Grid Brief

  • Virgin Hyperloop เป็นเจ้าแรกในโลกที่ทดสอบการเดินรถความเร็วสูงภายในท่อสุญญากาศได้สำเร็จ
  • Josh Giegel และ Sara Luchian คือมนุษย์ 2 คนแรกที่เดินทางในท่อไฮเปอร์ลูป
  • การทดสอบครั้งนี้เดินรถด้วยความเร็ว 160 กม./ชม. ยังห่างไกลจากเป้าหมายที่ 1,223 กม./ชม.
พาหนะสีขาวรูปร่างเหมือนแคปซูล ชื่อว่า เพกาซัส
credit: Virgin Hyperloop

เมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายนที่ผ่านมา กลางทะเลทรายห่างจากตัวเมืองลาสเวกัส สหรัฐอเมริกา ออกไป 30 นาที พาหนะสีขาวรูปร่างเหมือนแคปซูลซึ่งมีชื่อเรียกว่า ‘เพกาซัส’ ลอยตัวเหนือรางความยาว 500 เมตร แล้วพุ่งทะยานเข้าไปในอุโมงค์ที่ความเร็ว 48 เมตรต่อวินาที อีก 10 วินาทีถัดมา เพกาซัสก็ไปถึงปลายสุดอีกด้านของรางแล้วเรียบร้อย และเมื่อฝาครอบถูกเปิดออก ชายหญิงคู่หนึ่งก้าวออกมาและประกาศว่า เขาและเธอคือคนคู่แรกของโลกที่เดินทางด้วยเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป (Hyperloop)

เหตุการณ์นี้อาจเป็นการทดสอบยานพาหนะทั่ว ๆ ไปที่ไม่ได้สลักสำคัญอะไร แต่ทันทีที่มีคำว่า ‘ไฮเปอร์ลูป’ ต่อท้าย การทดสอบครั้งนี้ก็ถูกจับตามองไปทั่วโลก

ผู้โดยสารชายหญิงสวมหูฟังและคาดเข็มขัดนิรภัยขณะนั่งในไฮเปอร์ลูป
ผcredit: Virgin Hyperloop

Josh Giegel ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยี กับ Sarah Luchian หัวหน้าฝ่าย ‘ประสบการณ์ของผู้โดยสาร’ แห่ง Virgin Hyperloop กล่าวว่า “ถ้าไม่ปลอดภัยกับเรา ก็ไม่ปลอดภัยกับผู้โดยสารเช่นกัน” แต่โชคดีที่ทั้งสองผ่านการทดสอบได้โดยไม่เจออุบัติเหตุใด ๆ แถมก่อนทดสอบก็ไม่ได้เตรียมฟิตร่างกายอะไรเลย ต่างกับนักบินอวกาศที่ก่อนจะออกนอกโลกก็ต้องฝึกฝนร่างกายนานหลายเดือน 

ไฮเปอร์ลูปคือการเดินทางรูปแบบใหม่ในอนาคตของโลก โดยผู้โดยสารจะเข้าไปนั่งในยานพาหนะที่เรียกว่า ‘พ็อด’ (Pod – ซึ่งที่ Virgin Hyperloop ตั้งชื่อให้ว่าเพกาซัส เป็นชื่อของม้ามีปีกในตำนานเทพปกรณัมกรีก) จุผู้โดยสารได้ 28 คน แล้วพ็อดที่หนัก 2.5 ตันจะเคลื่อนที่เข้าไปในท่อ (หรืออุโมงค์) สุญญากาศด้วยความเร็วสูงมาก อย่างที่ทาง Virgin Hyperloop ตั้งเป้าไว้ว่าต้องทำความเร็วให้ได้ 1,223 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 

รถไฟแม็กเลฟของญี่ปุ่นทำสถิติวิ่งด้วยความเร็ว 603 กม./ชม. ขณะที่จีนก็ประกาศว่าจะทดสอบเครือข่ายรางรถไฟแม็กเลฟในมณฑลหูเป่ย ซึ่งจะวิ่งเร็วกว่า 1,000 กม./ชม.ในปีนี้

สิ่งที่ทำให้ไฮเปอร์ลูปเดินทางด้วยความเร็วสูงขนาดนั้นได้มาจากเทคโนโลยี Maglev หรือ (Magnetic Levitation) ที่ใช้ในรถไฟความเร็วสูงนั่นเอง แม็กเลฟจะใช้พลังงานไฟฟ้าเหนี่ยวนำให้เกิดเป็นสนามแม่เหล็กเกิดขึ้น โดยมีขั้วแม่เหล็กติดบนรางและตัวรถ ตัวพาหนะจะถูกขั้วแม่เหล็กที่เหมือนกันผลักไปด้านหน้าและถูกดูดไปยังขั้วต่อไปด้วยขั้วที่ต่างกัน จึงเกิดแรงผลักให้พาหนะลอยตัวเหนือราง ซึ่งช่วยลดเเรงเสียดทานกับพื้น อันเป็นข้อจำกัดที่เกิดขึ้นกับรถไฟความเร็วสูงหรือพาหนะที่ใช้ล้อ ยานพาหนะที่ใช้เทคโนโลยีแม็กเลฟจึงเคลื่อนตัวได้อย่างรวดเร็ว

รถไฟแม็กเลฟของญี่ปุ่นทำสถิติวิ่งด้วยความเร็ว 603 กม./ชม. ขณะที่จีนก็ประกาศว่าจะทดสอบเครือข่ายรางรถไฟแม็กเลฟในมณฑลหูเป่ย ซึ่งจะวิ่งเร็วกว่า 1,000 กม./ชม.ในปีนี้ 

เบาะนั่งของไฮเปอร์ลูปที่มีเข็มขัดนิรภัย
credit: Virgin Hyperloop

แต่ในอเมริกา Virgin Hyperloop นำเทคโนโลยีแม็กเลฟมาผสมกับเทคโนโลยีไฮเปอร์ลูป และถ้าทำสำเร็จจะทำให้การเดินทาง 615 กิโลเมตรจากลอสแองเจลิสไปซานฟรานซิสโก (ระยะทางเท่าถนนมิตรภาพ เริ่มต้นที่สระบุรี สิ้นสุดที่จังหวัดหนองคาย) หากนั่งเครื่องบินจะใช้เวลา 1.28 ชั่วโมง ถ้าขับรถจะใช้เวลา 6 ชั่วโมง แต่ถ้านั่งไฮเปอร์ลูปจะใช้เวลาเพียง 43 นาทีเท่านั้น 

การทดสอบครั้งนี้นับเป็นก้าวแรกของการปฏิวัติการเดินทางในรอบศตวรรษ นับตั้งแต่มนุษย์เดินทางด้วยอูฐ ม้า ล่อ ลา เกวียน รถไฟ รถยนต์ เครื่องบิน และรถไฟความเร็วสูง ปัจจุบันเราเข้าใกล้ยุครถไร้คนขับและรถไฟไฮเปอร์ลูปแล้ว