Grid Brief

  • นอกจากต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพกายและสุขภาพจิตของผู้สูงอายุแล้ว การออกแบบบ้านให้ตอบโจทย์กับวิถีชีวิตและสภาพร่างกายของเหล่า ส.ว. (สูงวัย) ก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม เช่น พื้นที่เดินง่าย ไม่เสี่ยงต่อการลื่นล้ม ราวจับในบริเวณห้องน้ำ แสงสว่างทั้งภายในและรอบบ้าน ไม่ให้มีมุมมืดหรือมุมอับสายตา
  • การใส่ใจดูแลบ้านให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย นอกจากช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ แล้ว ยังช่วยให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขกับชีวิตมากขึ้นด้วย

นิยามของ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ (Aging Society) คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เท่ากับหรือมากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด ซึ่งประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 และจากการสำรวจของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า ไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) แล้วในปี 2565 โดยมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีกว่า 12.9 ล้านคน หรือ 20% จากประชากรทั้งหมด 

นอกจากนี้ ในแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มักประสบอุบัติเหตุจากการหกล้ม ทั้งในห้องนอน ห้องน้ำ หรือบันได ดังนั้น การปรับพื้นที่บ้านให้เหมาะสำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ส่วนจะมีจุดไหนที่ควรคำนึงถึงบ้าง เรารวบรวมมาให้แล้ว


ปรับพื้นให้เดินง่าย 

การลื่นล้มเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นได้บ่อยที่สุดสำหรับผู้สูงอายุ จึงควรเลือกวัสดุปูพื้นที่มีคุณสมบัติช่วยลดแรงกระแทก และไม่ควรให้มีพื้นที่ต่างระดับ เพื่อป้องกันการสะดุดและหกล้ม ทั้งนี้ พื้นผิวของวัสดุปูพื้นควรต้องความฝืดของผิวสัมผัสเพื่อเพิ่มแรงเสียดทานในการเดิน ไม่ทำให้ลื่นง่าย เช่น พื้นยาง พื้นไม้เทียม พื้นไม้คอร์ก หรือพื้นที่เป็นชั้นโฟม

ปัจจุบันหลายบ้านนิยมปูพรมเพื่อความสวยงาม แต่รู้หรือไม่ว่า นอกจากพรมมักเป็นที่กักเก็บฝุ่นละอองแล้ว ยังทำให้ผู้สูงอายุสะดุดล้มได้ง่ายอีกด้วย ฉะนั้น หากต้องการปูพรม หรือวางพรมเช็ดเท้าต้องวางให้ติดขอบมุมของพื้น และต้องให้มุมของพรมติดแน่นกับพื้น ไม่เผยอหรือเปิดขึ้นมา เพราะอาจทำให้เสี่ยงต่อการเดินสะดุดได้

การใส่ใจดูแลบ้านให้เหมาะสมกับผู้สูงวัย นอกจากช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ แล้ว ยังช่วยให้เกิดคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขกับชีวิตมากขึ้นด้วย

แสงสว่างที่เพียงพอ

กลุ่มผู้สูงอายุจะมีสายตาที่ตอบรับกับแสงสว่างได้ช้ากว่าวัยอื่น การปรับสายตาระหว่างพื้นที่สว่างกับพื้นที่มืดจึงเป็นไปได้ไม่ดีนัก ดังนั้น ควรจัดการให้ทั้งภายในบ้านและบริเวณรอบบ้านมีแสงสว่างที่เพียงพอในระดับความสว่างที่สม่ำเสมอหรือใกล้เคียงกัน 

อีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยปรับแสงสว่างภายในบ้านได้ดี โดยที่ไม่ต้องเปิดไฟทิ้งไว้ตลอดเวลา ก็คือการใช้หลอดไฟอัตโนมัติ ที่จะทำงานเมื่อมีการเดินผ่าน และจะค่อย ๆ หรี่ปิดเอง หรือจะใช้ระบบที่ตั้งเวลาเปิด-ปิดได้ ให้ส่องแสงสว่างเฉพาะตอนกลางคืน เท่านี้ก็ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุและช่วยประหยัดค่าไฟได้ในตัวด้วย 


ฟังก์ชันในห้องน้ำ 

ห้องน้ำเป็นห้องที่ควรคำนึงถึงอันดับต้น ๆ ในการออกแบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงในการลื่นล้มสูงมาก ควรแบ่งพื้นที่ห้องน้ำเป็นโซนแห้งและโซนเปียก เพื่อเลือกวัสดุปูพื้นให้เหมาะกับการใช้งาน และควรต้องมี ‘ค่าความฝืด R’ (Slip Resistance Rating หรือค่ากันความลื่น) ในระดับ R10 ซึ่งเป็นค่าความฝืดที่เหมาะสมกับบริเวณที่ต้องเปียกน้ำ อีกทั้งควรติดตั้งราวจับตามบริเวณต่างๆ ในห้องน้ำเพื่อช่วยค้ำพยุงตัว เช่น บริเวณโถสุขภัณฑ์เพื่อความสะดวกคล่องตัวในการลุกนั่ง บริเวณประตูเพื่อเป็นหลักยึดในตอนก้าวเดิน เป็นต้น

Credit: Lifestylememory

เพิ่มพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ

อย่างที่ทราบว่า ผู้สูงอายุมักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ที่บ้าน  การจัดบ้านจึงควรมีบริเวณที่ช่วยคืนชีวิตชีวาให้ท่าน เช่น สวนหย่อมเล็ก ๆ หากบ้านไหนมีพื้นที่จำกัด สวนแนวตั้งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องเนื้อที่และงบประมาณ หรือจัดมุมที่ใช้นั่งเล่นเอนกายพักผ่อน โดยเลือกบริเวณที่มีอากาศถ่ายเท ปลอดโปร่ง มีแสงแดดส่องรำไร ทั้งนี้ อย่าลืมติดตั้งราวจับ ทำทางลาดสำหรับผู้สูงอายุที่ใช้รถเข็น  ทำทางเดินให้เรียบ ไม่มีสิ่งกีดขวาง ไม่มีก้อนหิน เพื่อป้องกันการสะดุดล้ม และต้องหมั่นดูแลต้นไม้ไม่ให้รกหรือกลายเป็นมุมอับสายตา 


ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ (Emergency Call Bell)

อีกสิ่งที่ควรมีสำหรับบ้านที่มีผู้สูงอายุ คือการติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ หากเกิดเหตุฉุกเฉินที่ท่านไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ จะได้แจ้งบอกสมาชิกในครอบครัว หรือบ้านใกล้เรือนเคียงได้อย่างทันท่วงที บริเวณที่นิยมติดเครื่องส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือนี้ ได้แก่ ห้องนอน หัวเตียง ห้องน้ำ และบันได

แม้จะเป็นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มเติมขึ้นมา แต่เพื่อดูแลคนที่เรารักให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตที่มากขึ้น การป้องกันไว้ยังไงก็คุ้มค่ากว่าต้องจ่ายค่ารักษาจากการเกิดอุบัติเหตุของผู้สูงอายุแน่นอน