Grid Brief

  • ภาพวาด ‘The Electricity Fairy’ ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดย Raoul Dufy บนพื้นที่กว่า 600 ตารางเมตร
  • The Electricity Fairy เป็นภาพวาดที่เล่าถึงเรื่องราวของ ‘พลังงานไฟฟ้า’ ตั้งแต่สายฟ้าของเทพซีอุส จนถึงหลอดไฟของเอดิสัน
  • ปีนี้ถึงกำหนดการทำความสะอาดภาพเขียน The Electricity Fairy โดยทางพิพิธภัณฑ์ได้นำโดรนมาใช้เป็นครั้งแรกในขั้นตอนการทำความสะอาดภาพ

ในแต่ละปี พิพิธภัณฑ์ศิลปะ City of Paris Museum of Modern Art หรือ MAM ในประเทศฝรั่งเศส ต้อนรับเข้าเยี่ยมชมราวๆ 700,000 คนจากทั่วโลก โดยพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีห้องแสดงงานชื่อ Room Dufy ที่ไม่ว่าใครได้ย่างกรายเข้าไปก็เป็นต้องตกตะลึงลืมไม่ลงกันทุกราย 

Room Dufy เป็นห้องขนาด 600 ตารางเมตร ทั้งห้องมีงานศิลปะเพียงชิ้นเดียว แต่เป็นการวาดลงบนแผงภาพ 250 แผ่น เพื่อนำไปติดบนผนังทรงตัวยูจนเต็มพื้นที่ เป็นผลงานของศิลปินชาวฝรั่งเศสนามว่า Raoul Dufy ซึ่งเป็นเจ้าของสถิติศิลปินที่วาดภาพเขียนขนาดใหญ่ที่สุดในโลกได้อุทิศชีวิตทำเอาไว้

มาสเตอร์พีซแห่งไฟฟ้า

ใน พ.ศ.2480 นครปารีสจัดนิทรรศการศิลปะและเทคโนโลยีในวิถีชีวิตสมัยใหม่ (Exposition Internationale des Arts et Techniques dans la Vie Moderne) ทางบริษัทผู้จ่ายกระแสไฟฟ้า Électricité de France หรือ EDF จึงว่าจ้างจิตรกรให้วาดภาพวิวัฒนาการของไฟฟ้าเพื่อ “ขับเน้นบทบาทของไฟฟ้า ที่ส่งผลในระดับชาติและบุคคล”

Musée d’Art moderne de la Ville de Paris
© ADAGP, Paris, 2014 Photography : Kleinefenn

จิตรกร Raoul Dufy จึงปาดแปรงป้ายสีวาดเป็นภาพของนักวิทยาศาสตร์ นักประดิษฐ์และนักคิดที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ 110 คน อาทิ  Samuel Morse ผู้ประดิษฐ์รหัสมอร์ส Thomas Edison ผู้คิดค้นหลอดไฟ Alexander Graham Bell นักประดิษฐ์โทรศัพท์ James Watt ผู้ประดิษฐ์เครื่องจักรไอน้ำ Heinrich Rudolf Hertz นักฟิสิกส์ชาวเยอรมันที่พิสูจน์ถึงการมีอยู่ของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ไปจนถึง Benjamin Franklin, Issac Newton, Pascal, Leibniz, Mendeleev, Goethe, Galileo, Leonardo และ Aristotle

Musée d’Art moderne de la Ville de Paris
© ADAGP, Paris, 2014 Photography : Kleinefenn

Raoul วาดภาพให้เหล่านักการไฟฟ้าทั้ง 110 คนนี้ บ้างก็ยืนนิ่ง บ้างก็คุยกัน โดยมีฉากหลังเป็นสิ่งก่อสร้างอุตสาหกรรม เรือกลไฟ ถนนที่มีไฟส่องสว่าง โดยมีไฮไลต์คือเทพซีอุสที่อยู่กลางภาพ พร้อมอสุนีบาตในมือ นั่งอยู่บนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดใหญ่ในโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดมโหฬาร และให้ชื่อภาพนี้เป็นภาษาฝรั่งเศสว่า La Fée Électricité (The Electricity Fairy)

ภาพวาดนี้สะท้อนถึงบทบาทของไฟฟ้าในวิถีชีวิตสมัยใหม่ ตั้งแต่ท้องไร่ท้องนาจนถึงโรงงาน จากโรงละครจนถึงงานเลี้ยงสังสรรค์ ทั้งยังสะท้อนความศรัทธาที่มีต่อเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 20 แม้ในชื่อภาพจะมีคำว่า เทวทูต แต่ก็เป็นการตอกย้ำว่า Raoul เชิดชูนักวิทยาศาสตร์ที่ช่วยกันพัฒนาไฟฟ้า จากอดีตกาลอันมืดสลัวจนถึงยุคสมัยใหม่อันสว่างไสวมากเพียงไร

Musée d’Art moderne de la Ville de Paris
© ADAGP, Paris, 2014 Photography : Kleinefenn

ถึงเวลาทำความสะอาด ‘ภาพไฟฟ้า’

เมื่อ พ.ศ.2507 ทางบริษัท EDF ตัดสินใจมอบภาพเขียนขนาดยักษ์นี้ให้เป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์ MAM แผ่นภาพทั้ง 250 แผ่นจึงถูกนำมาประกอบต่อกันใหม่ในห้องทรงสามเหลี่ยมที่ได้ชื่อว่า Room Dufy ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 

Room Dufy เป็นห้องรูปทรงสามเหลี่ยมมุมโค้ง ขนาดพื้นที่ 600 ตารางเมตร หากใครนึกขนาดไม่ออก ให้เทียบกับพื้นที่จัดงานเลี้ยงดินเนอร์ขนาด 50 โต๊ะได้ โดยผนังทั้งสามด้านประกอบขึ้นจากภาพวาด Electricity Fairy ของ Raoul ที่ละเลงเล่นสีจนได้รับการขนานนามว่าเป็นห้องแห่งการระเบิดตัวของสรรพสี

ทุกๆ 20 ปี ภาพวาด La Fée Électricité จะได้รับการทำความสะอาดเพื่อให้สีสันของภาพยังคงสดสว่างดังเดิม ซึ่งในปี พ.ศ.2564 ก็วนมาถึงเวลานั้นอีกครั้ง

ขั้นตอนการทำความสะอาดเริ่มจากการถ่ายภาพทุกมุมของ La Fée Électricité ซึ่งนี่เป็นครั้งแรกที่ส่งโดรนขึ้นไปบินเก็บภาพของงานศิลปะสูง 10 เมตรชิ้นนี้ จากนั้นผู้เชี่ยวชาญจะชักรอกตัวเองขึ้นไปเหมือนนักปีนผา เพื่อตรวจสภาพน็อตทั้ง 18,000 ตัวที่ตรึงยึดแผ่นภาพทั้ง 250 แผ่นว่ายังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ ซึ่งปรากฏว่า มีน็อตกว่าครึ่งหนึ่งที่ต้องเปลี่ยนใหม่

Raoul วาดภาพนี้ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Maroger คือใช้สีผสมน้ำมันและน้ำเพื่อให้สีแห้งเร็ว ซึ่งนักซ่อมแซมภาพเขียนต้องใช้เวลากว่า 3 เดือนจึงจะทำความสะอาดภาพได้หมดทั้ง 600 ตารางเมตร มีค่าใช้จ่าย 80,000 ยูโร หรือเกือบ 3 ล้านบาท

ทว่า ยังไม่มีกำหนดว่าสาธารณชนจะได้ยลเหล่าเทวทูตแห่งไฟฟ้าในแบบสีสันสดสว่างเหมือนใหม่อีกครั้งได้เมื่อใด เพราะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 เป็นสำคัญ แต่ระหว่างนี้ คลิกชมภาพ La Fée Électricité ได้แบบ 360 องศา ทางเว็บไซต์ www.mam.paris.fr/en/oeuvre/la-fee-electricite

Cover Photograhy by © Pierre Antoine
Photography by © Musée d’Art moderne de la Ville de Paris