แสงและการถ่ายภาพเป็นสิ่งที่ไม่อาจแยกออกจากกัน เพราะถ้าไม่มีแสง ก็เก็บภาพไม่ได้ ช่างภาพที่จริงจังกับการถ่ายภาพส่วนใหญ่จึงมักเกิดภาวะ ‘หิวแสง’ เสมอ ยามต้องทำงานในสถานที่ที่มีแสงน้อย ๆ

บางครั้งการลงทุนเดินทางไกลหลายพันกิโลเมตรเพื่อมาเก็บภาพบางสิ่ง แต่เมื่อไปถึงกลับเผชิญกับสภาพแสงที่ไม่เป็นใจเอาเสียเลย ยิ่งเจอแสงทึม ๆ ถ่ายภาพออกมาก็ไม่ได้ดั่งใจ ทำให้แทบอยากจะยกเลิกทริปการเดินทางนั้นไปเลย (ถ้าเลือกได้)

มาว่ากันด้วยเรื่องของ ‘แสง’ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในแต่ละวันกันดีกว่าครับ เริ่มตั้งแต่เช้าตรู่ที่พระอาทิตย์ฉายแสงสว่างขึ้นทาบทาโลก ไล่ไปตอนสาย บ่าย กระทั่งเย็นย่ำที่พระอาทิตย์ลาลับขอบฟ้าไป ต่อจากนั้นก็มีทั้งแสงจันทร์และแสงดาวที่นำทางให้ช่างภาพได้มีโอกาสถ่ายภาพอย่างที่ตั้งใจ ซึ่งการถ่ายภาพในแสงแต่ละช่วงเวลาก็ต้องอาศัยเทคนิคแตกต่างกันไป

ในยามเช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์จะฉายแสงขึ้นทาบแผ่นฟ้าทางทิศตะวันออก  นี่ถือเป็นนาทีทองของช่างภาพสายวิวทิวทัศน์ แม้ในเช้ามืดที่ตาเราอาจมองอะไรไม่ค่อยเห็นในความมืดมิดนั้น แต่กล้องกลับสามารถมองเห็น แม้ว่าจะมีเพียงแสงเรืองรองของตะวันอันน้อยนิดติดอยู่ปลายขอบฟ้า ซึ่งกล้องจะใช้เวลาในการสะสมแสงเพื่อให้เกิดเป็นภาพขึ้นมา โดยเริ่มจากความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ และค่อยเพิ่มขึ้นเมื่อแสงสีทองเริ่มฉายขึ้นมาจับขอบฟ้า ในห้วงเวลานี้แม้พอมีโอกาสให้ช่างภาพได้เปลี่ยนมุมถ่ายภาพอยู่บ้าง แต่ทุกคนก็ต่างตั้งหน้าตั้งตาเก็บภาพของแสงตะวันที่ค่อย ๆ ไต่ขึ้นมาโผล่หน้า ซึ่งจะทำมุมเฉียง ๆ สาดผ่านเข้ามา เพราะเป็นแสงที่ธรรมชาติจัดสรรมาให้ได้อย่างงดงามลงตัวที่สุด จนกระทั่งสายสัก 9 โมงเช้า แสงอาทิตย์จะสาดแรงเต็มที่ เป็นที่รู้กันว่า แสงตอนนี้ชักแข็งและไม่เหมาะที่จะเก็บบรรยากาศความงามของธรรมชาติอีกแล้ว ช่างภาพก็จะรามือจากวิวทิวทัศน์ หันไปเก็บภาพอย่างอื่นแทนในช่วงนี้ 

ครั้นพอถึงช่วงบ่าย ตั้งแต่ประมาณบ่ายโมงจนล่วงไปหลัง 4 โมงเย็น แสงของดวงอาทิตย์ช่วงนี้จะเริ่มทำมุมเฉียง ๆ จึงเป็นสภาพแสงที่ดีเหมาะในการถ่ายภาพอีกครั้ง จากนั้นแสงจะแปรเปลี่ยนสภาพ ทั้งสีสันและรูปทรงไปเรื่อย ๆ กระทั่งเย็นย่ำ ซึ่งแต่ละช่วงก็ถือเป็นแสงที่ช่างภาพถ่ายภาพได้ไม่เบื่อ ช่วงที่พระอาทิตย์ลับขอบฟ้าใหม่ ๆ จะยังหลงเหลือแสงสุดท้ายที่เปล่งประกายให้เห็นก่อนจะลาลับไป ทิ้งไว้แต่ความมืดมิด ซึ่งหลายคนอาจคิดว่า เมื่อไม่มีแสงก็ถ่ายภาพไม่ได้แล้ว

ทว่า ยังมีช่างภาพอีกกลุ่มหนึ่งครับที่ยังไม่อิ่มเอมต่อแสงในยามกลางวัน จึงยังคงเก็บภาพต่อท่ามกลางความมืดมิดของคืนเดือนมืด โดยมีจุดหมายอยู่ที่การถ่ายภาพ ‘ทางช้างเผือก’ ซึ่งในความมืดที่แทบมองไม่เห็นแม้แต่ฝ่ามือของตนเองนั้น กล้องกลับบันทึกภาพการเดินทางของดวงดาวเอาไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ เพียงต้องปรับการเปิดหน้ากล้องให้นานขึ้น เพื่อให้กล้องได้สะสมแสงแล้วถ่ายภาพออกมา

ด้วยเหตุนี้ การถ่ายภาพจึงต้องรู้จักเลือกใช้แสงและปรับให้เหมาะสมกับลักษณะภาพที่ต้องการถ่าย หากเข้าใจแสง เข้าใจการทำงานของกล้อง แล้วปรับทั้งสองสิ่งให้ไปด้วยกันได้ คุณจะได้รับความลงตัวของแสงกับการถ่ายภาพ ทำให้เกิดภาพที่งดงาม  นอกจากนี้ ในยามที่แสงจากแสงธรรมชาติไม่เอื้ออำนวยต่อการถ่ายภาพ ช่างภาพก็ยังมีตัวช่วยครับ นั่นก็คือ ‘แฟลช’ ที่เป็นแหล่งกำเนิดแสงส่วนตัว พกติดกระเป๋ากล้องไปด้วยได้ ซึ่งแสงจากแฟลชจะทำงานร่วมกับแสงธรรมชาติได้ดีในกรณีที่ต้องการใช้แฟลชลบเงาในที่มืด ที่แสงธรรมชาติส่องไปไม่ถึง 

หากเป็นการถ่ายภาพสำหรับงานที่ต้องการความเนี้ยบมากขึ้นนั้น บางครั้งช่างภาพก็ไม่อยากเสี่ยงกับแสงธรรมชาติที่ไม่อาจกำหนดทิศทางและปรับระดับกำลังความเข้มได้อย่างที่ใจต้องการ ไม้ตายของช่างภาพก็คือการถ่ายภาพใน ‘สตูดิโอ’ ซึ่งมีแหล่งกำเนิดแสงให้ช่างภาพได้เลือกใช้ตามปรารถนา โดยไม่มีเงื่อนไขของแสงในแต่ละช่วงเวลาเหมือนแสงจากธรรมชาติ ด้วยเทคโนโลยีของอุปกรณ์ถ่ายภาพทำให้สามารถจัดแสงให้เทียบเท่าแสงธรรมชาติ ทั้งยังกำหนดทิศทางของแสงที่มากระทบวัตถุตามจินตนาการของช่างภาพได้อย่างสะดวกสบายอีกด้วย

เรื่องและภาพถ่ายโดย นคเรศ ธีระคำศรี