ลองจินตนาการว่า วันหนึ่งเรามีไฟฟ้าใช้เพียง 7 ชั่วโมงต่อวันจะเป็นอย่างไร แน่นอนว่าชีวิตคุณจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง การบริหารเวลาในการใช้ไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าคนเมืองอย่างเราคงแทบจะขาดใจกันทุกคน พฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เราใช้จนเคยชิน ทำให้ทุกช่วงเวลาในชีวิต ขาดไฟฟ้าไม่ได้เลย อย่างตู้เย็นหรือตู้แช่ที่ต้องใช้ไฟฟ้าตลอดเวลา ขนาดตอนนอนหลับ ทุกบ้านยังต้องเปิดแอร์ พัดลม เครื่องฟอกอากาศ ชาร์จแบตเตอรี่ สมาร์ทโฟน หรือ Gadget ต่าง ๆ กันทุกบ้านไป 

ทว่า ‘7 ชั่วโมง’ นั้นคือช่วงเวลาในแต่ละวันที่กว่า 500 ชีวิต 150 หลังคาเรือนในห้วยต้าจะมีไฟฟ้าใช้ซึ่งแบ่งการใช้ไฟเป็นสองช่วงเวลา คือ 14.00 – 16.00 น. และ 18.00 – 23.00 น. โดยมีผู้ชายเพียงคนเดียวที่ดูแลเรื่องไฟฟ้าให้ชาวห้วยต้ามาตลอด 18 ปีเต็ม อย่างไม่มีวันหยุดเลย

หมู่บ้านที่ (เกือบ) ถูกลืม 

‘ห้วยต้า’ ชุมชนที่โดดเดี่ยวอยู่กลางเขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ. 2520 ตั้งอยู่ใน อ.ท่าปลา จ.อุตรดิตถ์ ไร้ซึ่งเขตติดต่อกับชุมชนต่าง ๆ ถนนไม่ได้ถูกเชื่อมต่อกับถนนเส้นอื่น ๆ การเดินทางจึงจำเป็นต้องสัญจรทางน้ำแม้ในปัจจุบันการเดินทางไปหมู่บ้านแห่งนี้ก็ยังต้องเหมาเรือไปเท่านั้น 

การเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างเขื่อนดำเนินไปอย่างถูกระเบียบ ชาวบ้านบริเวณดังกล่าวย้ายไปตั้งรกรากใหม่ตามที่ภาครัฐได้จัดสรรไว้ให้แต่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งจำนวน 13 หลังคาเรือนยังคงยืนยันที่จะปักหลักทำมาหากินบนที่ดินผืนเดิมที่บรรพบุรุษสร้างมา ด้วยความผูกพันกับหมู่บ้านและไร่นาที่ได้ลงทุนลงแรงไปมากโข พวกเขายอมถูกน้ำจากแม่น้ำน่านโอบล้อม ทำให้ต้องตัดขาดการคมนาคมจากโลกภายนอก ต้องเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต จากการทำไร่ทำนา มาทำประมงพออยู่พอกิน ไม่ต้องดิ้นรนแข่งกับใคร จนเวลาล่วงเลยมา 26 ปี สมาชิกในหมู่บ้านเพิ่มเป็นทวีคูณ จำนวนบ้านเพิ่มขึ้นมา 3 เท่าตัววิถีชีวิตและคุณภาพชีวิตค่อย ๆ พัฒนาขึ้นจากการช่วยเหลือของทางการ เริ่มมี โรงเรียน วัด และสถานีอนามัยเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวห้วยต้า และที่สำคัญ ‘ไฟฟ้า’ ปัจจัยหลักในการดำเนินชีวิตของทุกคนได้เข้ามาเมื่อ พ.ศ.2546


ยังยืนหยัดแม้ต้องขาดทุน 

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เข้าสำรวจพื้นที่และวางระบบโรงจักรปั่นไฟ เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับชาวบ้านห้วยต้า ทั้งที่รู้ว่าการลงทุนครั้งนี้ นอกจากจะไม่มีกำไรแน่นอนแล้ว ยังจะขาดทุนต่อเนื่องเป็นเวลายาวนานอีกด้วย เพราะต้องใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า เนื่องจากไม่สามารถขยายเขตระบบไฟฟ้า

จากชุมชนอื่นเข้าไปได้ เพราะไม่สามารถขยายเขตปักเสาไฟฟ้าผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตป่าสงวนมากมายได้ ครั้นจะนำระบบพลังงานสะอาดอย่างโซลาร์เซลล์มาใช้ ก็ไม่สามารถติดตั้งได้ เพราะไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ทำให้ PEA ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยน้ำมันนี้มาตั้งแต่ พ.ศ.2546 จนถึงปัจจุบัน โดยใน พ.ศ.2563 ค่าน้ำมันเฉลี่ยสำหรับการปั่นไฟอยู่ที่เดือนละ 1 แสนบาท ขณะที่รายได้จากการเก็บค่าไฟอยู่ที่เดือนละ 1 หมื่นบาท แต่ PEA ก็ยังคงตั้งใจให้บริการกระแสไฟฟ้ากับชาวบ้านต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด


หน้าที่และผูกพัน 

พี่อำนวย แสนวิใจ พนักงานช่างคนเดียวของ PEA ที่ดูแลระบบไฟฟ้าและโรงจักรปั่นไฟให้กับชาวห้วยต้ามาตลอด 18 ปี เล่าให้ฟังถึงความยากลำบากในการทำงานว่า “การทำงานคนเดียว หมายถึงต้องทำทุกอย่างเองหมด ตั้งแต่เดินเครื่องจักร บำรุงรักษาเครื่องจักร เติมน้ำมัน ทำความสะอาด รวมถึงดูแลสายไฟทุกเส้น เสาไฟทุกต้น ทำงานโดยไม่มีวันหยุด และเวลาทำงานก็มากกว่าคนทำงานปกติทั่วไป ทุกวันชาวบ้านจะตั้งตารอให้ถึงเวลาจ่ายกระแสไฟฟ้า ผมก็เหมือนเป็นความหวังของคนทั้งหมู่บ้าน ต้องบริการกระแสไฟฟ้าให้เขาได้ดำรงชีวิตกัน 

“เมื่อก่อนผมต้องขึ้นฝั่งเพื่อไปเอาน้ำมันทุกอาทิตย์ เพราะมีแต่เรือเล็กที่บรรทุกน้ำมันได้เพียงไม่กี่ถัง แต่ 8 ปีมานี้สบายหน่อยชาวบ้านซื้อเรือลำใหญ่มา ทำให้ขนน้ำมันมาได้มากขึ้น ขนมารอบนึงใช้ได้ทั้งเดือนเลย ช่วงที่ลำบากหน่อยก็คือช่วงฤดูฝนและหน้ามรสุม เพราะการเดินทางลำบากกว่าเดิมสองเท่าตัว พอเรือเจอพายุฝนฟ้าคะนองเข้า ลมพัดแรง ก็ต้องจอดเรือขนน้ำมันแอบที่เกาะไหนสักเกาะหนึ่งก่อน เพราะไปต่อไม่ได้เลย บางทีติดฝนทั้งวัน ชาวบ้านก็รอใช้ไฟ ถึงเวลาไฟไม่มาสักที เขาก็เริ่มเป็นห่วง คอยโทรหาผม แต่พวกเขาก็เข้าใจนะว่าต้องรอให้ฝนหยุด ผมถึงจะกลับได้ 

“ครั้งไหนที่จ่ายกระแสไฟฟ้าให้ชาวบ้านช้าไปเยอะ ผมก็ตามไปขอโทษเขาทุกบ้าน ซึ่งเขาก็เข้าใจนะ ทุกคนเป็นห่วงเป็นใย บางครั้งเครื่องปั่นไฟเสียจนผมซ่อมไม่ได้ ก็ไล่บอกทุกบ้านว่าใช้ไฟกันประหยัดหน่อยนะ ช่วงนี้เครื่องบางตัวใช้การไม่ได้ ต้องรอช่างจากกรุงเทพฯ มาซ่อมให้ ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือเต็มที่ เปลี่ยนจากหุงข้าวด้วยหม้อไฟฟ้าไปหุงข้าวด้วยเตาฟืนแทน 

“เมื่อก่อนผมปั่นไฟเฉพาะช่วงหกโมงถึงห้าทุ่ม (18.00 – 23.00 น.) เท่านั้น เพื่อให้ชาวบ้านได้มีไฟฟ้าใช้ทำกับข้าว ให้เด็ก ๆ ได้ทำการบ้านอ่านหนังสือ รวมถึงได้เปิดวิทยุฟังข่าวสารบ้านเมืองบ้าง บางบ้านมีโทรทัศน์ ก็ไปดูด้วยกัน จอเล็ก ๆ ดูกัน 30-50 คน แต่เมื่อ พ.ศ.2562 ผู้อำนวยการโรงเรียนก็มาขอให้ PEA จ่ายกระแสไฟฟ้าเวลา14.00 – 16.00 น. เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนคอมพิวเตอร์ตามภาควิชาบังคับผมก็ทำเรื่องถึงผู้บริหาร ซึ่งก็ได้รับอนุมัติมา ชาวบ้านก็ดีใจกันใหญ่โตเพราะพลอยได้อานิสงส์จากเด็ก ๆ ได้เวลาใช้ไฟฟ้าเพิ่มไปด้วยที่นี่อยู่กันอย่างสามัคคีครับ เข้าอกเข้าใจกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือกันตลอด ผมก็คนพื้นเพที่นี่ ก็ไม่อยากทิ้งพวกเขาไปไหนหรอกครับมันผูกพัน แล้วเขาก็ขาดผมไม่ได้เหมือนกัน” 

หลังจากการเดินทางมาเยือนห้วยต้าของผู้เขียนจบลง นอกจากความสุขที่ได้มาเยือนสถานที่ใหม่ ๆ แล้ว ยังได้สิ่งดี ๆ กลับไปอีกเยอะมากเลยครับ เป็นความประทับใจ รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ จนอดไม่ได้ที่จะนำเรื่องราวดี ๆ ที่เกิดจากการคิดดี ทำดี เสียสละเพื่อส่วนรวมมาเล่าให้ได้อ่านกันครับ

เรื่องและรูปถ่ายโดย กุลบุตร จินันทุยา PEA CREATOR