รู้ไหมว่า? สิงคโปร์เสี่ยงได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ “เกาะความร้อนในเมือง” หรือ “Urban Heat Island” ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เมืองสัมผัสได้ถึงความร้อนมากกว่าบริเวณโดยรอบจากการดูดกลืนความร้อนของวัตถุต่าง ๆ เช่น คอนกรีต ยางมะตอย เป็นต้น ล้วนส่งผลโดยตรงกับผู้คนที่ต้องอาศัยอยู่ในเขตเมือง

เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในทวีปยุโรป ตามข้อมูลของ Barcelona Institute for Global Health หรือ ISGlobal ระบุว่า ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมามีสถิติผู้เสียชีวิตในเขตเมืองจากอาการ Heat Stroke มากถึงร้อยละ 4 ซึ่งเป็นผลพวงจาก “Urban Heat Island” สำหรับสิงคโปร์เองก็กำลังประสบกับสภาวะนี้ด้วยเช่นกันจากร่องรอยที่พบว่าอุณหภูมิเฉลี่ยในเขตเมืองกับชนบทกำลังต่างกันถึง 7 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว

รัฐบาลสิงคโปร์จึงจัดตั้งโครงการ “Cooling Singapore” มาตั้งแต่ปี 2560 รวบรวมนักวิจัยระดับแนวหน้ามาเพื่อศึกษาแนวทางบรรเทาปรากฏการณ์นี้ให้กับเมืองใหญ่ต่าง ๆ ทั่วโลก โดยเริ่มจากสิงคโปร์ก่อนเป็นที่แรก ด้วยการปลูกต้นไม้ ตัวอย่างของพื้นที่สีเขียวในเมืองอันโด่งดังของสิงคโปร์คงไม่พ้น “สวนพฤกษศาสตร์ การ์เดน บาย เดอะเบย์”

ไม่เพียงแค่ต้นไม้เท่านั้น ภายในอาคารที่เชื่อมต่อไปยังอาคารขนาดใหญ่อื่น ๆ ทั้งห้างสรรพสินค้า หอประชุม โรงแรม หรือกาสิโน ยังประกอบด้วยระบบทำความเย็นด้วยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกซ่อนตัวอยู่ การทำความเย็นด้วยวิธีนี้ช่วยประหยัดพลังงานได้มากถึงร้อยละ 40 หากเปรียบเทียบกับการใช้พลังงานของเครื่องทำความเย็นอื่น ๆ เทียบเท่ากับการลดปริมาณรถยนต์บนท้องถนนไปได้ถึง 10,000 คัน อีกทั้งสิงคโปร์ยังมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ให้ได้มากขึ้นอีก 1 ล้านต้น ภายใน 10 ปีข้างหน้า แต่การปลูกต้นไม้เพียงอย่างเดียวคงยังไม่พอ

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังจําเป็นต้องอาศัยการออกแบบผังเมืองที่มีคุณภาพ “Cooling Singapore” ได้ออกแบบเมืองและอาคารใหม่เพื่อลดผลกระทบจากความร้อนให้ได้มากที่สุด ทั้งการออกแบบให้อาคารมีรูปทรงเรขาคณิต เพิ่มพื้นที่ร่มเงา และการกำหนดให้มีแหล่งน้ำลดการปลดปล่อยความร้อนในพื้นที่

สำหรับการใช้โมเดลที่มีส่วนทำให้อุณหภูมิของเมืองลดลงอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ ระบบ ‘District Cooling System (DCS)’ โดย District Cooling System ไม่ใช่กระบวนการที่ถูกคิดค้นขึ้นใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่ก่อนหน้านี้คนทั่วไปอาจไม่ค่อยคุ้นหูกับชื่อนี้เท่าไหร่นัก นั่นก็เพราะมันถูกใช้ในโรงงานไฟฟ้าแบบปิดเป็นส่วนใหญ่ โดยมีหลักการง่าย ๆ คือ นำเอาความร้อนที่ทิ้งจากโรงงานไฟฟ้ามาใช้ในการทำน้ำเย็น จากนั้นจึงนำน้ำเย็นนี้ไปสร้างความเย็นให้กับระบบปรับอากาศอีกรอบหนึ่ง

นอกจากนี้ ยังพยายามลดการเผาไหม้ ไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเขตเมือง ดังจะเห็นได้จากความพยายามผลักดันให้ระบบคมนาคมขนส่งทั้งระบบใช้พลังงานไฟฟ้า อีกทั้งย้ายโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลออกไปให้ห่างจากตัวเมือง รวมถึงเปลี่ยนพื้นที่หลังคาของทุกอาคารให้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ได้ ถึงแม้ปัจจุบันวิธีนี้ยังจะมีข้อจำกัดแต่หากทำได้สำเร็จก็คาดว่าจะช่วยลดการใช้พลังงานโดยรวมได้ถึงร้อยละ 20 – 25 เลยทีเดียว