สถิติชี้ ปี 2023 ร้อนที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึก ส่วนปี 2024 มีโอกาสร้อนยิ่งขึ้นอีก

Cartoon image of different climate charts and maps.

ปี 2023 ที่ผ่านมา ได้รับการยืนยันแล้วว่า เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกสถิติมา อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ (El Niño)

สำนักบริการด้านสภาพแวดล้อมของสหภาพยุโรป ระบุว่าปีที่แล้ว โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวก่อนที่มนุษย์จะเริ่มเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลราว 1.48 องศาเซลเซียส

ขณะที่ ผลการวิเคราะห์โดยบีบีซีพบว่า ในเกือบทุก ๆ วันนับตั้งแต่เดือน ก.ค. ที่ผ่านมา อุณหภูมิอากาศโลกจะทำสถิติใหม่เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ส่วนอุณหภูมิผิวน้ำทะเลก็ทุบสถิติเดิมเช่นกัน

จากสถิติใหม่เหล่านี้ ยิ่งทำให้โลกใกล้เลยจุดหมายสำคัญด้านสภาพอากาศระดับนานาชาติ ที่ตกลงกันไว้ว่าจะพยายามจำกัดไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับช่วงก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม

"สิ่งที่ทำให้ผมต้องฉุกคิด ไม่ใช่เพียงว่าปี 2023 เป็นปีที่ร้อนที่สุดจนเป็นสถิติเท่านั้น แต่เป็นเพราะมันทำลายสถิติก่อนหน้าไปอย่างมากด้วย" แอนดรูว เดสส์เลอร์ ศาสตราจารย์ด้านบรรยากาศศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม เล่าให้ฟัง

ยิ่งเมื่อพิจารณาส่วนต่างระหว่างสถิติที่เกิดขึ้นใหม่และสถิติก่อนหน้า ซึ่งจะเห็นได้จากแผนภูมิด้านล่าง "ยิ่งทำให้รู้สึกแปลกใจยิ่งนัก" ศ.เดสส์เลอร์ กล่าวโดยพิจารณาจากอุณหภูมิเฉลี่ยที่เกิดขึ้นทั่วโลก

Multiple line chart showing daily average global air temperature, with a line for each year between 1940 and 2023. The 2023 line is far above any previous level for much of the second half of the year

ห้วงเวลาแห่งความร้อน

เป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดีว่า โลกในตอนนี้ร้อนขึ้นมากกว่าเมื่อ 100 ปีก่อน อันเป็นผลพวงจากการกระทำของมนุษย์ที่ยังคงเป็นต้นตอการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ สู่ชั้นบรรยากาศในปริมาณมหาศาล

ย้อนไปเมื่อ 12 เดือนก่อน ไม่มีหน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์สำคัญหน่วยใดที่ออกมาคาดการณ์อย่างเป็นกิจลักษณะว่า ปี 2023 จะเป็นปีที่ทำสถิติร้อนที่สุด เนื่องจากวิถีที่ซับซ้อนเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศของโลก

ในช่วงเดือนแรก ๆ ของปีก่อน พบว่ามีไม่กี่วันเท่านั้นที่ทำสถิติร้อนที่สุดเหนือปีก่อนหน้าที่เคยมีการบันทึก แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง อุณหภูมิโลกทำสถิติร้อนสูงสุดใหม่เกือบทุกวัน

ลองพิจารณาจากแผนภูมิปฏิทินด้านล่าง ซึ่งช่องแต่ละช่องแทนหนึ่งวันบนปฏิทินของปี 2023 วันที่มีการทำสถิติร้อนสูงสุดครั้งใหม่จะมีสีแดงเข้ม นับจากเดือน มิ.ย. เป็นต้นมา สิ่งที่เราค้นพบคือ มีการทำสถิติใหม่ตลอดเกือบทุกวัน

graphic

ข้อมูลเหล่านี้ ทีมงานบีบีซีวิเคราะห์จากข้อมูลของหน่วยบริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Climate Change Service) ของยุโรป โดยพบอีกว่า มีจำนวนวันมากกว่า 200 วันในปี 2023 ที่ทำสถิติอากาศร้อนสูงสุดครั้งใหม่เมื่อเทียบกับวันเดียวกันของปีก่อนหน้าทั้งหมดที่เคยมีการบันทึก

ปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว หลัก ๆ แล้วเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างรวดเร็วจากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งเกิดแทรกขึ้นมาในภาวะที่อุณหภูมิโลกระยะยาวกำลังสูงขึ้นด้วยการกระทำของมนุษย์

เอลนีโญ คือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ผิวน้ำทะเลที่อุ่นกว่าจากแถบมหาสมุทรแปซิฟิกทางตะวันออกปลดปล่อยความร้อนเพิ่มเติมสู่ชั้นบรรยากาศ

อุณหภูมิในอากาศสูงขึ้นอย่างผิดปกติในปรากฏการณ์เอลนีโญระยะแรก อย่างไรก็ตาม ผลกระทบเต็ม ๆ จากเอลนีโญครั้งนี้คาดว่าจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงช่วงต้นปี 2024 เมื่อปรากฏการณ์เอลนีโญไปถึงจุดเข้มข้นสูงสุด

นี่ทำให้นักวิทยาศาสตร์จำนวนมากยังไม่แน่ใจว่า กำลังเกิดอะไรขึ้นกับสภาพภูมิอากาศกันแน่

"นั่นจึงทำให้เกิดคำถามที่น่าสนใจหลายประการว่า เพราะเหตุใด ปี 2023 จึงร้อนได้ขนาดนี้" ซีก เฮาส์ฟาเธอร์ นักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศจากองค์กรเบิร์กลีย์ เอิร์ธ ในสหรัฐอเมริกา กล่าว

ผลกระทบที่รับรู้ได้ทั่วโลก

สิ่งที่น่าในใจอีกประการหนึ่งของปี 2023 คือ ความร้อนซึ่งสามารถรับรู้และรู้สึกได้ไปทั่วโลก แผนที่ด้านล่างบอกเราว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกมีอุณหภูมิสูงกว่าระดับความร้อนที่เกิดขึ้นช่วงปี 1991-2020 ซึ่งในตัวมันเองก็เป็นช่วงที่มีอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเฉลี่ย 0.9 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับช่วงก่อนที่มนุษย์จะเริ่มเผาผลาญเชื้อเพลิงฟอสซิลในปริมาณมหาศาลในช่วงปลายศตวรรษที่ 1800

graphic globe

ที่มาของภาพ, bbc

ผลที่เกิดขึ้นจากความร้อนที่ทำลายสถิติโลกนี้ ทำให้หายนะภัยทางอากาศเลวร้ายมากขึ้นในหลายพื้นที่ของโลกในปี 2023 นับต้้งแต่คลื่นความร้อนสูง, ไฟป่าในแคนาดาและสหรัฐฯ ไปจนถึงภัยแล้งอันยาวนานและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทางตะวันออกของทวีปแอฟริกา

ภัยทางธรรมชาติเหล่านี้หลายครั้ง มีขนาดความรุนแรงมากเกินกว่าที่เคยเห็น หรือไม่ก็เกิดขึ้นในช่วงเวลาของปีที่ปกติไม่ควรเกิด

ศ.เปตเตรี ตาลาส เลขาธิการองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกที่ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2016-2023 ระบุว่า "มันเป็นมากกว่าสถิติ... สภาพอากาศสุดขั้วได้คร่าชีวิตและทำลายความเป็นอยู่ของผู้คนในทุกวัน"

ภาพไฟป่า

ที่มาของภาพ, BBC

อุณหภูมิของอากาศเป็นเพียงหนึ่งในมาตรวัดที่บ่งชี้ให้ทราบว่าสภาพภูมิอากาศของโลกใบนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วอย่างไร ยังมีตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่ชี้ให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปี 2023 อีก เช่น

- ปริมาณน้ำแข็งในทะเลแอนตาร์กติก (ขั้วโลกใต้) ลดน้อยลงจนแตะระดับต่ำที่น่าตกใจ ส่วนระดับน้ำแข็งทะเลบริเวณขั้วโลกเหนือก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยด้วย

- ธารน้ำแข็งทางตะวันตกของทวีปอเมริกาเหนือและบนเทือกเขาแอลป์ในยุโรป กำลังเผชิญกับฤดูการละลายที่รุนแรง ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น

- อุณหภูมิผิวน้ำทะเลทั่วโลกทำสถิติสูงสุด ท่ามกลางการเกิดคลื่นความร้อนหลายระลอกในทะเล รวมทั้งในพื้นที่เขตมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือ

ข้อมูลการวิเคราะห์ของทีมงานบีบีซีโดยใช้ฐานข้อมูลจากหน่วยบริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส พบว่านับตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. 2023 เป็นต้นมา อุณหภูมิผิวน้ำในมหาสมุทรทั่วโลกสร้างสถิติใหม่ต่อเนื่องทุกวัน แผนภูมิด้านล่างแสดงให้เห็นว่า มีหลายวันที่สถิติใหม่สูงขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ๆ

graphic

คำเตือนสำหรับปี 2024 และปีถัดไป

นี่อาจจะเป็นข่าวร้ายสำหรับปี 2024 เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่ปีนี้จะร้อนมากขึ้นกว่าปี 2023 เนื่องจากความร้อนผิวน้ำในมหาสมุทรที่ทำสถิติใหม่บางส่วนจะแทรกซึมขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แม้ว่าพฤติกรรมแปลก ๆ ของปรากฏการณ์เอลนีโญในปัจจุบันจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นก็ตามว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ตามความเห็นของ ดร.เฮาส์ฟาเธอร์

กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งสหราชอาณาจักรระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่ปี 2024 อุณหภูมิเฉลี่ยโลกอาจสูงเกินกว่าเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียส ตลอดปีปฏิทินเป็นครั้งแรก

ย้อนหลังไปเมื่อปี 2015 เกือบ 200 ประเทศทั่วโลกได้ลงนามในความตกลงปารีสที่ต้องการจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกินระดับดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่รุนแรงจากภาวะโลกร้อน อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงปารีสอ้างถึงอุณหภูมิเฉลี่ยระยะยาว 20-30 ปี ดังนั้น หากปี 2024 อุณหภูมิโลกสูงเกินเกณฑ์ดังกล่าว ก็ยังไม่ได้หมายความว่าเป็นการละเมิดความตกลงปารีส

แต่แนวโน้มอุณหภูมิโลกในปี 2023-24 ก็ทำให้เกิดความกังวล เนื่องจากแสดงให้เห็นว่าทิศทางอุณหภูมิโลกมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น โดยแต่ละปีที่ร้อนขึ้นจะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยระยะยาวของโลกเข้าใกล้หมุดหมาย 1.5 องศาเซลเซียสมากขึ้น

นอกจากนี้ กิจกรรมของมนุษย์ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนในระยะยาว แม้ว่าปัจจัยทางธรรมชาติ เช่น ปรากฏการณ์เอลนีโญ สามารถเพิ่มหรือลดอุณหภูมิในแต่ละปีได้ และความร้อนทำสถิติที่เกิดขึ้นในปี 2023 ก็ถือเป็นกรณีที่เกิดจากสาเหตุที่มากไปกว่าแค่จากปัจจัยทางธรรมชาติ

แผนภูมิด้านล่างอธิบายเกี่ยวกับเหตุการณ์ในปี 1998 และ 2016 โดยทั้งสองปีต่างได้รับการบันทึกให้เป็นปีที่โลกทำสถิติอุณภูมิสูงสุดครั้งใหม่ในช่วงเวลาดังกล่าว และทั้งสองปีต่างได้รับอิทธิพลจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่รุนแรง อย่างไรก็ตาม สถิติเก่าทั้งสองต่างยังห่างไกลจากสถิติใหม่ที่เกิดขึ้นในปี 2023 ที่แสดงโดยสีแดงเข้ม

Map showing annual average air temperatures around the world in 2023 compared with 1991-2020 levels. Almost all of the world experienced above average temperatures, especially northern Canada, parts of the Arctic and Antarctic, and western South America

"ปี 2023 ถือว่าเป็นปีพิเศษที่ต่างจากปีก่อน ๆ ด้วยสถิติด้านภูมิอากาศที่ถูกทำลายลงต่อเนื่องเหมือนกับโดมิโน" ซาแมนธา เบอร์เกสส์ รองผู้อำนวยการจากหน่วยบริการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัส กล่าว

คำเตือนดังกล่าวนี้เกิดขึ้นไม่นานหลังการประชุมสุดยอดด้านภูมิอากาศ COP28 ที่เป็นเวทีที่บรรดาผู้นำชาติต่าง ๆ เห็นพ้องเป็นครั้งแรกในการต่อสู้กับต้นตอหลักของภาวะโลกร้อน นั่นคือการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล

แม้ถ้อยคำในข้อตกลงดังกล่าวจะไม่หนักแน่นเท่าที่หลายคนต้องการ กล่าวคือไม่มีข้อผูกมัดให้ประเทศต่าง ๆ ต้องดำเนินการตาม แต่ก็เป็นที่คาดหวังกันว่ามันจะช่วยสร้างให้มีพัฒนาการเชิงบวกจากความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นบ้างแล้ว เช่น การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและรถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า ข้อตกลงที่เกิดขึ้นจากเวที COP28 ยังคงสามารถสร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญในการจำกัดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนได้ แม้ว่าการควบคุมอุณหภูมิโลกให้อยู่ในเกณฑ์ 1.5 องศาเซลเซียสมีแนวโน้มจะเป็นไปได้ยากก็ตาม

"แม้ว่าเราอาจจะไปจบอยู่ที่ 1.6 องศาเซลเซียส แต่มันก็ยังดีกว่าการยอมแพ้และปล่อยให้มันลงเอยด้วยอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 3 องศาเซลเซียส ซึ่งหากเราไม่มีการเปลี่ยนนโยบายเลย เราจะไปถึงจุดนั้นแน่นอน" ดร.ฟรีเดอริเกอ ออตโต นักวิชาการอาวุโสด้านภูมิอากาศวิทยาจากอิมพีเรียล คอลเลจ ลอนดอน กล่าว

"ทุก ๆ จุดทศนิยมของแต่ละองศาล้วนมีความสำคัญ" เธอกล่าวทิ้งท้าย

รายงานเพิ่มเติมโดย เบกกี เดล