นักออกแบบเฟอร์นิเจอร์สองรายที่สร้างผลงานใหม่ด้วยการ Upcycle สร้างสรรค์ ‘ขยะ’ ให้กลายเป็นสิ่งใหม่ในแบบที่แตกต่างกัน กลายมาเป็นเก้าอี้นั่ง พิง หรือให้แสงสว่างในบ้านเรือนได้แบบที่เพื่อนบ้านมาเห็นเป็นต้องอยากได้บ้าง

Grid Brief

  • Boris Dennler นักออกแบบชาวสวิสนำแผ่นซีดีและแผ่นดีวีดีที่เป็นของตกยุคมาดัดแปลงเป็นเก้าอี้
  • Nanako Kume ดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่นสร้างกบเหลาดินสอขนาดยักษ์ เพื่อใช้เหลาแท่งไม้ แล้วนำเศษดินสอที่เหลาไปทำโคมไฟ
  • ความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือชั้นยอดในการเปลี่ยนขยะและของเหลือจากการใช้งาน ให้แปรสภาพจากของไร้ค่าไปเป็นของที่มีคุณค่าและมูลค่าได้ เรียกว่า Conscientious Designs
Photo by Noe Cotter

Boris Dennler : ทำซีดีเก่ารุ่นแม่ให้กลายเป็นเก้าอี้ใหม่รุ่นลูก

แผ่นซีดี – นวัตกรรมเมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งมีข้อมูลว่าแค่ พ.ศ. 2547 ปีเดียว มีการผลิตแผ่นซีดีทั่วโลกมากถึง 30,000 ล้านแผ่น ก่อนที่จะเกิดการปฏิวัติดิจิทัล แผ่นซีดีถูกแทนที่ด้วยไฟล์เอ็มพี 3 และถูกเก็บไว้ในคลาวด์อย่างทุกวันนี้

แม้ว่าซีดีจะไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไป แต่ซีดียังไม่หายไปไหน เพราะได้กลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ก่อมลพิษให้กับสภาพแวดล้อม

บอริส เดนเลอร์ (Boris Dennler) ดีไซเนอร์ชาวสวิสเก็บสะสมแผ่นซีดีและแผ่นดีวีทั้งหมด 887 แผ่น ก่อนจะแปรสภาพฮาร์ดแวร์ยอดนิยมจากเมื่อ 40 ปีก่อนให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ใช้นั่งก็ได้ ใช้ตกแต่งบ้านก็เก๋ดี ในผลงานที่ตั้งชื่อตรงไปตรงมาว่า ‘Compact Disc Chair’ หรือ ‘เก้าอี้ซีดี’ นั่นเอง

ในฐานข้อมูลบัญชีของเสียจัดหมวดหมู่ให้ซีดีว่าเป็นพลาสติกเคลือบโลหะ เนื่องจากแผ่นซีดีผลิตจากพลาสติกโพลีคาร์บอเนต อะลูมิเนียมและสีเคลือบแผ่น เดนเลอร์จึงมองว่า เก้าอี้ที่ทำจากแผ่นซีดีเก่า ก็คือเก้าอี้พลาสติกนั่นเอง อีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าและคุณค่าใหม่ให้กับขยะหรือของเหลือใช้ที่ไม่มีใครเหลียวแล

ดีไซเนอร์ใช้ความร้อนจัดการละลายแผ่นซีดีและแผ่นซีดีทั้ง 887 แผ่น จนโค้งงอและบิดรูปร่างให้กลายเป็นเก้าอี้ จากนั้นใช้น็อตและกาวเป็นตัวประสานให้แต่ละแผ่นเชื่อมติดกันแน่นอีกที แล้วประกอบเข้ากับโครงเก้าอี้ที่ทำจากไม้ดัดโค้ง

บอริส เดนเลอร์ เริ่มเปลี่ยนแนวทางการออกแบบมาเป็นการรีไซเคิลตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อน เขาจึงมองเห็นความเสื่อมถอยของฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ที่จับต้องได้ เป็นต้นว่า เทปคาสเซ็ตต์ที่หายไปเมื่อแผ่นซีดีเข้ามา แล้วต่อมาแผ่นซีดีก็กลายเป็นของตกยุคในยุคสมัยที่เก็บข้อมูลไว้ในคลาวด์ สตรีมมิ่งและยูเอสบี แม้ว่าแผ่นเสียงไวนิลจะเป็นฮาร์ดแวร์ที่ฟื้นคืนชีพมาได้ แต่แผ่นซีดีนั้นไร้วี่แววว่าจะกลับมาเป็นที่นิยมได้อีกครั้ง ดังนั้น ดีไซเนอร์จึงหาประโยชน์ใช้สอยใหม่ ๆ เข้าไปปลุกชีวิตใหม่ให้กับของขยะอิเล็กทรอนิกส์ตกยุค

Nanako Kume : เหลาดินสออย่างไรให้ได้โคมไฟ

นานาโกะ คุเมะ (Nanako Kume) หลงใหลในการเหลาสีไม้มาตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อเติบโตมาเป็นนักออกแบบ คุเมะได้ผสานความชอบส่วนตัวเข้ากับอาชีพ ด้วยการนำเศษเหลาสีไม้มาทำเป็นโคมไฟระย้า ทว่า ต้องใช้สีไม้แท่งใหญ่ขนาดไหนกันจึงได้เศษไม้ใหญ่โตขนาดเท่าโคมไฟได้  

“ตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วที่ฉันตื่นตาตื่นใจมากกับรูปทรงของเศษเหลาดินสอสี ฉันคิดว่าถ้าเพิ่มขนาดและความหนาของเศษเหลาดินสอ ซึ่งถูกมองว่าเป็นขยะได้ เราจะนำเศษเหลาไม้เหล่านี้ไปสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ได้โดยที่ยังคงรูปทรงเดิมอันเป็นเอกลักษณ์ของเศษเหลาดินสอสีได้อยู่” คุเมะกล่าว

คุเมะนำท่อนไม้ขนาดใหญ่ยาวเป็นเมตรเข้าไปอบไอน้ำ เพื่อให้เนื้อไม้อ่อนตัวลงและสามารถนำไปเหลาเป็นแผ่นบางแต่แข็งแรงได้ จากนั้นนำท่อนไม้มาฉีดพ่นสเปรย์สีสันตามชอบ ก่อนหย่อนลงไปในถังย้อมสี แช่ทิ้งไว้หลายชั่วโมงเพื่อให้สีซึมเข้าเนื้อไม้ เท่านี้ก็จะได้แท่งไม้ที่มีรูปลักษณ์เหมือนดินสอสีแท่งยักษ์สูงเกือบเท่าคน เพียงแต่ว่าไม่มีไส้ด้านในเท่านั้น  

คุเมะยังสร้างกบเหลาดินสอขนาดยักษ์ขึ้นมาใหม่เพื่อเหลาดินสอสีแท่งใหญ่พิเศษนี้โดยเฉพาะ โดยเจาะรูทะลุปลายสองด้านของแท่งไม้แล้วสอดแท่งเหล็ก แล้วหย่อนลงในกบเหลาดินสอในแนวตั้ง เมื่อหมุนแกนไปเรื่อยๆ เศษเหลาดินสอไม้ก็จะไหลออกมาเป็นแผ่นๆ เหมือนเศษเหลาดินสอสี เพียงแต่มีความกว้างประมาณ 1ไม้บรรทัดและยาวหลายเมตรตราบเท่าที่ยังเหลาได้เรื่อย ๆ ไม่ตัดเศษไม้ให้ขาดไปเสียก่อน

เศษเหลาดินสอสีที่ได้ คุเมะนำไปทำเป็นที่ครอบหลอดไฟ เท่านี้ก็ได้โคมไฟระย้าแสนเก๋ที่มีหน้าตาเหมือนของเหลือทิ้งจากการเหลาดินสอ

นักออกแบบทั้งสองหักมุมสิ่งของที่คนคุ้นเคยและไม่รู้ว่าจะนำไปทำอะไรได้ แต่เมื่อใส่ประโยชน์ใช้สอยของสิ่งนั้น ๆ เสียใหม่ ทดลองหาวิธีประดิษฐ์และประกอบสร้างในรูปแบบอื่น ๆ ก็ได้ออกมาเป็นของใช้และของแต่งบ้านที่ไม่เหมือนใคร และเปลี่ยนความคิดที่คนมีต่อขยะว่าไร้ค่าเป็นมีคุณค่าได้อีกด้วย อันเป็นกระแสที่เรียกว่า Conscientious Designs ในวงการออกแบบที่พยายามผลิตสร้างเฟอร์นิเจอร์ที่มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับโลก ไม่ว่าจะเป็นการซ่อมแซมและอัพเกรดของเก่า หรือหาทางนำขยะมา Recycle หรือ Upcycle ให้มีคุณค่าหมุนเวียนกลับมาใช้งานในบ้านได้ครั้ง โดยที่บ้านหลังสุดท้ายของขยะไม่จำเป็นต้องเป็นบ่อขยะเสมอไป

Cover Illustration โดย ANMOM