Grid Brief

  • teamLab คือชื่อของกลุ่มศิลปินรุ่นใหม่ชาวญี่ปุ่นที่นำเทคโนโลยีและพลังงานไฟฟ้ามาสร้างสรรค์ผลงานศิลปะดิจิทัล และสร้างประสบการณ์รูปแบบใหม่ให้ผู้ชม จนได้ชื่อว่าเป็นศิลปินที่มีผู้เข้าชมผลงานมากที่สุดในโลก สร้างรายได้ให้ประเทศญี่ปุ่นมหาศาล
  • ผลงานของ teamLab ทุกชิ้นจะเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ แล้วใช้เทคโนโลยี Immersive สร้างความกลมกลืนระหว่างโลกจริงกับโลกจำลองดิจิทัล
  • ผลงานของ teamLab คือศิลปะดิจิทัล ซึ่งใช้ Immersive Technology หรือเทคโนโลยีที่สร้างความกลมกลืนระหว่างโลกจริงกับโลกจำลองดิจิทัล จนรู้สึกเหมือนได้ลงไปในโลกเสมือนนั้นจริง ๆ

Van Gogh ใช้เวลาทั้งชีวิตยังไม่ดัง ต่อเมื่อตัวตายไปแล้ว งานศิลปะของเขาจึงดังขึ้นมาได้ แต่คนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่ง ซึ่งประกอบไปด้วยโปรแกรมเมอร์ ดีไซเนอร์ นักคณิตศาสตร์ นักวาดซีจี วิศวกร ไปจนถึงบรรณาธิการ ใช้เวลาแค่ไม่กี่ปีก็ขึ้นแท่นเป็น ‘ศิลปิน’ ที่มีผู้เข้าชมผลงานมากที่สุดในโลก 

พวกเขารวมกลุ่มกันในนาม ‘teamLab’  ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนประสบการณ์การเสพศิลปะไปสู่รูปแบบใหม่อย่างสิ้นเชิง โดยอาศัยอานุภาพของเทคโนโลยีและพลังงานไฟฟ้า


ทีม’ คือทีมเวิร์ก

teamLab ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2544 โดย Toshiyuki Inoko บัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ซึ่งสนใจวิชาสถิติและการใช้เอไอประมวลผลภาษามนุษย์ คุณอิโนโกะซึ่งเป็น ‘ตัวแทน’ ของกลุ่ม teamLab กล่าวถึงปรัชญาการทำงานว่า ผลงานของ teamLab นั้นไม่อาจทำสำเร็จได้ด้วยคนคนเดียว และไม่ได้ใช้วิธีทำงานร่วมกันในแบบที่คนอื่น ๆ ทำกันด้วย คำว่าทีมสำหรับคนอื่นอาจหมายถึงแต่ละคนมีหน้าที่ของตนเองและทำงานให้เสร็จในส่วนที่ตนรับผิดชอบแล้วค่อยเอามาประกอบรวมกัน แต่เราร่วมทำงานทุกส่วนไปด้วยกัน ซึ่งเป็นวิถีการทำงานของโลกในปัจจุบันและในอนาคต ชื่อ teamLab จึงหมายถึง ห้องทดลองของ (ทีม) ทุกคนนั่นเอง

งานศิลปะที่ไม่มีเสร็จและไม่มีคนดู 

เป็นเวลาหลายร้อยปีที่มนุษย์เดินเข้าไปในพิพิธภัณฑ์แล้วพินิจมองงานศิลปะที่แขวนไว้บนผนัง ตั้งบนพื้น ลอยกลางอากาศ หรือสุดแท้แต่วิธีการใดก็ตามที่ศิลปินจะคิดสรรขึ้นมาได้ แต่เมื่อเดินเข้าไปชมงานของ teamLab ผู้ชมจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะไปด้วย อีกทั้งผลงานหลาย ๆ ชิ้นก็ไม่ใช่ชิ้นงานสำเร็จที่ทำเสร็จแล้วยกไปตั้งให้ชม แต่กลับเป็นชิ้นงานที่ไม่มีจุดเริ่มต้น หรือจุดสิ้นสุดให้เห็นชัดเจน หนำซํ้ายังไม่มีวัสดุที่สร้างงานศิลปะนั้นขึ้นมาด้วย เป็นเพราะผลงานของ teamLab คือศิลปะดิจิทัล ซึ่งใช้ Immersive Technology หรือเทคโนโลยีที่สร้างความกลมกลืนระหว่างโลกจริงกับโลกจำลองดิจิทัล จนรู้สึกเหมือนได้ดำดิ่งลงไปในโลกเสมือนนั้นจริง ๆ เช่น En Tea House ซึ่งใช้ศิลปะการชงชาผสมกับเทคโนโลยี ดอกไม้ดิจิทัลจะบานในถ้วยชาซึ่งยกขึ้นจิบได้ และรู้สึกอร่อยด้วย 


นิทานธรรมชาติกับมนุษย์

แม้ว่าทีมงานส่วนใหญ่ของ teamLab จะเป็นมนุษย์สายวิทย์-คณิต อาทิ โปรแกรมเมอร์ นักทำคอมพิวเตอร์กราฟิกหรือนักคณิตศาสตร์ ทว่าพวกเขากลับรักที่จะเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติกับมนุษย์ในผลงานทุกชิ้น จนอาจกล่าวได้ว่า ศิลปะดิจิทัลคือความยั่งยืนใหม่ในวงการศิลปะ  

Floating Flower Garden; Flowers and I are of the same root, the Garden and I are one

Floating Flower Garden; Flowers and I are of the same root, the Garden and I are one คือผลงานเมื่อปี 2558 teamLab ใช้ศิลปะจัดวางที่โต้ตอบและเคลื่อนไหวได้ (Interactive Kinetic Installation) โดยสร้างสวนดอกไม้แขวนลอย ต้นไม้ที่ออกดอกสวย 2,300 พันต้นห้อยลงมาจากเพดาน เมื่อคนเดินเข้าไป ดอกไม้จะยกตัวหลีกทางให้คนเคลื่อนไหวอย่างอิสระในสวนดอกไม้อันแน่นขนัด ตราบใดที่คนกับธรรมชาติถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน  

100 Years Sea

ในปี 2552 teamLab สร้างผลงานที่ชื่อ 100 Years Sea โดยทำเป็นวีดิทัศน์ฉายเต็มผนังและใช้ลายเส้นแบบศิลปะญี่ปุ่นโบราณวาดเป็นภาพระดับนํ้าทะเลในระยะเวลา 1 ศตวรรษที่ค่อย ๆ สูงขึ้นเรื่อย ๆ จนท่วมยอดเขา ซึ่งใช้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature – WWF) มาสร้างศิลปะที่งดงามอย่างโหดร้ายชิ้นนี้   


เกิดญี่ปุ่น โตรอบโลก 

การใช้เทคโนโลยีแบบอินเตอร์แอคทีฟที่ดึงผู้ชมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งนี้เองที่ทำให้นิทรรศการของ teamLab ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว จนกลายเป็นชื่อศิลปินที่ดึงดูดคนทั่วโลกได้ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ และเปลี่ยนมุมมองต่อศิลปะว่าไม่ใช่สิ่งสูงส่ง เข้าใจยาก แต่ศิลปะของ teamLab นั้นน่าพิศวงและชวนชวนให้เรารู้สึกดื่มดํ่างานศิลปะชิ้นนั้นไปโดยไม่รู้ตัว 

teamLab เป็นชื่อที่ดึงดูดคนรู้สึกสนใจศิลปะได้มากที่สุดในยุคนี้วัดได้จากสถิติโลกที่ทำไว้ให้หลัง 1 ปีนับจาก teamLab เปิดตัว Borderless นิทรรศการถาวรที่ MORI Building DIGITAL ART MUSEUM มีผู้คน 2.3 ล้านคนจาก 160 ประเทศเดินทางมาชมนิทรรศการนี้ ทำให้ teamLab กลายเป็นศิลปินเดี่ยวที่มียอดผู้เข้าชมนิทรรศการมากที่สุดในโลกภายในระยะเวลา 1 ปี แซงหน้าพิพิธภัณฑ์ของ Van Gogh ในเนเธอร์แลนด์ นี่จึงเป็นกรณีศึกษาของการใช้ศิลปะสร้างรายได้เข้าประเทศญี่ปุ่นได้มหาศาลที่น่าสนใจ   

เพราะแนวคิดศิลปะสร้างเศรษฐกิจกำลังเป็นโมเดลที่ประเทศอื่นๆ นิยมใช้ บางประเทศจึงจีบ teamLab ไปโชว์ผลงาน และที่เกรียวกราวมากในปีที่ผ่านคือ #futuretogether ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์เชิญศิลปินจากญี่ปุ่นไปจัดนิทรรศการในโอกาสครบรอบ 200 ปีวันประกาศเอกราชแบบเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมฟรีในบางโซน 

ทั้งยังมีหลายพิพิธภัณฑ์หลายแห่งที่ยกพื้นที่ให้ teamLab แสดงนิทรรศการถาวรไปเลย อาทิ Art Gallery of New South Wales ในซิดนีย์, Asian Art Museum ที่ซานฟรานซิสโก, Asia Society Museum ในนิวยอร์ก, Borusan Contemporary Art Collection ที่อิสตันบูล แม้แต่ที่แปลก ๆ อย่างโรงแรมกาสิโน The Venetian Macau ที่มาเก๊า หรือนิทรรศการใหม่ล่าสุด LIFE ที่ Dongdaemun Design Plaza ตึกทรงฟรีฟอร์มที่ Zaha Hadid สถาปนิกหญิงชื่อก้องออกแบบไว้ในเกาหลีใต้ 


เมื่อไฟฟ้าคือหัวใจของการสร้างศิลปะดิจิทัล

teamLab Borderless

Borderless นิทรรศการที่เป็นที่จดจำได้มากที่สุดของ teamLab นั้น มีผลงานศิลปะ ‘ฉาย’ ทั่วพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร ใช้คอมพิวเตอร์สร้างผลงาน 520 เครื่องและใช้โปรเจกเตอร์ฉายภาพ 470 เครื่อง ด้วยความที่เป็นศิลปะดิจิทัลทั้งหมด ทำให้นิทรรศการนี้ หรือนิทรรศการไหน ๆ ของ teamLab จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มี ‘ไฟฟ้า’

teamLab ชี้ให้เห็นความสำคัญและความเกี่ยวพันกันระหว่างมนุษย์กับพลังงานไฟฟ้าอย่างชัดเจนเมื่อ พ.ศ. 2557  ผ่านผลงานชื่อ ‘Sketch Town’ ซึ่ง teamLab ใช้เทคโนโลยีเชิงโต้ตอบ (Interactive Technology) สร้างเมืองอัจฉริยะแห่งโลกอนาคตจากรูปภาพที่ผู้ชมงานวาดขึ้น ซึ่งใครจะวาดภาพให้เมืองมีอะไรก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นรถ ตึก หรือแม้แต่ยูเอฟโอ ทีมงานจะสแกนภาพวาดเหล่านี้แล้วฉายไปบนผนังให้เมืองเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ 

ส่วน teamLab วาดแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่ใช้ในเมือง เช่น พลังงานไฮโดรเจน แสงอาทิตย์ ลมและชีวมวล ผู้ชมเห็นการกำเนิดของพลังงานเหล่านี้ได้ในทันใด เช่น แตะรูปกบแล้วฝนก็ตก ทำให้เขื่อนผลิตพลังงานไฮโดรเจน ส่งพลังงานไปตามบ้านเรือน ถนนหนทาง ที่สุดแล้วทั้งเมืองก็สว่างไสว 

สิ่งที่น่าสนใจก็คือ teamLab กล่าวว่า นี่คือเมืองแห่งโลกอนาคต ตีความได้ว่า ไฟฟ้าจะยังมีบทบาทต่อชีวิตมนุษย์ในทุก ๆ มิติต่อไป แต่สิ่งที่อยากให้ทุกคนช่วยกันคิดต่อคือแหล่งกำเนิดพลังงานไฟฟ้านั้นควรมาจากไหน มนุษย์จำต้องพึ่งพาพลังงานจากธรรมชาติซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและหมุนเวียนกลับมาใช้ได้ใหม่ อันเป็นวิถียั่งยืนที่มนุษย์จะมีไฟฟ้าใช้และธรรมชาติจะคงอยู่ได้ตลอดไป

เรื่องโดย Fiji Flask
รูปโดย teamLab