"วัว" สัตว์โลกที่น่ารัก ที่่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาไม่รู้ตัว
  • 27 เมษายน 2566
  • 2,729 ครั้ง

“วัว” เป็นสัตว์โลกน่ารักที่พวกเรารู้จักกันเป็นอย่างดี
แต่รู้ไหมว่า ร่างกายของวัวสามารถผลิตและปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาได้
.
โดยวัวเป็นสัตว์ที่มีกระเพาะมากถึง 4 กระเพาะ เมื่อวัวกินอาหารเข้าไป กระเพาะส่วนแรกหรือส่วน Rumen จะเกิดกระบวนการหมัก ซึ่งผลิตก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นก๊าซเรือนกระจกออกมาจำนวนมาก จากข้อมูลพบว่า วัว 1 ตัว สามารถผลิตก๊าซมีเทนได้สูงถึง 70 - 120 กิโลกรัมต่อปี นอกจากนี้ ยังมีสัตว์เคี้ยวเอื้องชนิดอื่น เช่น แกะ แพะ และกวาง ที่ผลิตก๊าซมีเทนในกระบวนการย่อยไฟเบอร์หรือหญ้าที่พวกมันกินเข้าไปเช่นเดียวกัน
.
หลายประเทศทั่วโลกทราบข้อมูลเหล่านี้ จึงได้คิดค้นและพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับ “วัว” ที่น่าสนใจขึ้นมามากมาย เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกาได้คิดค้นแนวคิด “ลดการเรอของวัว” เพราะก๊าซมีเทนที่มาจากการเรอและผายลมของวัว คิดเป็น 15% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก โดยได้สร้างสารประกอบชนิดหนึ่งขึ้นมาเพิ่มลงในอาหารวัว คือ สาร 3-Nitrooxypropanol (3NOP) ที่ช่วยลดการเกิดก๊าซมีเทนลงได้ประมาณ 30%
.
แนวคิดต่อมา “การเก็บภาษีเรอ” ของประเทศนิวซีแลนด์ ถือเป็นประเทศแรกที่เรียกเก็บเงินจากเกษตรกรเจ้าของฟาร์มวัว ควาย และแกะ เนื่องจากการปล่อยก๊าซมีเทนจากสัตว์ที่พวกเขาเลี้ยงไว้ โดยภาษีที่เก็บได้ จะถูกนำไปใช้กับงานวิจัยและพัฒนาศักยภาพเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ให้สามารถทำฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากที่สุด ซึ่งผู้คนในประเทศส่วนใหญ่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้และคาดว่าจะเริ่มเก็บภาษีเรอได้จริงภายในปี ค.ศ. 2025 เป็นต้นไป
.
อีกหนึ่งตัวช่วยในการลดการปล่อยก๊าซมีเทนของวัว คือ อาหารสัตว์ที่ทำมาจากสาหร่ายทะเลสีแดง ที่มีชื่อว่า Asparagopsis taxiformis โดยสาหร่ายชนิดนี้จะมีสารเคมีที่ไปลดจุลินทรีย์ในกระเพาะอาหารของวัว ที่ทำให้พวกมันเรอเมื่อกินหญ้า ซึ่งงานวิจัยจาก College of Agricultural and Environmental Sciences ชี้ว่า การให้วัวกินสาหร่ายทะเลสีแดงแทนหญ้าจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซมีเทนได้ถึง 80 %
.
จะเห็นได้ว่า หลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับการปล่อยก๊าซมีเทนของวัวจนเกิดเป็นแนวคิดที่น่าสนใจมากมาย แต่อีกหนึ่งวิธีที่เราจะช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้แบบง่าย ๆ ก็คือ ลดปริมาณการรับประทานเนื้อวัวให้น้อยลงและเลือกรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ชนิดอื่นที่ผลิตก๊าซมีเทนน้อยกว่าให้มากขึ้น เช่น ไข่ เป็ด ไก่ หมู ปลา รวมถึงการรับประทานพืชผักและผลไม้ด้วย
.
ที่มาข้อมูล : BBC https://bbc.in/3T8lniL และ https://bbc.in/3T1M5tr,
Techsauce media https://bit.ly/3JsUanT

ที่มาสื่อประชาสัมพันธ์ : กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม