Grid Brief

  • ชา กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมที่ผู้คนหันมาดื่มในช่วงวิกฤตโรคโควิด-19 เพื่อเยียวยาจิตใจ ผ่อนคลายความเครียด และเสริมภูมิคุ้มกัน
  • ชาเขียว คือสุดยอดของชา เนื่องจากมีฤทธิ์ทางยาที่ชื่อว่าคาเทชิน ซึ่งสามารถต้านโรคภัยได้มากมาย รวมทั้งมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดและลดความดันโลหิต
  • การดื่มชาทุกชนิด ควรดื่มน้ำชาล้วน ๆ ที่ได้จากใบชา เพื่อให้ร่างกายได้รับคุณค่าสูงสุดจากสารประกอบในใบชา

ปัจจุบันการดื่มชาไม่ได้เป็นเพียงวัฒนธรรมของบางประเทศ หรือดื่มเพียงเพื่อดับกระหายเท่านั้น แต่คนทั่วโลกเลือกดื่มชาเพื่อความผ่อนคลาย ปลอบประโลมจิตใจ และเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งดูเหมือนเป็นสิ่งที่หลายคนต้องการมากในช่วงโรคโควิด-19

ชาวอเมริกันหันมาดื่มชาในช่วงโควิด-19 

องค์การสหประชาชาติ ระบุว่า ปัจจุบันชาวอเมริกันเปลี่ยนจากเครื่องดื่มโซดา นม และน้ำผลไม้มาดื่มชาแทน โดยเฉพาะในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า อัตราการดื่มชาสมุนไพรสูงขึ้น 20% และการบริโภคใบชาต่อคนต่อปีของชาวอเมริกันอยู่ที่ 0.4 ก.ก. (14 ออนซ์) สูงกว่าในปี พ.ศ.2550 ซึ่งมีอัตราการบริโภคอยู่ที่ 0.36 ก.ก. (12.7 ออนซ์) ส่วนในสหราชอาณาจักร รายงานของ UK’s Tea Advisory Panel เผยว่า มีผู้ดื่มชามากกว่า 100 ล้านถ้วยทุกวัน และเครื่องดื่มชนิดนี้ยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเยียวยาจิตใจผู้คนให้สงบและมีสมาธิ จนองค์การสหประชาชาติกำหนดให้มีวันชาสากลของโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 21 พฤษภาคมของทุก ๆ ปี 

ทำไมผู้คนจึงหันมาดื่มชาในช่วงวิกฤต ?

นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า เป็นเพราะชามีผลต่ออารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของผู้คน โดยเฉพาะช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย แต่ก็ขึ้นอยู่กับประเภทของชาที่เลือกดื่มด้วย เช่น ชาสมุนไพรช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง ปวดศีรษะ แต่ถ้าเป็นชาสมุนไพรที่มีขิงเป็นส่วนประกอบด้วย ก็จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต บรรเทาอาการคลื่นไส้ และสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน 

ในขณะที่ชาเขียวถือเป็นสุดยอดแห่งชา เนื่องจากมีฤทธิ์ทางยาที่สำคัญได้แก่ สารกลุ่มที่ชื่อว่าคาเทชิน (Catechins) สูงกว่าใบชาทั่วไปถึง 137 เท่า ช่วยต้านโรคภัยได้มากหากดื่มเป็นประจำ รวมทั้งมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สูงกว่าชาชนิดอื่น ทำให้ชาเขียวได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในการแพทย์แผนตะวันออก


ชาเชียว…ตัวช่วยของสมอง

Stefan Borgwardt ประธานและผู้อำนวยการภาควิชาจิตเวชศาสตร์และจิตบำบัดจากมหาวิทยาลัย Lubeck ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ชาเขียวช่วยปรับปรุงการทำงานของสมอง โดยอ้างอิงจากผลการศึกษาในปี พ.ศ.2557 ที่ให้อาสาสมัคร 12 คน ทดลองดื่มสารสกัดจากชาเขียววันละ 1-2 ถ้วยอย่างต่อเนื่อง จากนั้นจึงบันทึกภาพสมองเพื่อวิเคราะห์ถึงความเปลี่ยนแปลงของการเชื่อมต่อระบบภายในบริเวณสมองบางส่วน “เราสังเกตเห็นการเชื่อมต่อที่เพิ่มขึ้นในบริเวณต่าง ๆ ของสมองที่เกี่ยวข้องกับการทำงานในส่วนความจำ” 

นอกจากนี้ ในงานทบทวนวรรณกรรมมากกว่า 100 ชิ้นในปี พ.ศ.2560 ระบุไว้ว่า ชาเขียวช่วยลดความวิตกกังวล กระตุ้นความรู้สึกนึกคิดและช่วยด้านความจำได้ รวมทั้งมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น Epigallocatechin Gallate (EGCG) และกรดอะมิโน L-theanine 

Borgwardt ได้ศึกษาเพิ่มเติมในปี พ.ศ.2561 พบว่า ผู้ที่ดื่มชาเขียวเป็นประจำมีโอกาสเกิดภาวะซึมเศร้าได้น้อยกว่าผู้ที่ไม่ดื่มถึง 21% ซึ่งจะนำไปสู่การวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของชาเขียวในการป้องกันภาวะสมองเสื่อมและโรคทางจิตเวช อย่างไรก็ตาม เขาแนะว่า ควรบริโภคชาเขียวอย่างน้อย 100 มิลลิลิตร หรือเท่ากับ 3.3 ออนซ์ในแต่ละวัน เพื่อส่งเสริมการทำงานของระบบประสาท

ชาไม่มีอันตราย

ชาเขียวนอกจากให้ผลดีต่อสุขภาพแล้ว หากดื่มเป็นประจำในระยะยาวยังช่วยให้อายุยืนและปราศจากโรค เช่น ลดปัจจัยเสี่ยงของโรคหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง รวมไปถึงช่วยลดไขมันในร่างกาย Gunter Kuhnle รองศาสตราจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์การอาหารและโภชนาการแห่งมหาวิทยาลัย Reading ในสหราชอาณาจักร ได้วิจัยเกี่ยวกับประโยชน์ของฟลาโวนอยด์ ซึ่งพบในชา โกโก้ และผลไม้บางชนิด พบว่า ผู้ที่รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยฟลาโวนอยด์สูง เช่น ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ชา และแอปเปิล มักจะมีความดันโลหิตลดลง

อย่างไรก็ตาม การดื่มชานั้น ชงได้ทั้งร้อนและเย็น แต่ไม่ควรผสมนมทุกชนิด เนื่องจากโปรตีนในนมจะไปจับกับสารสำคัญในชา และทำลายประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย นอกจากนมจะทำให้เราไม่ได้รับประโยชน์จากใบชาอย่างเต็มที่แล้ว  ยังเป็นตัวการทำให้อ้วนอีกด้วย ฉะนั้น การดื่มชาให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพสูงสุดก็คือการดื่มน้ำจากการชงชาเพียว ๆ โดยไม่ปรุงแต่งรสชาติเพิ่ม