื่นตัว และให้บริการด้านสุขภาพจิตแก่ประชาชนมากเป็นพิเศษ ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกมีที่พึ่งทางใจ ที่สำคัญในช่วงวิกฤตการณ์อันเลวร้าย ผู้คนมักจะเปิดใจถึงความรู้สึกของตัวเองมากขึ้น ส่งผลให้ได้ระบายความอัดอั้นในใจ และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จึงช่วยลดความเครียดลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเป็นผู้ที่ไม่เคยมีอาการซึมเศร้ามาก่อน ก็มีแนวโน้มที่จะไม่วิตกกังวลมากจนเกินไป

ระยะห่างทางสังคม แต่เชื่อมต่อกันทางออนไลน์

ไม่น่าเชื่อว่าการอยู่ห่าง ๆ อย่างห่วงๆ ในทางปฏิบัติ กลับทำให้หลายคนใกล้กันมากขึ้นผ่านสังคมออนไลน์ โดย Stacey Freedenthal นักจิตวิทยาบำบัดและรองศาสตราจารย์ทางด้านสังคมสงเคราะห์แห่งมหาวิทยาลัยเดนเวอร์ ซึ่งศึกษาเรื่องการฆ่าตัวตาย ได้อธิบายว่า ปรากฏการณ์ของวิกฤตโรคระบาดจะดึงดูดผู้คนเข้าหากัน ด้วยข้อจำกัดเรื่องระยะห่างทางสังคม ทำให้ผู้คนจำเป็นต้องกักตัวอยู่บ้าน ไม่ได้ออกไปไหน ยิ่งต้องการการเชื่อมต่อทางสังคม (ออนไลน์) เพื่อประคับประคองจิตใจในช่วงเวลาที่เปราะบาง ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยผ่านโปรแกรมซูม หรือโปรแกรมบำบัดทางออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งล้วนช่วยลดความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายได้นั่นเอง

นอกจากนี้ ผู้คนจะเริ่มปรับตัวด้วยการมองหาความรื่นรมย์ใกล้ ๆ ตัว เช่น เดินเล่นในสวน ปลูกต้นไม้ ออกกำลังกายที่บ้าน เลี้ยงสัตว์ และใช้เวลาอยู่กับธรรมชาติที่แสนจะเรียบง่าย แทนการมองหาความสุขจากสิ่งไกลตัว ทำให้เกิดรูปแบบของพฤติกรรมใหม่ที่มีความสุขได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม

Cover Illustration โดย Pattanaphoom P.