หากเป็นไปตามกำหนดการ วันที่ 31 มีนาคม 2567 โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำใหญ่ที่สุดในโลกจะเปิดดำเนินการครั้งแรกที่อ่างเก็บน้ำ Omkareshwar ในเขตขัณฑวา รัฐมัธยมประเทศ ประเทศอินเดีย หลังจากเมื่อปี 2566 การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เฟสแรก 278 เมกะวัตต์ จากทั้งหมด 600 เมกะวัตต์รุดหน้าอย่างรวดเร็ว 

เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกจะครอบคลุมผิวน้ำ 12 ตารางกิโลเมตร หรือ 7,500 ไร่ หรือเท่ากับสนามฟุตบอลขนาด 11 คน จำนวน 1,500 สนาม ลอยบนผิวหน้าอ่างเก็บน้ำในอินเดีย และจะผลิตกระแสไฟฟ้าที่มีมูลค่าหน่วยละ 1.39 บาท

Credit: www.saurenergy.com

โรงไฟฟ้าพลังไฮโดรโซลาร์แห่งนี้จะกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปในตัว และจะทำให้ขัณฑวาเป็นเขตเดียวในรัฐมัธยมประเทศที่มีทั้งโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน พลังน้ำ และพลังโซลาร์ลอยน้ำ 

ขณะเดียวกัน อินโดนีเซียทุ่มเงิน 143 ล้านดอลลาร์สหรัฐสร้างโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกที่อ่างเก็บน้ำจิรตา ในจังหวัดชวาตะวันตก ด้วยกำลังผลิต 192 เมกะวัตต์ต่อปี จ่ายกระแสไฟให้กับครัวเรือน 50,000 หลังคาเรือน นับเป็นโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำแห่งที่ 3 ของอินโดนีเซีย ตามแผนการมุ่งสื่อการเป็นประเทศมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี พ.ศ.2603

Credit: กฟผ

ในปี 2565 โรงไฟฟ้าเต๋อโจว ติงจวงที่ประเทศจีนเคยครองแชมป์โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยกำลังการผลิต 320 เมกะวัตต์ และในปี 2566 โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานีของไทยก็เคยได้ชื่อว่าเป็นโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดมาแล้ว ด้วยกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์ ใช้แผงโซลาร์เซลล์ทั้งสิ้น 145,000 แผ่น คลุมผิวน้ำเป็นพื้นที่เท่ากับสนามฟุตบอล 70 สนาม และช่วยลดการระเหยของน้ำใต้แผงโซลาร์เซลล์ได้ปีละ 460,000 ลูกบาศก์เมตร หรือ 460 ล้านลิตร