Grid Brief

  • กระแสการลงทุนในเทคโนโลยีสีเขียวมีมาอย่างต่อเนื่องในประเทศพัฒนาแล้ว แต่ถูกขับเคลื่อนอย่างรวดเร็วมากขึ้นในช่วงโรคระบาดโควิด-19 ด้วยความหวังว่าจะช่วยลดต้นทุนในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก
  • เทคโนโลยีเกี่ยวกับการรีไซเคิล พลังงานสะอาดจากลมหรือแสงอาทิตย์ รวมถึงการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ เป็นหัวข้อที่สตาร์ทอัพส่วนใหญ่ให้ความสนใจ
  • บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกด้านพลังงานจำนวนมากยินดีต้อนรับสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่มาพร้อมนวัตกรรมเทคโนโลยีสีเขียว ทั้งในฐานะผู้สนับสนุนทุนและเข้าถือหุ้นด้วย

การลงทุนในเทคโนโลยีพลังงานสะอาดและความก้าวหน้าของโลกดิจิทัล ที่เน้นให้มนุษย์ใช้ชีวิตแบบไม่เบียดเบียนธรรมชาติ และพัฒนาธุรกิจทั้งเล็กและใหญ่ให้ดำเนินไปได้แบบประหยัดพลังงาน พร้อมดูแลโลกไปในเวลาเดียวกันนั้น เป็นสิ่งที่ทั่วโลกถือปฏิบัติในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แต่โรคโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้สตาร์ทอัพหลายรายมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวของตนแบบเต็มตัว เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาปากท้องของชาวโลกอีกทางหนึ่ง

ต้องยอมรับว่าโรคระบาดครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์โลกครั้งนี้ มีส่วนช่วยให้คนหันมาตระหนักว่าที่ผ่านมาเราทำร้ายดาวเคราะห์สีน้ำเงินดวงนี้ไปมากเพียงใด เมื่อการท่องเที่ยวชะงักงัน ท้องทะเลและสัตว์น้ำก็กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ธุรกิจการบินกลายเป็นอัมพาต คนงดออกจากบ้าน หลายโรงงานออเดอร์หายฮวบ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุภาวะโลกร้อนจึงลดน้อยลงเป็นประวัติการณ์ 

อย่างไรก็ตาม โลกยังต้องขับเคลื่อนไปตามการบริโภคปัจจัย 4, 5, 6 และอื่น ๆ สุดแท้แต่ความต้องการของมนุษย์ บริษัทสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น หรือบริษัทที่มีการประเมินมูลค่าบริษัทระดับเกินพันล้านเหรียญสหรัฐหลายราย จึงคาดหวังว่าเทคโนโลยีสีเขียวที่ปลุกปั้นมาจะสามารถช่วยเหลือชาวโลกและโอบอุ้มธรรมชาติที่กำลังผลัดใบไปพร้อมกันได้

Credit: Line

1. Lime

สตาร์ทอัพเช่ารถไฟฟ้าผ่านแอปพลิเคชันแบบ Ride Sharing ในอังกฤษที่บูมขึ้นมาช่วงโควิด หลังจากนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ได้ทุ่มงบประมาณ 2,000 ล้านปอนด์ เพื่ออนุมัติโครงการเส้นทางจักรยานและทางเท้า เป็นการสนับสนุนให้คนหันมาใช้พาหนะที่ลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ อย่างไรก็ตาม เมื่อสองปีก่อนสกูตเตอร์ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากตามเมืองใหญ่ในยุโรป เพราะใช้สำหรับเชื่อมกับระบบการขนส่งสาธารณะได้ดี ทำให้มีบริษัทสตาร์ทอัพหลายเจ้าริเริ่มการให้เช่าสกูตเตอร์ไฟฟ้าแทนจักรยานและการเดินเท้าตามจุดท่องเที่ยวที่รถเข้าไม่ถึง อย่างไรก็ตาม กฎหมายยังไม่อนุญาตให้ใช้สกูตเตอร์ได้อิสระตามท้องถนนโดยเฉพาะในอังกฤษ ส่วนในไทยเคยมี Neuron นำร่องแถวทองหล่อ เอกมัย สาทร และเชียงใหม่ และภายในชุมชนจุฬามหาวิทยาลัยที่ร่วมกับแบรนด์ Monowheel แต่ปัจจุบันได้หยุดให้บริการไปสักพักแล้ว


Credit: Optimatics

2. Optimatics

บริษัทสตาร์ทอัพสัญชาติออสเตรเลียที่ตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกา กลายเป็นที่น่าจับตามองเมื่อยักษ์ใหญ่อย่าง Suez ผู้เชี่ยวชาญการจัดการน้ำทะเลให้นำมาดื่มได้ และการบำบัดน้ำเสียด้วยเทคโนโลยีสีเขียว ได้เข้าไปถือหุ้นใหญ่ เพราะถูกใจในซอฟต์แวร์ที่ชื่อ Optimizer ของบริษัท Optimatics ที่ช่วยคำนวณต้นทุนการบริหารจัดการน้ำทั้งหมดได้ในระดับโครงสร้าง ตั้งแต่คำนวณการขุดเจาะ การเดินท่อ การลำเลียงน้ำไปสู่บ้านเรือน และอื่น ๆ ภายใต้การวิเคราะห์หาความเสี่ยงและความเป็นไปได้ทั้งหมดกว่าพันเคสภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ช่วยให้การตัดสินใจลงทุนการบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็ว เชื่อถือได้ และที่สำคัญลดต้นทุนได้มากเมื่อเทียบกับการสำรวจและบริหารความเสี่ยงด้วยวิธีเดิม ๆ ของ Suez

บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกด้านพลังงานจำนวนมากยินดีต้อนรับสตาร์ทอัพหน้าใหม่ที่มาพร้อมนวัตกรรมเทคโนโลยีสีเขียว ทั้งในฐานะผู้สนับสนุนทุนและเข้าถือหุ้นด้วย

3. OXIS ENERGY

แบตเตอรีจัดเป็นขยะพิษที่มีสารเคมีปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำและในอากาศได้ สตาร์ทอัพเจ้านี้จึงคิดค้นแบตเตอรีจากลิเธียมซัลเฟอร์ที่เก็บพลังงานได้นานกว่าถึง 5 เท่า นอกจากช่วยลดต้นทุนการผลิตแล้ว ยังไม่ต้องชาร์จบ่อย และยืดอายุของแบตเตอรีให้ไม่เสื่อมไว ถือเป็นการยืดอายุการใช้งานแบตเตอรีได้นานกว่าแบบเดิม ๆ จึงตั้งเป้าอยากจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในอุตสาหกรรมเครื่องบินไฮบริดและยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ซึ่งบริษัทผลิตเครื่องบินอย่าง Boeing และ Airbus กำลังศึกษาและผลิตเครื่องบินที่ให้บริการแบบแท็กซี่ สำหรับการท่องเที่ยวระยะใกล้ โดยใช้เครื่องยนต์ไฮบริด รวมถึงตั้งใจให้แบตเตอรี่ลิเธียมซัลเฟอร์ช่วยเพิ่มสมรรถนะให้ยานยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบันด้วย ซึ่งแบตเตอรีที่ว่านี้ได้ผ่านการทดลองกับอุตสาหกรรมการเดินเรือที่ต้องคำนึงถึงสภาวะแรงดันน้ำมาแล้ว จึงมั่นใจในประสิทธิภาพได้ 


4. ECOSUN

อีกหนึ่งสตาร์ทอัพด้านพลังงานสะอาดที่เชี่ยวชาญด้านการผลิตและจัดการแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อนำเอาพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์อย่างเหนือชั้น โดยจุดเด่นของ ECOSUN คือการมีนวัตกรรมแผงโซลาร์เซลล์ หลากหลายตามการใช้งาน สามารถเลือกให้เหมาะกับประเภทธุรกิจที่ต้องการใช้พลังงานสะอาด ไม่ว่าจะเป็นฟาร์ม แคมป์ไซต์ ปั๊มน้ำมัน โรงแรม ที่พัก รวมถึงหมู่บ้านในชนบทห่างไกลที่ต้องการพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าและน้ำประปา ทำให้แม้แต่เกาะที่อยู่ห่างไกลก็สามารถสร้างพลังงานใช้เองได้ทั่วทั้งเกาะด้วยแผงโซลาร์เซลล์ของสตาร์ทอัพเจ้านี้ ปัจจุบัน ECOSUN เป็นที่รู้จักดีในประเทศแถบทวีปแอฟริกา ทะเลแคริบเบียน และอเมริกาใต้ ทั้งนี้จะขยายการบริการเข้าสู่โซนตะวันออก ออสเตรเลีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย


5. TEKNTRASH

เปลี่ยนขยะให้เป็นรายได้ด้วยการทิ้งให้ถูกถัง นี่เป็นไอเดียที่ทำได้จริง โดย TEKNTRASH ได้สร้างแพลตฟอร์มที่มีชื่อว่า Stipra ซึ่งผู้ใช้สามารถบันทึกวิดีโอการทำดีครั้งนี้ แล้วนำมาแลกเป็นแต้มสะสม เพื่อเปลี่ยนเป็นทริปท่องเที่ยว ของกำนัล และโปรโมชั่นร้านค้าต่าง ๆ โดยอยู่ในขั้นพัฒนาต่อให้นำมาแลกเป็นเงินสดได้ทันทีแทนการสะสมแต้ม เชื่อหรือไม่ว่าแค่การทิ้งขยะไม่ถูกถัง อาจทำให้ขยะไม่ได้รับการรีไซเคิลที่เหมาะสมกับประเภทของขยะนั้น ส่งผลให้เกิดก๊าซมีเทนที่ร้ายแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคนี้ที่ผู้คนนิยมซื้อของออนไลน์และสั่งอาหารมากินที่บ้านกันเป็นกิจวัตร ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณขยะพลาสติกให้โลก เราอยากให้สตาร์ทอัพเจ้านี้พัฒนาจนถึงวันที่การแยกขยะได้ผลตอบแทนเป็นเงินสดจริง ๆ ในเร็ววัน