Grid Brief

  • ผักและธัญพืชเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพของโลก เพราะช่วยลดภาวะโลกร้อน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ช่วยประหยัดพลังงาน และไม่ทำร้ายธรรมชาติ
  • การปลูกผักเพื่อเป็นอาหารของมนุษย์แตกต่างจากการปลูกผักเพื่อใช้เลี้ยงสัตว์ การปลูกผักเพื่อให้คนบริโภค ประหยัดน้ำและพื้นที่เพาะปลูกมากกว่า อีกทั้งไม่ทิ้งสารเคมีบนผืนดิน

เชื่อไหมว่า ยิ่งเราบริโภคพืชผักใบเขียวมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งดีต่อโลกมากขึ้นเท่านั้น นอกจากร่างกายจะได้รับประโยชน์ทางโภชนาการแล้ว การบริโภคผักยังเป็นการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกผักมากขึ้น  ถือเป็นวิธีช่วยเพิ่มออกซิเจนให้กับโลกของเรา และช่วยลดความร้อนในชั้นบรรยากาศอีกด้วย 

กินผัก… ช่วยลดโลกร้อน

ทรัพยากรทางธรรมชาติเป็นสิ่งมีค่า และ นับวันก็ยิ่งจะหมดไปจากโลก โดยเฉพาะป่าไม้ ที่เป็นแหล่งศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพ ช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ และผลิตออกซิเจนบริสุทธิ์ให้กับโลกของเรา แต่กลับถูกทำลายลงด้วยน้ำมือมนุษย์

ผู้ชายคาดผ้ากันเปื้อน ในมืออุ้มตะกร้าผักสดและผลไม้

ข้อมูลจากมหาวิทยาลัยแมรีแลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ในรายงานของ Global Forest Watch เผยว่า ใน พ.ศ.2562 มีสถิติการทำลายป่าไม้ในเขตร้อนคิดเป็นพื้นที่ถึง 11.9 ล้านเฮกตาร์ หรือเทียบเท่ากับการสูญเสียสนามฟุตบอลขนาดใหญ่ ไปทุกๆ 6 วินาที ตลอดทั้งปี

เมื่อป่าไม้ลดลง โลกก็ร้อนขึ้น และยังส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ถึงสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกมากมาย แต่แค่เราหันมากินผักมากขึ้น ไม่เพียงทำให้ร่างกายเราแข็งแรงจากภายใน แต่โลกใบนี้ก็จะมีสุขภาพดีขึ้นไปด้วย


กินผัก… ประหยัดพลังงาน

ช่วงเวลา 1 ปีของการขนส่งอาหารไปเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนสูงเทียบเท่ากับปริมาณก๊าซคาร์บอนจากภาคคมนาคม และ ว่ากันว่า หากชาวอเมริกันงดบริโภคเนื้อสัตว์ และ ผลิตภัณฑ์จากนมเพียงหนึ่งวัน หรือมากกว่านั้นต่อหนึ่งสัปดาห์ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได้หลายพันตัน ทั้งยังประหยัดทรัพยากรน้ำได้กว่าครึ่ง เพราะการเลี้ยงสัตว์ใช้ปริมาณน้ำจืดคิดเป็นกว่า 50% ของทั้งสหรัฐฯ ดังนั้น หากเราลดการกินเนื้อสัตว์ลง นอกจากช่วยลดความเสี่ยงจากโรคที่เกิดจากการบริโภคเนื้อแดง ยังช่วยลดการใช้พลังงานและทรัพยากรอีกด้วย 

มือคนประคองจานอาหารที่มีข้าว ผักสด ผลไม้ ถั่วและงาต่างๆ ข้างกันเป็นชามเล็กใส่น้ำสลัดที่มีงาดำและงาขาวโรยหน้า

กินผัก… ดีต่อตัวเอง และ ดีต่อโลก

การหันมากินผัก เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เล็กน้อยแต่ส่งผลช่วยเปลี่ยนโลกได้อย่างน่าอัศจรรย์ ยืนยันจากข้อมูลที่นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ได้รายงานเอาไว้ในวารสารทางการแพทย์รายสัปดาห์ ชื่อว่า The Lancet สรุปใจความสั้นๆ ไว้ดังนี้ 

  1. กินผักทำให้ชีวิตปลอดโรค เพราะผักและธัญพืชเป็นอาหารที่ย่อยง่าย มีกากใยสูง กินแล้วไม่อ้วน ช่วยป้องกันโรคร้ายแรงต่าง ๆ ที่มาจากพฤติกรรมการบริโภค เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคเรื้อรังอื่น ๆ ได้มากถึง 10.9-11.6 ล้านคนต่อปี
  2. ประชากรมากกว่า 820 ล้านคนทั่วโลกขาดแคลนอาหาร เพราะ 2 ใน 3 ของถั่วเหลือง ข้าวโพด และข้าวบาร์เลย์ ถูกนำไปใช้สำหรับเป็นอาหารสัตว์แทนที่จะนำมาเป็นอาหารของมนุษย์
  3. กินผักช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นักวิจัยพบว่า กระบวนการผลิตอาหารจากสัตว์มีส่วนที่ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 30%  นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ไว้ว่า ในอนาคต อาหารวีแกนและมังสวิรัติจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีที่สุด
  4. กินผักช่วยประหยัดน้ำ จากข้อมูลขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว  (OECD) เมื่อ พ.ศ. 2562 ระบุว่า มีการใช้น้ำในการผลิตอาหารมากถึง 70% โดยเฉพาะผลผลิตที่เป็นเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนมนั้น มีการใช้น้ำในปริมาณมาก เช่น การผลิตเนื้อวัว  1 ปอนด์ ใช้น้ำถึง 1,800 แกลลอน ส่วนนมวัว 1 แกลลอน ต้องใช้น้ำถึง 1,950 แกลลอน จนว่ากันว่า หากชาวอเมริกันลดการบริโภคผลิตภัณฑ์จากสัตว์ลงครึ่งหนึ่ง การผลิตอาหารของโลกจะใช้น้ำน้อยลง 37% เนื่องจากสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีการบริโภคเนื้อสัตว์สูงสุดในโลก หรือเท่ากับ 219 ปอนด์ต่อคนต่อปี รองลงมาคือ ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา อิสราเอล และบราซิล 
  5. การทำเกษตรกรรมเพื่อเลี้ยงสัตว์ต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 40% ของผืนดิน โดยเฉพาะการเลี้ยงวัวที่ปล่อยก๊าซมีเทนจากการที่วัวเรอและผายลม ซึ่งทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจกได้มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 23 เท่า แต่การทำเกษตรกรรมสำหรับเป็นอาหารมนุษย์ กลับใช้พื้นที่เพาะปลูกน้อยกว่า จากการศึกษาของสถาบัน Good Food พบว่า การปลูกพืชใช้พื้นที่น้อยกว่าถึง 47-99% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลง 30-90% ทำให้ก่อมลพิษทางน้ำลดลง 51-91% และใช้น้ำน้อยกว่า 72-99%