Grid Brief

  • ขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste หมายถึง เครื่องใช้ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานไม่ได้แล้ว เป็นขยะที่มีอันตรายร้ายแรง เพราะชิ้นส่วนในอุปกรณ์เหล่านี้ถือว่าเป็นพิษและไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ
  • พฤติกรรมใช้แล้วทิ้งของผู้บริโภค และการไม่แยกขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไป ส่งผลกระทบให้ขยะมีปริมาณล้นเกิน หลายประเทศต้องสูญเสียงบประมาณในการจัดเก็บและทำลายขยะเป็นมูลค่ามหาศาล
  • หลายประเทศในยุโรปตะวันตกออกกฎหมายรองรับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยให้บริษัทผู้ผลิตต้องจัดเก็บ E-Waste ไปกำจัดก่อนถึงจะวางสินค้าใหม่ได้

ในยุคนี้ทุกคนพกโทรศัพท์มือถืออย่างน้อยคนละ 1 เครื่อง และยังมีเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อำนวยความสะดวกภายในบ้านอีกหลายชิ้น ไม่ว่าจะเป็นทีวี ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เตาอบไฟฟ้า เครื่องดูดฝุ่น ฯลฯ อุปกรณ์เหล่านี้เมื่อหมดอายุใช้งานหรือเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลา เกินกว่าจะซ่อมแซมแล้วนำกลับมาใช้ได้ ก็มักกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Waste ที่ก่อปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย จนถือเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมของโลกอยู่ในปัจจุบัน

ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีปริมาณเทียบเท่ากับขยะพลาสติก แต่กลับมีอันตรายรุนแรงกว่าพลาสติกหลายเท่าตัว เพราะจำเป็นต้องผ่านกระบวนการจัดการขยะที่ถูกวิธีและเหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายกับมนุษย์และสิ่งแวดล้อม 


E-Waste มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี

ถังขยะสีเขียวติดคำว่า E-WASTE ข้างในมีเคสคอมพิวเตอร์ คีย์บอร์ด ซึ่งเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์

ข้อมูลจาก The Global E-Waste Monitor รายงานว่า ในปี พ.ศ.2563 ทั่วโลกมีขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 59 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นจากจำนวน 53.6 ล้านตันเมื่อ พ.ศ.2562) ทำให้จำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์ของปีนี้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของโลก และคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 81 ตันภายในปี พ.ศ.2573 โดยทวีปเอเชียมีจำนวนขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุดในโลก โดยเฉพาะจีนและอินเดียที่มีการผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี พ.ศ.2562  สองประเทศนี้มีขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 10 ล้านตันในปี พ.ศ.2562 ซึ่งมากกว่าสหรัฐอเมริกาประมาณ 3 ล้านตันเลยทีเดียว 

ส่วนประเภทของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีจำนวนมากและกำลังสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ก็คือบรรดาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ขนาดเล็ก เช่น โทรศัพท์มือถือ ของเล่นไฟฟ้า กล้องวิดีโอ เครื่องปิ้งขนมปัง โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือนั้น มีเพียง 1% เท่านั้นที่มีการนำไปรีไซเคิลต่อ รองลงมา ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่นิยมนำมาใช้งาน เช่น เครื่องครัว เครื่องถ่ายเอกสาร และแผ่นโซลาร์เซลล์ เป็นต้น

โรงงานแยกขยะ ที่มีขยะพวกคอมพิวเตอร์วางเรียงอยู่ในตะแกรงสีเขียวขนาดใหญ่ และมีสายพานที่มีเคสคอมพิวเตอร์กำลังถูกลำเลียงไป

ญี่ปุ่นสามารถสกัดแยกทองคำ 1 กิโลกรัมได้จากโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 แสนเครื่อง ในขณะที่ส่วนของโลหะในแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทองคำ พาลาเดียม และ ทองแดงสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ ทำให้ลดการผลิตวัสดุที่จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตได้

อันตรายของขยะอิเล็กทรอนิกส์

ประเทศไทยมีขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 380,000 ตันต่อปี ขยะเหล่านี้ถูกส่งเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลที่ถูกวิธีเพียง ร้อยละ 7 ขยะอิเล็กทรอนิสก์ ในไทยส่วนใหญ่มักถูกนำไปรวมกับขยะมูลฝอย เพื่อรอการฝังกลบหรือเผาทำลายทิ้ง ก่อให้เกิดปัญหาสารพิษตกค้างตามมาอีกมากมาย อาทิ สารปรอทในหลอดไฟ จอภาพ ตะกั่วและดีบุกในลวดบัดกรี สายไฟทองแดงและโลหะ เมื่อถูกเผาไหม้ สารเหล่านี้จะรั่วไหลลงสู่พื้นดินและแหล่งน้ำ ทำให้สิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศได้รับสารพิษและส่งต่อให้กันตามห่วงโซ่อาหาร สำหรับมนุษย์สารพิษนี้จะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและ ระบบประสาทในระยะยาว

วิธีการกำจัดขยะเหล่านี้ที่ดีที่สุดคือการแยกขยะอันตรายออกจากขยะทั่วไป เพื่อเข้าสู่กระบวนการถอดแยกชิ้นส่วนสำหรับนำไปรียูสหรือรีไซเคิลต่อได้ เช่น ญี่ปุ่นสามารถสกัดแยกทองคำ 1 กิโลกรัมได้จากโทรศัพท์มือถือจำนวน 2 แสนเครื่อง ในขณะที่ส่วนของโลหะในแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทองคำ พาลาเดียม และ ทองแดงสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ ทำให้ลดการผลิตวัสดุที่จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตได้ 


ภาพวาดโรงงานแยกขยะอันตราย

กฎหมาย E-Waste ช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือ?

ในปี พ.ศ.2562 มี 61 ประเทศที่ใช้กฎหมาย E-Waste เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง และได้เพิ่มขึ้นเป็น 78 ประเทศในปีนี้จากอีกหลายประเทศแถบยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกามีการพิจารณากฎหมายรีไซเคิลคอมพิวเตอร์แห่งชาติ รวมทั้งออกมาตรการให้บริษัทผู้ผลิตที่จะวางสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต้องจัดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปกำจัดเสียก่อนถึงจะวางสินค้าใหม่ได้ ส่วนสวิตเซอร์แลนด์จัดทำระบบรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2534 โดยเริ่มจากการรวบรวมตู้แช่ตู้เย็น ต่อด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้า จนครอบคลุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ซึ่งขยะเหล่านี้จะถูกส่งคืนไปยังจุดขายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อ

สำหรับบ้านเรานั้น คนไทยยังนิยมเก็บซากผลิตภัณฑ์ไว้ที่บ้าน หรือขายให้กับร้านรับซื้อของเก่า บ้างก็ทิ้งลงถังขยะปะปนกับขยะมูลฝอยอื่น ๆ ทำให้การจัดการผลิตภัณฑ์เหล่านี้เป็นไปอย่างไม่เหมาะสม อีกทั้งยังไม่มีกฎหมายควบคุมที่มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมได้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้ผลิตรับซื้อคืนซากผลิตภัณฑ์จากประชาชนแล้วนำไปจัดการอย่างถูกต้อง ซึ่งหากเป็นกฎหมายบังคับใช้ก็จะมีผลในทางปฏิบัติที่จริงจังมากขึ้น

ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีอะไรบ้าง?

  • อุปกรณ์ทำความเย็น เช่น ตู้เย็น ตู้แช่แข็ง เครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความร้อน
  • หน้าจอและจอภาพสมัยใหม่ เช่น หน้าจอทีสี แล็ปท็อป โน้ตบุ๊ก และ แท๊ปเล็ต
  • หลอดไฟ เช่น หลอกไฟฟลูออเรสเซนต์ หลอดไฟ LED หลอดความดันไอสูง
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดใหญ่ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องปั่นผ้า เครื่องล้างจาน เตาอบไฟฟ้า ปรินเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร และเครื่องผลิตพลังงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์
  • เครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ด เช่น เครื่องดูดฝุ่น ไมโครเวฟ อุปกรณ์ระบายอากาศ กาต้มน้ำ เครื่องปิ้งขนมปัง เครื่องโกนหนวด เครื่องคิดเลข เครื่องเล่นวิทยุ ของเล่นไฟฟ้า กล้องถ่ายวิดีโอ กล้องถ่ายรูป เครื่องมือทางการแพทย์ขนาดเล็ก
  • อุปกรณ์ไอทีขนาดเล็กและอุปกรณ์สื่อสาร เช่น โทรศัพท์มือถือ เครื่องนำทาง GPS อุปกรณ์ไวไฟ ปรินเตอร์ โทรศัพท์

Cover Illustration โดย ANMOM