Grid Brief

  • รู้จักธาตุอาหารหลักที่จำเป็นสำหรับต้นไม้ ได้แก่ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม และสังเกตอาการหากต้นไม้ขาดธาตุอาหารเหล่านั้น เช่น ใบเหลือง (ขาดไนโตรเจน) ขอบใบไหม้ (ขาดฟอสฟอรัส) หรือมีจุดสีน้ำตาลที่ใบ
  • เติมสารอาหารพื้นฐานให้ต้นไม้ได้ด้วยวิธีง่าย ๆ เช่น ปลูกพืชตระกูลถั่วหรือโรยกากกาแฟใต้โคนต้นเพื่อเพิ่มไนโตรเจน หรือปรับค่าดินที่เป็นกรด ซึ่งเป็นสาเหตุการขาดฟอสฟอรัส ด้วยการเติมอินทรียวัตถุ

เมื่อต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต แม้จะพูดไม่ได้ แต่การที่แสดงออกอาการต่าง ๆ ออกมาให้เห็น ก็ถือเป็นวิธีการสื่อสารให้คนปลูกได้รับรู้ว่าตอนนี้กำลังอ่อนแอและต้องการอาหารเสริมชนิดใดเป็นพิเศษ ว่าแล้วก็มาดูอาการของต้นไม้กัน เพื่อจะได้เตรียมปรุง ‘ปุ๋ย’ ให้ถูกกับอาการของโรค

วินิจฉัยอาการและหาทางรักษา

กล้าไม้วางบนดินในมือคน

ไนโตรเจน

หน้าที่: สารอาหารตัวแรกที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ถ้าได้รับไนโตรเจนเพียงพอ ใบจะมีสีเขียวสด โตไว แข็งแรง ออกดอกและให้ผลผลิตดี

อาการ: ต้นไม้ที่ขาดไนโตรเจนจะใบเหลือง แคระแกร็น โตช้า ใบล่างเหี่ยวแห้งร่วงโรย ออกดอกช้าและให้ผลผลิตไม่ดี 

การรักษา: ตามปกติพืชจะดูดซึมธาตุไนโตรเจนผ่านทางราก โดยเฉพาะพืชตระกูลถั่วที่มีแบคทีเรียชื่อ ‘ไรโซเนียม’ ที่ช่วยตรึงไนโตรเจนส่งให้พืชได้มาก จึงควรปลูกพืชตระกูลถั่วเพื่อเพิ่มธาตุไนโตรเจนในดิน มีให้เลือกทั้งพืชตระกูลถั่วแบบล้มลุก เช่น ปอเทือง โสน ถั่วพร้า ถั่วแปบ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง ถั่วดำ ถั่วลิสง ถั่วฝักยาว ถั่วพุ่ม และพืชตระกูลถั่วแบบไม้ยืนต้น เช่น แคฝรั่ง ขี้เหล็ก กระถินและกระถินเทพา เป็นต้น ถ้าไม่สะดวกปลูกพืชตระกูลถั่ว ก็เพียงแค่โรยกากกาแฟไว้รอบโคนต้นก็พอบรรเทาได้  


รากไม้หยั่งลงดิน

ฟอสฟอรัส

หน้าที่: ช่วยให้รากแขนงและรากฝอยแข็งแรง แผ่กระจายได้ดี ทั้งยังช่วยสังเคราะห์แสง สร้างแป้งและน้ำตาลไปเลี้ยงต้นไม้ อีกทั้งยังช่วยเสริมสร้างดอก การผสมเกสร การติดเมล็ด และแตกกอ แล้วยังช่วยให้พืชดูดใช้ธาตุอาหารอื่น ๆ ได้ดีขึ้น

อาการ: พืชที่ขาดฟอสฟอรัสนั้น ใบแก่จะเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีม่วงและสีน้ำตาลก่อนจะร่วงโรยไป ผลิดอกออกผลช้า แตกกอน้อย ติดเมล็ดน้อยหรือไม่ติดเมล็ดเลย ซึ่งมีสาเหตุต่าง ๆ เช่น ดินเป็นกรด ฝนตกหนักหรืออากาศหนาวเย็น เป็นต้น

การรักษา: แก้ดินเป็นกรดด้วยการเติมปูนขาวเพื่อปรับค่า pH ของดินให้อยู่ระดับ 7 หรือเติมอินทรียวัตถุ เช่น เศษใบไม้ เศษอาหาร เศษกระดูก ขี้เลื่อย หรือซากพืชซากสัตว์ต่าง ๆ ในดิน ระหว่างการย่อยสลายของอินทรียวัตถุเหล่านี้จะเกิดกรดที่ช่วยเปลี่ยนเป็นฟอสฟอรัสให้พืชดูดไปใช้ได้


แม่กับลูกสาวท่ามกลางต้นไม้ในกระถางขนาดย่อมบนโต๊ะ

โพแทสเซียม

หน้าที่: เป็นแร่ธาตุที่จำเป็นต่อกระบวนการสังเคราะห์และการเคลื่อนย้ายแป้งของพืชบริโภคหัวต่าง ๆ เช่น เผือก มัน แครอท หัวไชเท้า มันแกว เป็นต้น แล้วยังช่วยให้พืชทนต่ออากาศและสภาพแวดล้อม เช่น ความแห้งแล้ง อากาศร้อนและอุณหภูมิต่ำ 

อาการ: ขอบใบซีด ระหว่างเส้นใบมีจุดสีน้ำตาลแห้ง ๆ พืชบริโภคหัวมีแป้งน้อย เนื้อไม่แน่น ลำต้นหักล้มง่าย 

วิธีแก้: ฝังเปลือกกล้วย 1 นิ้วใกล้โคนต้น หรือผสมขี้เถ้า 1 ถ้วยกับน้ำ 3 ลิตรแล้วทิ้งให้ตกตะกอน กรองเอาแต่น้ำใส ๆ แล้วผสมกับน้ำ อัตราส่วนน้ำขี้เถ้า 250 ซีซี ต่อ น้ำ 10 ลิตร จากนั้นก็นำไปรดน้ำต้นไม้หรือฉีดพ่นที่ใบ