รถรูปทรงเหมือนกล่องนมวิ่งได้ ราคาราว ๆ สามแสนบาท และมีขนาดกะทัดรัด ยาวไม่เกิน 3.4 เมตร กว้าง 1.48 เมตร จึงประหยัดที่จอดรถไปได้เยอะ นั่นคือเหตุผลที่ทำให้ ‘เคคาร์’ (K-Car หรือ Kei-Car) เข้าไปนั่งในหัวใจชาวญี่ปุ่นมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทว่าเคคาร์ที่ชาวญี่ปุ่นและผู้คนอีกหลายประเทศหลงรัก อาจกลายเป็นเพียงตำนานบทหนึ่ง หลังจากที่รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจนำพาประเทศเข้าสู่สังเวียนสู้โลกร้อน 

Subaru 360

เคคาร์ ย่อมาจาก ‘keijidōsha’ หรือรถน้ำหนักเบา มียอดขายคิดเป็น 1 ใน 3 ของรถบ้านที่ขายในประเทศญี่ปุ่น หลังจากเปิดตัวครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2492 ก็ได้รับความนิยมมาโดยตลอด นอกจากราคาถูกและหาที่จอดง่ายแล้ว ความกว้างของถนนในประเทศญี่ปุ่นซึ่ง 85% นั้นกว้างเท่ากับเคคาร์ 2 คันวิ่งสวนกันได้เท่านั้น ได้กลายเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้ผู้คนหันมาขับรถกล่องแสนน่ารักนี้

นายโยชิฮิเดะ ซูกะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นประกาศห้ามซื้อขายรถที่ใช้น้ำมันนับตั้งแต่ พ.ศ. 2578 เป็นต้นไป ตามหลังนอร์เวย์ อังกฤษและไอร์แลนด์ที่มีคำประกาศแบบเดียวกันนี้แล้วเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้ประเทศมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์  

Credit: NISSAN

นโยบายนี้ส่งผลโดยตรงให้ราคาเคคาร์สูงขึ้นอีกเท่าตัว ตามรายงานของ Tokyo Tokai Research กระทบต่อผู้ซื้อที่มีรายได้น้อย ซึ่งผู้ซื้อเคคาร์ราว ๆ 40 เปอร์เซ็นต์คือผู้มีอายุสูงกว่า 60 ปีขึ้นไป ทางออกที่จะทำให้เคคาร์ยังคงโลดแล่นบนท้องถนนในฐานะรถประจำชาติญี่ปุ่นต่อไปมีหลายทาง อาทิ รัฐบาลต้องให้เงินอุดหนุนและลดภาษีรถอีวีเคคาร์ เพราะตอนนี้แบตเตอรีรถอีวีจะราคาถูกลงไปเรื่อย ๆ เนื่องจากทั้งโลกกำลังเปลี่ยนไปใช้รถอีวี 

การมาถึงของเคคาร์สายพันธุ์ใหม่ใช้พลังไฟฟ้าขับเคลื่อน จะทำให้ตลาดรถมือสองคึกคักไปด้วยเคคาร์รุ่นเก่าหน้าตาน่ารัก ๆ เพียบอย่างแน่นอน

Cover Photography โดย NISSAN JAPAN